สหรัฐฯ
สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 1.8% สู่ 676,000 ยูนิตในเดือนก.พ. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 1.8% สู่ระดับ 676,000 ยูนิตในเดือนก.พ. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 680,000 ยูนิต จากระดับ 664,000 ยูนิตในเดือนม.ค. ยอดขายบ้านใหม่ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง (อินโฟเควสท์)
Conference Board เผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำกว่าคาดในเดือนมี.ค. ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลง 7.2 จุด สู่ระดับ 92.9 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 จากระดับ 100.1 ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 94.2 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการใช้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์ส่งสัญญาณยกเว้นภาษีให้หลายประเทศ ขณะมาตรการภาษีตอบโต้ใกล้ถึงกำหนดเส้นตาย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาอาจจะยกเว้นภาษีศุลกากรให้กับหลายประเทศ ในขณะที่การประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่สหรัฐฯ จะบังคับใช้กับประเทศคู่ค้านั้น ใกล้จะถึงกำหนดเส้นตายในวันที่ 2 เม.ย. "ผมอาจจะยกเว้นให้หลายประเทศ มันเป็นการต่างตอบแทน" ปธน.ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวในวันจันทร์ (24 มี.ค.) ปธน.ทรัมป์ระบุว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ตกลงที่จะปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ลงเหลือ 2.5% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ EU ทำร่วมกับคณะบริหารของทรัมป์ "เราจะประกาศภาษีศุลกากรเพิ่มเติมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจะเรียกเก็บจากรถยนต์ และจะเรียกเก็บเล็กน้อยจากสินค้าไม้แปรรูปและชิปในภายหลัง" ทรัมป์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า "แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งจะเป็นวันสำคัญและเป็นวันตอบโต้ และเราจะนำเงินบางส่วนที่ถูกเอาไปจากเรากลับคืนมา" ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ปธน.ทรัมป์ประกาศบนโซเชียลมีเดียว่า เขาจะเก็บภาษี 25% กับประเทศใดก็ตามที่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากเวเนซุเอลา โดยกล่าวหาว่าเวเนซุเอลาส่ง "อาชญากรหลายหมื่นคน" มายังสหรัฐฯ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ภาษี 25% "เป็นส่วนเพิ่มจากภาษีที่มีอยู่แล้วหรือไม่" ทรัมป์ตอบว่า "ใช่" สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตัวสำคัญ ๆ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวล โดยนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนเตือนว่าความเสี่ยงของ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุคของทรัมป์ (Trumpcession) นั้นเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากนโยบายการค้าและเศรษฐกิจที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ในช่วงต้นเดือนมี.ค. บรูซ แคสแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โลกของเจพีมอร์แกน ได้แสดงความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเขากล่าวกับผู้สื่อข่าวในสิงคโปร์ว่า เจพีมอร์แกนประเมินว่ามีโอกาส 40% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญภาวะถดถอยในปีนี้ (อินโฟเควสท์)
ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจทรัมป์ชี้การขึ้นภาษีนำเข้าแทบไม่กระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ สตีเฟน มิแรน หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธกระแสความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบระยะสั้นของภาษีศุลกากรต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยระบุว่าผู้บริโภคอเมริกันมีทางเลือกและความยืดหยุ่น ขณะที่ภาคธุรกิจก็สามารถผลิตสินค้าภายในประเทศได้ มิแรนระบุย้ำว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าจะส่งผลต่อประเทศคู่ค้ามากกว่าสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือผลกระทบต่อราคาสินค้าจะเป็นไปอย่างจำกัด ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ส่งสัญญาณว่าภาษีตอบโต้ที่จะประกาศในสัปดาห์หน้าอาจมีข้อยกเว้นสำหรับหลายประเทศ โดยมิแรนกล่าวว่าสถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลง และทรัมป์กับทีมงานกำลังพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ (อินโฟเควสท์)
สหรัฐบรรลุข้อตกลงรัสเซีย-ยูเครนรักษาความปลอดภัยในทะเลดำ ทำเนียบขาวแถลงในวันนี้ว่า สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงกับรัสเซียและยูเครนในการรักษาความปลอดภัยสำหรับการเดินเรือในทะเลดำ รวมทั้งยุติการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ แถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐจะให้ความช่วยเหลือต่อรัสเซียในการส่งออกสินค้าเกษตรและปุ๋ยเข้าสู่ตลาดโลก รวมทั้งการเข้าถึงท่าเรือ และระบบชำระเงินสำหรับการทำธุรกรรมดังกล่าว ขณะเดียวกัน สหรัฐจะอำนวยความสะดวกให้กับรัสเซียและยูเครนในการเจรจาเพื่อให้มีการบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืน (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 4.18 จุด ตลาดหวังทรัมป์ผ่อนคลายนโยบายการค้า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันอังคาร (25 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนประเมินตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ และยังคงคาดหวังว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้ความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการค้าในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,587.50 จุด เพิ่มขึ้น 4.18 จุด หรือ +0.01%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,776.65 จุด เพิ่มขึ้น 9.08 จุด หรือ +0.16% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,271.86 จุด เพิ่มขึ้น 83.26 จุด หรือ +0.46% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดลบ 11 เซนต์ หลังรัสเซีย-ยูเครนยุติโจมตีด้านพลังงาน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (25 มี.ค.) หลังจากมีรายงานรัสเซียและยูเครนได้ตกลงที่จะยุติการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบจากทางการสหรัฐฯ ในวันนี้ ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 11 เซนต์ หรือ 0.16% ปิดที่ 69.00 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 73.02 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $10.30 วิตกสงครามการค้าหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (25 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 10.30 ดอลลาร์ หรือ 0.34% ปิดที่ 3,025.90 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ดีดเหนือ 4.3% นักลงทุนคลายกังวลเทรดวอร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 4.3% ขณะที่นักลงทุนพากันขายพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐ ณ เวลา 19.52 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.344% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.680% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
ยอดจดทะเบียนรถใหม่ใน EU ร่วง 3.4% ช่วงก.พ. เยอรมนี-อิตาลีลดลงหนักสุด ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในสหภาพยุโรป (EU) ลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 853,670 คัน ในเดือนก.พ. ตามข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป (ACEA) ที่เผยแพร่วันนี้ (25 มี.ค.) เยอรมนีมียอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ลดลงมากที่สุด โดยหดตัว 6.4% ตามมาด้วยอิตาลีที่ลดลง 6.2% ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2568 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ใน EU มีจำนวนทั้งสิ้น 1,685,640 คัน ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (อินโฟเควสท์)
Ifo เผยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.7 ในเดือนมี.ค. ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของวิเคราะห์ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับตัวขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ คาดหวังถึงการฟื้นตัวหลังจากเศรษฐกิจเยอรมนีประสบภาวะหดตัวมาเป็นเวลาสองปีแล้ว โดยคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเติบโต 0.2% ในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากหดตัว 0.2% ในไตรมาส 4/2567 ผลสำรวจระบุว่า บริษัทต่าง ๆ แสดงความพึงพอใจมากขึ้นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ความคาดหวังเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคตก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน (อินโฟเควสท์)
BoE ชี้อังกฤษต้องพึ่ง AI ฝ่าแนวโน้มเศรษฐกิจซบเซา แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เผยว่า อังกฤษจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่คาดว่าจะซบเซาต่อเนื่อง เบลีย์บรรยายที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ว่า ประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงิน ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เบลีย์มองว่า AI มีศักยภาพที่จะเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ เหมือนกับที่เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำและคอมพิวเตอร์ในยุคก่อนเคยทำไว้ ซึ่งจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอังกฤษที่กำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่า "ความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพแรงงานมนุษย์เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจมีความเร่งด่วนมากขึ้น ... ผมจึงมีความเห็นว่าเราต้องส่งเสริมการเติบโตของ AI" อย่างไรก็ดี เบลีย์ย้ำว่าเขาไม่กังวลว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ โดยเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้เกิดการว่างงานในวงกว้าง และมองว่าเป็นเรื่องของคนที่ใช้ AI มากกว่าที่ AI จะมาแทนที่คน นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ BoE ยังกล่าวว่า แม้การค้าจะมีความสำคัญต่อการเร่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ระบบการค้าในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาความไม่สมดุลอย่างมาก โดยเฉพาะกับจีนที่เกินดุลการค้าอย่างมหาศาล ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นแรงกดดันให้หลายประเทศหันกลับมาใช้มาตรการภาษีในระดับที่สูงขึ้น (อินโฟเควสท์)
อังกฤษเตรียมทุ่มงบ 2 พันล้านปอนด์ สร้างบ้านราคาถูก 1.8 หมื่นหลัง รัฐบาลอังกฤษประกาศในวันนี้ (25 มี.ค.) ว่า จะทุ่มงบประมาณ 2 พันล้านปอนด์ (2.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อสร้างบ้านราคาย่อมเยาจำนวน 18,000 หลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างที่อยู่อาศัย 1.5 ล้านหลังให้เสร็จสิ้นภายในวาระของรัฐสภาชุดปัจจุบัน และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เงินทุนที่ประกาศในวันนี้เป็นการเพิ่มเติมจากงบ 600 ล้านปอนด์ที่ได้รับการประกาศโดยราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะในภาคการก่อสร้างและฝึกอบรมช่างก่ออิฐ ช่างไฟฟ้า วิศวกร และช่างไม้ราว 60,000 คนภายในปี 2572 รัฐบาลระบุว่า การก่อสร้างมีกำหนดเริ่มในเดือนมี.ค. 2570 โดยตั้งเป้าสร้างให้เสร็จภายในปี 2572 พรรคแรงงานภายใต้การนำของเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กำหนดให้การสร้างที่อยู่อาศัยเป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมประกาศปฏิรูปแผนการพัฒนาเพื่อเร่งการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้ราคาบ้านสูงขึ้นและทำให้หลายคนไม่สามารถเข้าสู่ตลาดที่อยู่อาศัยได้ ข้อมูลทางการที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (24 มี.ค.) ระบุว่า ราคาบ้านเฉลี่ยสูงถึง 7.7 เท่าของรายได้เฉลี่ยจากการทำงานเต็มเวลาในปี 2567 ขณะที่มาตรการลดหย่อนภาษีชั่วคราวสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกและบ้านราคาย่อมเยาจะสิ้นสุดลงในปลายเดือนนี้ (อินโฟเควสท์)
เดนมาร์กจวกจนท.ระดับสูงสหรัฐฯ เยือนกรีนแลนด์ "ไม่เหมาะสม" ลาร์ส ล็อกเก ราสมุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กกล่าวในวันจันทร์ (24 มี.ค.) ว่า การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกามีแผนเดินทางเยือนกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์กนั้น ถือเป็นการกระทำที่ "ไม่เหมาะสม" "สิ่งนี้สะท้อนถึงความกระหายของชาวอเมริกัน ซึ่งไม่เหมาะสม" รมว.ต่างประเทศเดนมาร์กกล่าว หลังมีรายงานว่า ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และอูชา แวนซ์ ภรรยาของรองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ วางแผนเดินทางเยือนเมืองนุกและเมืองซิซิมิอุตของกรีนแลนด์ ในระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค.นี้ รมว.ต่างประเทศเดนมาร์กกล่าวว่า การเยือนครั้งนี้ไม่ถูกกาลเทศะอย่างยิ่ง เนื่องจากเพิ่งมีการเลือกตั้งในกรีนแลนด์ และยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อย่างเป็นทางการ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ก็ได้แสดงความกังวลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 มี.ค.) โดยเน้นย้ำว่า ความร่วมมือใด ๆ ก็ตามจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจอธิปไตยและความเคารพซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกัน มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์กล่าวถึงการเยือนครั้งนี้ว่าเป็น "การยั่วยุอย่างชัดเจน" เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ อูชา แวนซ์ โพสต์คลิปวิดีโอผ่านอินสตาแกรมว่า เธอกำลังตั้งตารอที่จะได้เดินทางเยือนกรีนแลนด์ และรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษที่จะได้เข้าร่วมการแข่งขันสุนัขลากเลื่อนที่เมืองซิซิมิอุต อย่างไรก็ตาม KNQK ซึ่งเป็นสมาคมสุนัขลากเลื่อนของกรีนแลนด์แถลงว่า ไม่ได้เชิญคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ เข้าร่วมการแข่งขันแต่อย่างใด (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดบวก รับความหวังสหรัฐฯ ผ่อนปรนมาตรการภาษี ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันอังคาร (25 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนมีความหวังมากขึ้นว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ อาจใช้ท่าทีที่อ่อนลงเกี่ยวกับมาตรการภาษี ขณะที่ใกล้ถึงกำหนดเส้นตายในการเริ่มเก็บภาษีในวันที่ 2 เม.ย. ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 552.59 จุด เพิ่มขึ้น 3.66 จุด หรือ +0.67% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,108.59 จุด เพิ่มขึ้น 86.26 จุด หรือ +1.08%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 23,109.79 จุด เพิ่มขึ้น 257.13 จุด หรือ +1.13% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,663.80 จุด เพิ่มขึ้น 25.79 จุด หรือ +0.30% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 25.79 จุด กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์-ก่อสร้างหนุนตลาด ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันอังคาร (25 มี.ค.) ท่ามกลางความหวังว่ามาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาจไม่รุนแรงอย่างที่กังวล โดยหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และก่อสร้างนำตลาดปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,663.80 จุด เพิ่มขึ้น 25.79 จุด หรือ +0.30% (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
BOJ มองภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเอื้อต่อการขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนม.ค. ซึ่งระบุว่า กรรมการ BOJ มองสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นโอกาสเหมาะสมสำหรับการหารือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าว คณะกรรมการ BOJ มีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี จากระดับ 0.25% รายงานการประชุมซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (25 มี.ค.) ระบุว่า กรรมการ BOJ กล่าวในระหว่างการประชุมว่า ตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลกค่อนข้างมีเสถียรภาพ เนื่องจากตลาดสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์สำคัญอย่างการเริ่มต้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ มาได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ การประชุมเดือนม.ค.ของ BOJ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 ม.ค. หรือเพียงไม่กี่วันหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับในญี่ปุ่นนั้น เงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริง ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่า นโยบาย "อเมริกามาก่อน" (America First) ของปธน.ทรัมป์อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรี ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการคนหนึ่งของ BOJ คาดการณ์ว่านโยบายของรัฐบาลทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นในหลายด้าน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะสามารถต้านทานแรงกดดันได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน กรรมการอีกคนหนึ่งของ BOJ ได้เตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นอีก และความขัดแย้งทางการค้าทั่วโลกอาจจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดยคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ยอมรับว่าการที่ปธน.ทรัมป์ประกาศจะใช้มาตรการต่าง ๆ นั้น ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจตกอยู่ในความไม่ชัดเจน (อินโฟเควสท์)
"อิชิบะ" เตรียมงัดยาแรงสู้เงินเฟ้อ หวังกู้คะแนนนิยมก่อนเลือกตั้ง ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เตรียมออกมาตรการ "ยาแรง" เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นต่อประชาชน สำนักข่าวเกียวโดรายงานวันนี้ (25 มี.ค.) โดยอ้างคำพูดจากเท็ตสึโอะ ไซโตะ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเปิดเผยภายหลังการหารือกับอิชิบะว่า รัฐบาลกำลังเร่งออกมาตรการเยียวยาประชาชน โดยจะเริ่มดำเนินการหลังจากที่รัฐสภาอนุมัติงบประมาณต้นปีงบประมาณใหม่ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤตค่าครองชีพที่กลายเป็นประเด็นร้อนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงฤดูร้อนนี้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายและลดภาษี ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อในญี่ปุ่น พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ปรับตัวสูงขึ้นเกินคาด แม้รัฐบาลจะออกมาตรการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคแล้วก็ตาม โดยเฉพาะราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 7% เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน อันเป็นผลมาจากค่าเงินเยนอ่อนตัวและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ที่ผ่านมา รัฐบาลอิชิบะได้ทยอยออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพหลายรอบ ทั้งในแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจปีที่แล้วและงบประมาณต้นปีงบประมาณใหม่ รวมถึงล่าสุดที่สั่งปล่อยข้าวจากคลังสำรองฉุกเฉินเพื่อสกัดราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นถึง 81.4% ในเดือนก.พ.อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นของเกียวโดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าคะแนนนิยมของอิชิบะร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 27.6% ส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่เขายอมรับว่าได้แจกบัตรกำนัลมูลค่า 100,000 เยน ให้กับสส.พรรครัฐบาลที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งบางราย (อินโฟเควสท์)
รมว.กลาโหมญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เตรียมพบกันครั้งแรกที่โตเกียวสุดสัปดาห์นี้ เก็น นาคาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น เปิดเผยในวันนี้ (25 มี.ค.) ว่า เขาเตรียมพบกับ พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ณ กรุงโตเกียว ในระหว่างที่เฮกเซธเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เฮกเซธกำลังอยู่ระหว่างการเดินสายเยือนฮาวาย กวม ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้ เฮกเซธและนาคาทานิได้หารือกันทางโทรศัพท์เมื่อเดือนม.ค. และให้คำมั่นว่าจะพบหน้ากันโดยเร็วที่สุด นาคาทานิแถลงข่าวว่า "ผมตั้งตารอที่จะหารือเกี่ยวกับความพยายามในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องปรามและการตอบสนองของพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ร่วมกับรัฐมนตรีเฮกเซธ" ในวันเสาร์นี้ (29 มี.ค.) นาคาทานิและเฮกเซธจะเดินทางเยือนเกาะอิโวโตะ เพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 80 ปี การสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมกันในวันอาทิตย์ (30 มี.ค.) ทั้งนี้ การรบบนเกาะอิโวโตะ หรือรู้จักกันในชื่อ ยุทธการที่อิโวจิมะ เป็นหนึ่งในการรบที่โหดร้ายที่สุดในแนวรบแปซิฟิกของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยกินเวลานานประมาณหนึ่งเดือนนับจากกองทัพสหรัฐฯ ยกพลขึ้นบกในเดือนก.พ. 2488 ส่งผลให้ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตราว 21,900 นาย และทหารอเมริกันเสียชีวิตราว 7,000 นาย (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดบวก 172.05 จุด คลายวิตกภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดบวกในวันนี้ (25 มี.ค.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า บางประเทศอาจได้รับการยกเว้นจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 37,780.54 จุด เพิ่มขึ้น 172.05 จุด หรือ +0.46% (อินโฟเควสท์)
จีน
แบงก์ชาติจีนอัดฉีดเงิน 4.5 แสนล้านหยวนผ่าน MLF มุ่งรักษาสภาพคล่องระบบธนาคาร ธนาคารกลางจีน (PBOC) อัดฉีดเงิน 4.5 แสนล้านหยวน (ประมาณ 6.268 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ระบบการเงินในวันนี้ (25 มี.ค.) โดยดำเนินการผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบธนาคารของประเทศ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อรวมกับเงินทุน MLF มูลค่า 3.87 แสนล้านหยวนที่ครบกำหนดในเดือนนี้ การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการอัดฉีดสภาพคล่องสุทธิ 6.3 หมื่นล้านหยวน นับเป็นครั้งแรกที่มีการอัดฉีดสภาพคล่องสุทธิผ่าน MLF ตั้งแต่เดือนก.ค. 2567 เหวิน ปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารไชน่า หมินเซิง แบงก์ ระบุว่า การดำเนินการครั้งนี้สะท้อนถึงทิศทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปานกลาง โดยตั้งแต่ต้นปี PBOC ได้ใช้มาตรการหลากหลายเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง รักษาระดับเงินทุนให้เพียงพอ และคงเสถียรภาพของอัตราดอกเบี้ย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเปลี่ยนไปใช้วิธีการประมูลแบบหลายราคาสำหรับการดำเนินการ MLF ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดบทบาทของอัตรา MLF ในฐานะสัญญาณนโยบาย ทั้งนี้ เหวินย้ำว่า การนำวิธีการประมูลราคาหลายระดับมาใช้คาดว่าจะลดต้นทุนเงินทุน MLF โดยรวม เสริมสร้างความสามารถในการกำหนดราคาตามกลไกตลาดของสถาบันการเงิน และสนับสนุนการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจที่แท้จริง (อินโฟเควสท์)
จีนมุ่งยกระดับคุณภาพ-กำลังผลิต "เศรษฐกิจสีเงิน" เพื่อผู้สูงวัย สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ถัง เฉิงเพ่ย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการพลเรือนของจีนเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (24 มี.ค.) ว่า จีนจะเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการปรับปรุงคุณภาพและขยายกำลังการผลิตของเศรษฐกิจสีเงิน (silver economy) ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับประชากรสูงวัยจำนวนมากของประเทศ ถัง ซึ่งเข้าร่วมการประชุมเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (CDF) ปี 2568 ระหว่างวันที่ 23-24 มี.ค.กล่าวว่า ความพยายามเหล่านี้มุ่งสร้างวงจรเชิงบวกที่ผสานการพัฒนาเศรษฐกิจกับการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยช่วง 10 ปี (2568-2578) เป็นช่วงสำคัญของจีนในการรับมือกับความท้าทายจากสังคมผู้สูงอายุ จีนจะส่งเสริมการพัฒนาเชิงบูรณาการของอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรม การท่องเที่ยว สุขภาพ กีฬา และการบริการภายในบ้านเรือน เพื่อขยายขอบเขตและสถานการณ์ของการบริการดูแลผู้สูงอายุ และเดินหน้าโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นมิตรกับผู้สูงอายุมากขึ้น นอกจากนี้ จีนจะปรับปรุงพื้นที่สาธารณะและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุมากขึ้น ยกระดับการสร้างมาตรฐานและการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์และการบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ และเดินหน้าการวิจัยและนโยบายสนับสนุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเงินหรือเศรษฐกิจสูงวัยต่อไป (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดทรงตัว กังวลผลกระทบภาษีสหรัฐฯ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนทรงตัวปิดในวันนี้ (25 มี.ค.) ท่ามกลางความวิตกกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการลดผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,369.98 จุด ขยับลง 0.05 จุด หรือ 0.00% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดดิ่ง 561.31 จุด วิตกภาษีทรัมป์ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดร่วงลงในวันนี้ (25 มี.ค.) ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่าบางประเทศอาจได้รับการยกเว้นจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ก็ตาม ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 23,344.25 จุด ร่วงลง 561.31 จุด หรือ -2.35% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
รายงานคาดเศรษฐกิจเอเชียขยายตัว 4.5% ในปีนี้ รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียและความคืบหน้าในการบูรณาการ ที่เผยแพร่โดยการประชุมเอเชียโป๋อ๋าว (BFA) คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของเอเชียในปี 2568 จะอยู่ที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในปี 2567 รายงานระบุว่า "แม้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น แต่เอเชียยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก" ในแง่ของความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) คาดว่าสัดส่วน GDP ของเอเชียเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นแตะ 48.6% ในปี 2568 จาก 48.1% ในปี 2567 ขณะเดียวกัน แนวโน้มของการจ้างงานและรายได้ในเอเชียกำลังปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าอัตราการว่างงานในภูมิภาคจะอยู่ที่ 4.39% ในปี 2568 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 4.96% นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างประเทศพึ่งพาเศรษฐกิจเอเชียมากขึ้น โดยจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงเป็นตลาดที่ดึงดูดนักลงทุนมากที่สุดในภูมิภาค ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งขาเข้าและขาออกภายในเศรษฐกิจเอเชียอยู่ที่ 49.15% ในปี 2566 (อินโฟเควสท์)
แบงก์ชาติอินโดฯ ชี้ค่าเงินรูเปียห์อ่อนจากเหตุปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ แบงก์ชาติอินโดนีเซีย (BI) เปิดเผยในวันนี้ (25 มี.ค.) ว่า การที่ค่าเงินรูเปียห์ร่วงลงแตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2541 เป็นผลพวงจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ พร้อมยืนยันเตรียมเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงิน ในวันนี้ ค่าเงินรูเปียห์ได้อ่อนค่าลงถึง 0.54% แตะระดับ 16,640 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ 16,800 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อเดือนมิ.ย. 2541 ฟีตรา จุสดีมัน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ทางการเงินและหลักทรัพย์ของ BI เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกยังคงมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ อีกมากมายในเอเชีย ทรัมป์ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งจีน เม็กซิโก และแคนาดา พร้อมส่งสัญญาณว่าอาจมีการประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในเดือนถัดไป (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex บวกเล็กน้อย ซื้อขายผันผวน ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยในวันนี้ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน หลังดัชนีพุ่งกว่า 1,000 จุดวานนี้ ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 78,017.19 บวก 32.80 จุด หรือ 0.04% (อินโฟเควสท์)
ไทย
ยอดส่งออกรถยนต์ ก.พ.68 หดตัวต่อเนื่อง 8.34% นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะโฆษกฯ เผยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน ก.พ.68 อยู่ที่ 81,323 คัน ลดลง 8.34% จากเดือน ก.พ.67 โดยมีมูลค่าการส่งออก 732,063.43 ล้านบาท ลดลง 10.91% ทั้งนี้ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.68) อยู่ที่ 143,644 คัน ลดลง 18.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 134,605.39 ล้านบาท ลดลง 16.73% (อินโฟเควสท์)
ต่างชาติเที่ยวไทย ชะลอเดินทางทั้งตลาดระยะใกล้-ไกล แนวโน้มทรงตัว นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยว ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-23 มี.ค.) นักท่องเที่ยวชะลอตัวด้านการเดินทางในทุกกลุ่มตลาด โดยเดินทางเข้ามาลดลง 7.36% จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากการลดลงของนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดหลัก อาทิ ตลาดอินเดียหลังสิ้นสุดการเดินทางในช่วงวันหยุดในเทศกาล Holi ตลาดมาเลเซียเป็นช่วงเวลาเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม อีกทั้งเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) ทั้งนี้ ส่งผลให้ภาพรวมในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 589,370 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 46,800 คน หรือ 7.36% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 84,196 คน โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน 67,580 คน มาเลเซีย 57,523 คน รัสเซีย 54,689 คน อินเดีย 44,061 คน และญี่ปุ่น 27,819 คน สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวในสัปดาห์นี้ (24-30 มี.ค.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทรงตัว ขณะที่ภาพรวมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 มี.ค. 68 ที่ผ่านมาทั้งสิ้น 8,885,747 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 434,662 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 1,259,391 คน มาเลเซีย 1,057,438 คน รัสเซีย 667,905 คน อินเดีย 498,341 คน และเกาหลีใต้ 475,124 คน (อินโฟเควสท์)
"เผ่าภูมิ" งัดตัวเลขเศรษฐกิจโต้วาทกรรม "ศิริกัญญา" หลังกล่าวหารบ.บริหารเศรษฐกิจแย่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้แจงการอภิปรายของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่กล่าวหารัฐบาลบริหารบริหารราชการแผ่นดินด้านเศรษฐกิจล้มเหลวว่า เศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นการเติบโตที่มีตัวเลขวิทยาศาสตร์มายืนยันตรงข้ามกับวาทกรรมโจมตี เห็นได้จากตัวเลขดัชนีมวลรวมของประเทศในปี 2567 ที่ไตรมาสแรกโต 1.7% ไตรมาสที่สอง 2.3% ไตรมาสที่สาม 3.0% และไตรมาสที่สี่ 3.2% เมื่อรัฐบาลเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พบว่า รายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 68 (ต.ค.67-ก.พ.68) เพิ่มขึ้นหลายอย่าง อาทิ การขายปลีกจัดเก็บ VAT ได้เพิ่มขึ้น 31.5% บริการทางการเงิน 38.7% ขนส่งคลังสินค้า 26.5% ที่พักแรม 24.5% ก่อสร้าง 15.8% และการขนส่ง 66% กรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ใช้วาทกรรมว่าแรงงานทั้งในและนอกระบบรายได้ไม่เพิ่มนั้น พบว่า การจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาหรือมนุษย์เงินเดือนตาม ภ.ง.ด.1 โต 5.9% ภ.ง.ด.90 กลุ่มอาชีพอิสระโต 2.8% และ อ.ส.4/อ.ส.9 หรือที่เป็นสัญญาจ้างเหมาโต 19.0% ส่วนที่บอกว่าแบงก์รัฐไม่ปล่อยกู้นั้นพบว่า ช่วงไตรมาส 1/67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 โตขึ้น 3.3% ไตรมาส 2 โต 3.8% ไตรมาสที่ 3 โต 4.1% และไตรมาส 4 โต 3.8% การเปิดเพิ่มของธุรกิจใหม่ช่วงเดือน ม.ค.68 โตขึ้น 102% ทุนจดทะเบียนโตขึ้น 8.98% (อินโฟเควสท์)
สรรพากร แจงข้อเท็จจริงตั๋ว P/N เสียภาษีเมื่อจ่ายเงิน เคสนายกฯ ต้องยื่นชำระปี 70 นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านมีการอภิปรายเรื่องของภาษีการรับให้ ของนายกรัฐมนตรี ว่า ถ้าในข้อเท็จจริงเป็นการทำธุรกรรมโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) จะเปรียบเสมือนสัญญาเงินกู้ระหว่าง 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ออกตั๋ว (ลูกหนี้) และผู้รับเงิน (เจ้าหนี้) ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่า สามารถออกได้ 2 แบบ คือ ออกแบบกำหนดระยะเวลาที่จะชำระเงินชัดเจน หรือออกแบบไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการชำระเงิน ซึ่งการออกแบบที่ไม่ได้ระบุเวลาในการชำระเงินนั้น จะต้องจ่ายเงินทันทีเมื่อถูกเรียกหรือถูกทวงถาม ส่วนเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งฯ ระบุว่า จะกำหนดหรือไม่กำหนดก็ได้ หากมีการกำหนด จะต้องระบุไว้ที่หน้าตั๋ว P/N อย่างชัดเจน กรณีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดฯ ผู้ขายมีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะใช้เกณฑ์เงินสด ถ้าผู้ซื้อได้มีการออกตั๋ว P/N เพื่อเป็นสัญญาว่าจะชำระค่าหุ้นเต็มจำนวน การเสียภาษีจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระตั๋ว P/N ด้วยเงินสด ซึ่งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ระบุว่า ในปีหน้า (2569) จะมีการชำระเงินกัน ผู้ขายหุ้นก็จะต้องชำระภาษี โดยถือเป็นเงินได้ของปี 2569 ซึ่งจะต้องยื่นแบบฯ ในปี 2570 ในประเภทเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (Capital Gains) ผู้ขายหุ้นให้แก่นายกฯ มีเงินได้ประเภทนี้ ก็ยื่นแบบฯ และชำระภาษีตามขั้นตอนปกติ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดลบ 5.13 จุดแรงขายกลุ่มท่องเที่ยว-ปิโตรฯ สงครามการค้ายังมีความเสี่ยง SET ปิดวันนี้ที่ 1,184.93 จุด ลดลง 5.13 จุด (-0.43%) มูลค่าซื้อขาย 30,766.38 ล้านบาท นักวิเคราห์ฯ ระบุตลาดหุ้นไทยดัชนีแกว่งออกข้างอิง ไร้ปัจจัยใหม่หนุนดัชนี โดยยังมีความเสี่ยงจากประเด็นสงครามการค้า แม้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งสัญญาณผ่อนคลายแต่ยังมีความเสี่ยง ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวที่ปรับลงหลังนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่าคาด และกลุ่มปิโตรเคมี มีแรงขายออก มากดดันดัชนีวันนี้ แนวโน้มพรุ่งนี้มองมีโอกาสปรับตัวลงต่อ หากยังไม่มีปัจจัยใหม่หนุน โดยให้กรอบแนวรับ 1,180 จุด และแนวต้าน 1,193 จุด SET ปิดวันนี้ที่ 1,184.93 จุด ลดลง 5.13 จุด (-0.43%) มูลค่าซื้อขาย 30,766.38 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดวัน โดยทำจุดต่ำสุด 1,181.13 จุด และทำจุดสูงสุด 1,191.01 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 157 หลักทรัพย์ ลดลง 322 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 182 หลักทรัพย์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 120,746 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 120,746 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 37,158 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 4,817 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 1,190 ล้านบาท Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.85% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน +0.02% ภาพรวมของตลาดในวันนี้ Yield Curve ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 1-3 bps. สำหรับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ NET OUTFLOW 1,191 ล้านบาท โดยเกิดจาก NET SELL 1,191 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) ด้านปัจจัยต่างประเทศ เอสแอนด์พี โกลบอล รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ประจำเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.5 จากระดับ 51.6 ในเดือนก.พ. จากคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานเพิ่มขึ้น (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.93 แข็งค่าสุดในภูมิภาค จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐคืนนี้ นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.93 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 34.00/02 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามค่าเงินในภูมิภาคและตลาดโลก ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.93 - 34.05 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรราว 1 พันล้านบาท "บาทปิดตลาดแข็งค่าสุดของวัน และแข็งค่าสุดในภูมิภาค เคลื่อนไหวเกาะไปตามราคาทองคำในตลาดโลก ส่วนอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มีผลต่อค่าเงินบาท" นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 33.85 - 34.05 บาท/ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. สหรัฐฯ
สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) สหรัฐฯ