ต้นร้ายปลายดี
ปัจจัยชุด “ต้นร้ายปลายดี”
อย่างน้อยสองเรื่องสนับสนุนตลาดหุ้นโลกขาขึ้น 1. จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง แต่วัคซีนมาแล้วทยอยฉีด 2. เศรษฐกิจสหรัฐแผ่ว แต่แพคเกจช่วยเหลือใกล้คลอด ...บทความคอลัมน์ KTAM Focus 20 ธ.ค. อธิบายว่าปัจจัยลบระยะสั้น “ต้นร้าย” บีบให้ธนาคารกลางฉีดสภาพคล่อง ขณะตลาดคาดหวัง “ปลายดี” เพราะวัคซีน... สภาพคล่องมหาศาลจึงหลั่งไหลสู่ตลาดหุ้น พฤติกรรมนักลงทุนคล้าย “จองที่” แม้สภาพปัจจุบันแย่แต่ก็ยินดีนำเงินต้นทุนต่ำเข้าไปซื้อไว้ก่อน เพื่อรับโอกาสฟื้นตัวในอนาคต
นักการเมืองสหรัฐ happy ending บรรลุดีลแพคเกจกระตุ้น $9 แสนล้าน สภาคองเกรสเตรียมโหวตข้อเสนอเงินช่วยเหลือคู่กับร่างฯงบประมาณ
ข่าวร้ายโควิดสุดสัปดาห์ #มหาชัยช็อค ชาวไทยคงตามติดอยู่แล้วไม่ต้องอธิบายและ London Lockdown นายกฯอังกฤษประกาศปิดเมืองหลวงและภาคใต้ส่วนใหญ่ โดยยกระดับมาตรการคุมโควิดให้เข้มขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 4 ในพื้นที่ดังกล่าว ขณะการเจรจา Brexit ยังจบไม่ลง
บาทอ่อนรับข่าวโควิดระบาดใหม่ “ไม่ใช่ระลอก 2” USDTHB ทะลุ 30 หุ้นเอเชียเริ่มต้นสัปดาห์ผสมผสาน หุ้นจีน A-shares หุ้นเวียดนาม บวกใสๆ
ฟิวเจอร์สหุ้นยุโรปร่วงแรง ฟิวเจอร์สหุ้นเล็กสหรัฐ Russell 2000 ลบเหมือนโดน sell on fact แต่ Nasdaq บวก บรรดานักลงทุนลุ้นแพคเกจกระตุ้นจบแล้วก็กลับไปหาของเดิมๆที่คุ้นเคยอย่างหุ้นเทคโนโลยี
เราย้ำประจำให้ค่อยๆ take profits ทยอยสับเปลี่ยน “เฉพาะส่วนกำไร” ออกมาเป็นระยะๆ แล้วไปพักเงินไว้ในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเช่น KTSTPLUS เพื่อบริหารความเสี่ยง ***นี่คือวินัยไม่เกี่ยวกับมุมมอง*** ความไม่แน่นอนอยู่กับเราเสมอไม่เคยไปไหน พยายามคาดเดาอย่างไรก็คิดไม่ออกหาไม่เจอ เพราะถ้าอะไรที่คาดการณ์ได้ก็ไม่ใช่ “เหตุไม่คาดฝัน”
หุ้นไทย #ถือได้ #ซื้อได้ #ไม่ขาย โควิดระบาดใหม่คือปัจจัยลบระยะสั้น ราคาหุ้นน่าจะซึมซับข่าวเต็มที่วันนี้เลย “ขายไม่ทันอยู่แล้ว” รัฐบาลและประชาชนมีประสบการณ์ บุคลากรการแพทย์ไทยศักยภาพสูง คุมเข้มงวดสักพักก็ดีขึ้น สถานการณ์นี้ช่วยส่งเสริมนโยบายการเงินการคลังผ่อนคลาย มีเหตุผลให้กระตุ้นมากขึ้น สนับสนุนเศรษฐกิจและหุ้นไทยในระยะถัดไป
กองทุนที่เราเน้นเข้าเพิ่มสัปดาห์นี้ KT-Ashares และ KT-PIF
KT-Ashares-A, KT-Ashares RMF “ซื้อความแกร่ง” ตลาด onshore ขึ้นกับปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดยเศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งต่อเนื่อง
KT-PIF-A, KT-PIF-D, KT-PIF-SSF, KT-PIF RMF “ซื้อสวนโควิดระบาดใหม่” รับสตอรี่ “ต้นร้ายปลายดี” ณ จุดเริ่มต้นของเกม ปัจจัยลบระยะสั้นเพิ่งเข้ามาเต็มๆ แต่ระยะยาวออกไปเราเชื่อว่า พลังขับเคลื่อนของ rebalancing “หยุดยาก” นักลงทุนจำนวนมากน่าจะปรับพอร์ต เพิ่มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์จากนี้ไปอีกหลายเดือนข้างหน้า ยืนยันมุมมองตาม “Property Refresh” (KTAM Weekly 8 ธ.ค.)
เฟดย้ำคำมั่นสัญญาตามที่ตลาดต้องการ ผลประชุม 15-16 ธ.ค. คงดอกเบี้ย 0-0.25% ทำ QE ซื้อสินทรัพย์อย่างน้อยเดือนละ $120,000 ล้านต่อไปจนกว่าการจ้างงานและเงินเฟ้อจะดีขึ้นมากๆ (แถลงการณ์ใช้คำว่า substantial) นับว่าวางเงื่อนไขถอนมาตรการผ่อนคลายไว้แบบเบลอๆ สงวนความยืดหยุ่นเผื่อจูนการสื่อสารในอนาคต แถมช่วง Q&A ประธาน Jerome Powell ตอบคำถามเรื่องตลาดหุ้น all-time high แบบคล้ายๆ “ยักไหล่” ไม่กังวลสักนิด ชี้ยีลด์พันธบัตรต่ำเตี้ยเรี่ยดิน support ระดับราคาสูงลิ่วสบายๆ หนี้สินรัฐบาลและเอกชนพุ่งก็ไม่หวั่น เพราะพอคูณอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ภาระผ่อนจ่ายเลยน้อยกว่าเมื่อก่อนเสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้ยอดผิดนัดชำระลดลงมาเรื่อยนับตั้งแต่หลังวิกฤต ...สรุป #ชีวิตดี๊ดี เฟดยัง happy กับนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และไม่มีการปรับ composition ของประเภทสินทรัพย์หรืออายุตราสารที่เข้าซื้อแต่อย่างใด
Bank of America รายงาน fund manager survey ซึ่งมีผู้ติดตามอ่านจำนวนมหาศาล เผยผลสำรวจล่าสุด (4-10 ธ.ค.) ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ “ถือเงินสดน้อยกว่าปกติ” ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ค. 2013 ระดับเงินสดเฉลี่ย (average cash balance) ลดลงเหลือ 4% ต่ำใกล้ถึงจุดที่ BofA ใช้เป็นสูตรขายหุ้นสำหรับชาวสวน (< 3.5% = contrarian sell signal) นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากถือเงินสด บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นกระทิงกำลังฮอต overheated เกินห้ามใจ ดูเหมือนใครต่อใครอยากซื้ออะไรก็ได้ที่วิ่งแรงๆ
ถ้าระดับเงินสดไม่ลดลงต่อ จากจุดที่ต่ำมากในปัจจุบัน “หุ้นขาขึ้น” คงต้องพึ่ง bond-to-stock rotation (เงินผันออกจากพันธบัตรไปเข้าตลาดหุ้น) ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนอาทิ แพคเกจกระตุ้นของสภาคองเกรส และ ความสำเร็จเชิงเศรษฐกิจจากการฉีดวัคซีนโควิด แต่หากปล่อยตามธรรมชาติ ยีลด์พันธบัตรจะพุ่งขึ้นจนกดดันมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ ดังนั้น เฟดจึงน่าจะต้องเพิ่มการซื้อพันธบัตรอายุยาวเพื่อช่วยกดยีลด์ไว้