• X
  • ค้นหา
  • TH EN
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
TH : EN
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
  1. หน้าแรก
  2. KTAM Daily News
  3. สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สหรัฐฯ
สหรัฐเผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจขนาดย่อมร่วง 3 เดือนติด กังวลนโยบาย "ทรัมป์" สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมร่วงลง 3.3 จุด สู่ระดับ 97.4 ในเดือนมี.ค. โดยเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน และเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2565 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 98.9 ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการใช้นโยบายกำแพงภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้สร้างความยากลำบากต่อบริษัทต่าง ๆ ในการวางแผนล่วงหน้าสำหรับการลงทุนในธุรกิจ อย่างไรก็ดี การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่ปธน.ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อประเทศคู่ค้าในวันที่ 2 เม.ย. (อินโฟเควสท์)
ทำเนียบขาวยืนยันสหรัฐเดินหน้าเก็บภาษี 104% ต่อสินค้าจีนพรุ่งนี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวยืนยันว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากร 104% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนในวันพุธที่ 9 เม.ย. เวลา 00.01 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 11.01 น.ตามเวลาไทย ด้านนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า จีนกำลังทำผิดพลาดครั้งใหญ่ด้วยการคิดตอบโต้สหรัฐ ขณะที่จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ "ผมคิดว่าการตอบโต้ของจีนถือเป็นการทำผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะพวกเขากำลังถือไพ่ 2 ใบในมือที่มีแค่ใบละ 2 แต้ม" "เราจะเสียหายอะไรจากการที่จีนขึ้นภาษีศุลกากรกับเรา เพราะเราส่งออกไปยังจีนเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับที่พวกเขาส่งออกมายังเรา ดังนั้นพวกเขากำลังเล่นไพ่ในเกมที่จะถูกกินรวบ" นายเบสเซนต์กล่าวต่อสำนักข่าว CNBC (อินโฟเควสท์)
“ทรัมป์" ยันเดินหน้ารีดภาษีตามแผน แต่ส่งสัญญาณอาจเจรจากับบางประเทศ ล่าสุดปธน.ทรัมป์ได้ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการว่า เขาไม่ได้มีแผนที่จะพิจารณาระงับการเรียกเก็บภาษีจากหลายสิบประเทศ แม้ว่าประเทศคู่ค้าหลายประเทศพยายามใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีดังกล่าวก็ตาม อย่างไรก็ดี ปธน.ทรัมป์ส่งสัญญาณว่าเขายังคงเปิดช่องทางการเจรจาไว้สำหรับบางประเทศ ปธน.ทรัมป์กล่าวในระหว่างการพบปะหารือกับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวในวันจันทร์ (7 เม.ย.) โดยเขายืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่มีแผนที่จะระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ เนื่องจากภาษีศุลกากรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจะมาตรการจะยังคงมีผลบังคับใช้ตามแผน อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่าสหรัฐฯ จะเปิดกว้างให้กับบางประเทศที่เสนอข้อตกลงที่ดีและเป็นธรรม ถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็นการสร้างความชัดเจน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีสื่อบางสำนักรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเควิน แฮสเซตต์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของทำเนียบขาวว่าปธน.ทรัมป์กำลังพิจารณาที่จะระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ออกไปอีก 90 วัน ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นในระหว่างวันของวันจันทร์ (7 เม.ย.) แต่หลังจากทำเนียบขาวได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ดิ่งลงสู่แดนลบอีกครั้ง (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์" เผยเจรจาชื่นมื่นกับเกาหลีใต้ คาดจีนต้องการทำข้อตกลงเช่นกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขาได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายฮัน ด็อกซู รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในวันนี้ ซึ่งการสนทนาเป็นไปด้วยดี ก่อนที่คณะเจรจาของเกาหลีใต้จะเดินทางมายังกรุงวอชิงตัน ดีซีเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐ นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ระบุว่า จีนมีความต้องการที่จะเจรจากับสหรัฐเช่นกัน และสหรัฐกำลังรอคอยการเจรจาดังกล่าว "ผมเพิ่งมีการสนทนาด้วยดีกับท่านรักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โดยเรามีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการเกินดุลการค้าจำนวนมหาศาลของเกาหลีใต้, อัตราภาษีศุลกากร, การต่อเรือ, การซื้อก๊าซแอลเอ็นจีจำนวนมากจากสหรัฐ รวมทั้งการที่สหรัฐจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อปกป้องทางการทหารสำหรับเกาหลีใต้" "เรามีแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงครั้งใหญ่สำหรับทั้งสองประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ของพวกเขากำลังขึ้นเครื่องบินมายังสหรัฐ" "นอกจากนี้ เรากำลังติดต่อกับอีกหลายประเทศเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดต่างบอกว่าต้องการทำข้อตกลงกับสหรัฐ และเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ เราจะหารือในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าและภาษีศุลกากรเช่นกัน" "เช่นเดียวกัน จีนก็ต้องการที่จะทำข้อตกลงเป็นอย่างมาก แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เรากำลังรอโทรศัพท์จากพวกเขา ซึ่งมันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน!" ปธน.ทรัมป์ระบุใน Truth Social (อินโฟเควสท์)
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปิดประตูหารือภาษีศุลกากรกับผู้แทนอาเซียน โรเบิร์ต คาปรอธ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ฝ่ายเอเชีย จัดการประชุมแบบปิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ภาษีศุลกากรกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รายงานข่าวระบุว่า ผู้แทนสหรัฐฯ ได้แบ่งปันมุมมองด้านนโยบายของสหรัฐฯ และหารือถึงผลกระทบของภาษีศุลกากรใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้กับชาติสมาชิกอาเซียน ในระหว่างการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและธนาคารกลางของอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ในวันจันทร์ (7 เม.ย.) ด้านกระทรวงการคลังของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน โพสต์ข้อความบนเอ็กซ์ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียนสามารถติดต่อสื่อสารโดยตรงกับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในรูปแบบของการประชุมแบบปิด (closed-door) อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมของการประชุมที่กินเวลาร่วมหนึ่งชั่วโมงนี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย กล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มาเลเซียจะเป็นผู้นำในการประสานงานการตอบสนองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
สหรัฐเผยเกือบ 70 ปท.เข้าคิวขอเจรจาภาษี คาดต้องใช้เวลาคุยนานถึงมิ.ย. นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ขณะนี้รัฐบาลเกือบ 70 ประเทศได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจาทางการค้ากับสหรัฐ นายเบสเซนต์กล่าวว่า การเจรจากับประเทศคู่ค้าดังกล่าวอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน "ขณะนี้เกือบ 70 ประเทศได้ติดต่อทำเนียบขาวเพื่อขอเจรจาเกี่ยวกับภาษีศุลกากร ซึ่งจะทำให้เดือนเมษายน พฤษภาคม หรืออาจรวมถึงเดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่เรายุ่งมาก" นายเบสเซนต์กล่าวต่อสำนักข่าว Fox (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 320.01 จุด หวั่นทรัมป์เดินหน้ารีดภาษีตามกำหนด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันอังคาร (8 เม.ย.) ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 5,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะเดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศต่าง ๆ ตามกำหนดที่วางไว้ ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,645.59 จุด ลดลง 320.01 จุด หรือ -0.84% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,982.77 จุด ลดลง 79.48 จุด หรือ -1.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,267.91 จุด ลดลง 335.35 จุด หรือ -2.15% (อินโฟเควสท์)  
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดลบ $1.12 วิตกสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯฉุดศก.ถดถอย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีในวันอังคาร (8 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและทำให้ความต้องการใช้พลังงานอ่อนแอลง ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.12 ดอลลาร์ หรือ 1.85% ปิดที่ 59.58 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.39 ดอลลาร์ หรือ 2.16% ปิดที่ 62.82 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)  
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดจับตาผลกระทบสงครามการค้า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (8 เม.ย.) ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดสงครามการค้าและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.3% แตะระดับ 102.955 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $16.60 รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (8 เม.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 16.60 ดอลลาร์ หรือ 0.55% ปิดที่ 2,990.20 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)  
บอนด์ยีลด์ดีดเหนือ 4.2% นักลงทุนเทขายพันธบัตร หลังคลายกังวลเทรดวอร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 4.2% ขณะที่นักลงทุนพากันขายพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐ ขณะที่สหรัฐส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับประเทศคู่ค้าเกี่ยวกับมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ณ เวลา 20.13 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.233% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.654% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
EU เสนอเก็บภาษี 25% สินค้าสหรัฐฯ ตอบโต้มาตรการภาษีทรัมป์ สหภาพยุโรป (EU) เสนอแผนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ บางรายการในอัตรา 25% เพื่อตอบโต้การตัดสินใจล่าสุดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากยุโรป ตามเอกสารภายในที่ส่งถึงประเทศสมาชิก EU เมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) ระบุว่า สินค้าสหรัฐฯ ที่จะถูกเก็บภาษีนั้น มีตั้งแต่เพชร ไข่ ไหมขัดฟัน ไส้กรอก ไปจนถึงเนื้อไก่ ส่วนสินค้าที่เคยอยู่ในรายการพิจารณามาก่อน เช่น เบอร์เบิน ไวน์ และผลิตภัณฑ์นม ถูกถอดออกจากรายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีในครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน มารอส เซฟโควิช กรรมาธิการยุโรปด้านการค้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยืนยันว่าจะส่งรายการมาตรการตอบโต้ให้แก่ประเทศสมาชิก โดยจะมีการลงมติรับรองมาตรการภาษีตอบโต้ชุดแรกในวันที่ 9 เม.ย. และคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 15 เม.ย. ขณะที่รายงานข่าวระบุว่า มาตรการตอบโต้บางส่วนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 พ.ค. เซฟโควิชกล่าวว่า EU ยังเลือกแนวทางเจรจา แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่า หากการเจรจาล้มเหลว ทางกลุ่มพร้อมใช้ทุกเครื่องมือที่มีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยระบุว่า "เราพร้อมใช้เครื่องมือปกป้องทางการค้าทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อปกป้องตลาดเดียวของ EU และผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภคยุโรป" ทั้งนี้ ทรัมป์ยืนยันว่ามาตรการภาษีต่อสินค้านำเข้าจาก EU เช่น รถยนต์และเครื่องจักร จะมีผลบังคับใช้ตามกำหนด พร้อมเรียกร้องให้ EU นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
ฝรั่งเศสขาดดุลการค้าเกินคาด แตะ 7.9 พันล้านยูโรในเดือนก.พ. กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของฝรั่งเศสเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า ยอดขาดดุลการค้าของฝรั่งเศสขยายตัวแตะ 7.9 พันล้านยูโรในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นจาก 6.5 พันล้านยูโรในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.4 พันล้านยูโร ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นการขาดดุลการค้าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว เนื่องจากยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 5.75 หมื่นล้านยูโร ขณะที่ยอดส่งออกทรงตัวอยู่ที่ระดับ 4.97 หมื่นล้านยูโร ยอดนำเข้าในเดือนก.พ.ได้รับแรงหนุนจากการซื้อสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านการพิมพ์และการสื่อสาร (+13.8%), กลุ่มอุปกรณ์การขนส่ง (+7.2%) และกลุ่มไฮโดรคาร์บอนธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการสกัด ไฟฟ้า และของเสีย (+0.2%) สำหรับยอดส่งออกนั้น ยอดขายที่สูงขึ้นของสินค้าเกษตร ป่าไม้ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (+8.7%) และกลุ่มไฮโดรคาร์บอนธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการสกัด ไฟฟ้า และของเสีย (+3.1%) ถูกหักล้างโดยการลดลงของการส่งออกอุปกรณ์การขนส่ง (-4.9%) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่นและถ่านโค้ก (-2.2%) (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปพุ่งแรงสุดในรอบกว่า 2 ปี หลังดิ่งหนักจากวิตกเทรดวอร์ ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นในวันอังคาร (8 เม.ย.) โดยฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน หลังจากร่วงลงติดต่อกัน 4 วัน แม้ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปฏิกิริยาของประเทศต่าง ๆ ต่อมาตรการเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 486.91 จุด เพิ่มขึ้น 12.90 จุด หรือ +2.72% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,100.42 จุด เพิ่มขึ้น 173.30 จุด หรือ +2.50%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 20,280.26 จุด เพิ่มขึ้น 490.64 จุด หรือ +2.48% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,910.53 จุด เพิ่มขึ้น 208.45 จุด หรือ +2.71% (อินโฟเควสท์)  
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดพุ่ง 208.45 รับความหวังเจรจาภาษีนำเข้า ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นในวันอังคาร (8 เม.ย.) โดยดีดตัวขึ้นจากแรงขายอย่างหนักในวันก่อนหน้า ท่ามกลางความหวังว่า สหรัฐฯ อาจลดท่าทีแข็งกร้าวต่อภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,910.53 จุด เพิ่มขึ้น 208.45 จุด หรือ +2.71% (อินโฟเควสท์)  
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.06 ล้านล้านเยนในเดือนก.พ. กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.06 ล้านล้านเยน (2.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการกลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 2 เดือน โดยมีปัจจัยหลักมาจากยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น รายงานระบุว่า ดุลการค้าสินค้าของประเทศเกินดุล 7.129 แสนล้านเยน เนื่องจากยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 10.4% จากปีก่อนหน้า แตะระดับ 9 ล้านล้านเยน ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 1.9% สู่ระดับ 8.29 ล้านล้านเยน ในส่วนขององค์ประกอบสำคัญอื่น ๆ นั้น รายได้ปฐมภูมิ (Primary Income) ซึ่งสะท้อนรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ พุ่งขึ้น 10.9% จากปีก่อนหน้า แตะระดับ 3.88 ล้านล้านเยน สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นดัชนีชี้วัดที่ครอบคลุมการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดตัวหนึ่ง (อินโฟเควสท์)
รมว.เศรษฐกิจญี่ปุ่น "อาคาซาวะ" จ่อคุมเจรจาภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า เรียวเซ อาคาซาวะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ จะเป็นผู้รับผิดชอบการเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรกับสหรัฐอเมริกา สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ตกลงกันระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) ว่าจะให้รัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายดำเนินการเจรจาทวิภาคีต่อไป โยชิมาสะ ฮายาชิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า นายกฯ อิชิบะจะตัดสินใจเกี่ยวกับ "เวลาที่เหมาะสม" ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อพูดคุยกับปธน.ทรัมป์แบบตัวต่อตัว โดยขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการเจรจาในระดับรัฐมนตรี รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเพื่อดูแลประเด็นด้านภาษีนำเข้าในวันนี้ เพียงหนึ่งวันก่อนที่มาตรการภาษีตอบโต้ 24% ต่อสินค้าญี่ปุ่นจะมีผลบังคับใช้ นายกฯ อิชิบะ ซึ่งเรียกร้องให้ปธน.ทรัมป์ถอนมาตรการที่เขาเรียกว่าเป็น "การดำเนินการฝ่ายเดียว" ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้แนวทางแบบบูรณาการทั้งรัฐบาลเพื่อป้องกันความเสียหายต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น นายกฯ อิชิบะกระตุ้นให้คณะรัฐมนตรีประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ รวมถึงภาษี 25% สำหรับรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว และให้เพิ่มความพยายามทางการทูตเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการดังกล่าว (อินโฟเควสท์)
บริษัทญี่ปุ่นยื่นล้มละลายสูงสุดในรอบ 11 ปี เซ่นพิษเศรษฐกิจไม่แน่นอน บริษัท โตเกียว โชโก รีเสิร์ช (Tokyo Shoko Research หรือ TSR) เปิดเผยว่า จำนวนบริษัทที่ยื่นขอล้มละลายในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 10,144 บริษัท สูงสุดในรอบ 11 ปี ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาคธุรกิจ โดยบริษัทในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรมยื่นล้มละลายมากกว่าปีก่อนหน้า ยกเว้นภาคการเงินและการขนส่ง TSR ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยของญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนบริษัทที่ยื่นล้มละลายในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบรายปีสู่ระดับ 10,144 แห่ง ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 ที่มีบริษัทยื่นล้มละลาย 10,536 แห่ง อย่างไรก็ตาม หนี้สินโดยรวมจากการล้มละลายลดลงมาอยู่ที่ 2.37 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2567 จาก 2.46 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากบริษัทที่ยื่นล้มละลายส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งนี้ ข้อมูลบริษัทล้มละลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ BOJ จับตาเพื่อประเมินความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า ธนาคารกลางจะยังเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากยังคงมีการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างในบริษัทขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภค (อินโฟเควสท์)
อดีตรมช.คลังญี่ปุ่นชี้ ทรัมป์ไม่น่าบรรลุดีลกดค่าเงินดอลล์แบบ Plaza Accord ได้ นาโอยูกิ ชิโนฮาระ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านนโยบายค่าเงินของญี่ปุ่น กล่าวในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า ความพยายามของสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะกดให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงเหมือน "ข้อตกลงพลาซา" (Plaza Accord) เมื่อปี 2528 นั้น ไม่น่าจะสำเร็จ เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากจีนและสหภาพยุโรป (EU) ชิโนฮาระให้เหตุผลว่า การขอความร่วมมือจากจีนและ EU เป็นเรื่องยากมากในตอนนี้ เพราะปธน.ทรัมป์ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่พอใจจากนโยบายภาษีนำเข้า ซึ่งต่างจากปี 2528 ที่คุยแค่กับพันธมิตรใกล้ชิดอย่างญี่ปุ่นและเยอรมนี โดยการทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าในตลาดโลกปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศมากกว่านั้น ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่า รัฐบาลทรัมป์อาจผลักดัน "ข้อตกลงมาร์อาลาโก" (Mar-a-Lago Accord) ซึ่งเป็นดีลใหญ่เพื่อกดดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงและลดการขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯ แต่ชิโนฮาระชี้ว่า สถานการณ์ตอนนี้จำเป็นต้องดึงจีนและชาติยุโรปเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก นอกจากนี้ การที่ประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันแทรกแซงค่าเงินในปัจจุบันนั้นได้ผลน้อยลงกว่าแต่ก่อน เพราะตลาดการเงินมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ชิโนฮาระ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่นในช่วงปี 2550-2552 เตือนว่า ความคาดเดาไม่ได้ของนโยบายภาษีทรัมป์กำลังสร้างความผันผวนในตลาด ทำให้นักลงทุนไม่แน่ใจว่าจะรับมืออย่างไร นอกจากนี้ ชิโนฮาระยังเตือนว่า นโยบายภาษีของทรัมป์ โดยเฉพาะภาษีนำเข้ารถยนต์ที่อาจเกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ อย่างมาก โดยเฉพาะรถยนต์ ชิโนฮาระแนะว่าญี่ปุ่นควรกระจายความเสี่ยงทางอุตสาหกรรมออกจากตลาดสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดพุ่งกว่า 6% เพิ่มขึ้นรายวันมากสุดเป็นอันดับ 4 ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวยุติการร่วงลงติดต่อกัน 3 วันทำการ โดยปิดพุ่งขึ้นมากกว่า 6% ในวันนี้ (8 เม.ย.) โดยพุ่งทะลุแนว 33,000 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายวันมากที่สุด (เมื่อวัดตามจำนวนจุด) เป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์ ขานรับความคาดหวังเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดบวก 1,876.00 จุด หรือ +6.03% สู่ระดับ 33,012.58 จุด (อินโฟเควสท์)
จีน
"เบสเซนต์" ชี้จีนพลาดครั้งใหญ่คิดตอบโต้สหรัฐ เย้ยจีนเล่นไพ่ด้วยแต้มเป็นรอง นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า จีนกำลังทำผิดพลาดครั้งใหญ่ด้วยการคิดตอบโต้สหรัฐ ขณะที่จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ "ผมคิดว่าการตอบโต้ของจีนถือเป็นการทำผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะพวกเขากำลังถือไพ่ 2 ใบในมือที่มีแค่ใบละ 2 แต้ม" "เราจะเสียหายอะไรจากการที่จีนขึ้นภาษีศุลกากรกับเรา เพราะเราส่งออกไปยังจีนเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับที่พวกเขาส่งออกมายังเรา ดังนั้นพวกเขากำลังเล่นไพ่ในเกมที่จะถูกกินรวบ" นายเบสเซนต์กล่าวต่อสำนักข่าว CNBC นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ให้เวลารัฐบาลจีนจนถึงวันนี้ (8 เม.ย.) ในการยกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษี 34% ดังกล่าวต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ มิฉะนั้นจีนจะถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 50% ซึ่งจะทำให้จีนถูกเรียกเก็บภาษีรวมจากสหรัฐสูงถึง 104% อย่างไรก็ดี ล่าสุดจีนยืนยันว่าจะต่อสู้จนถึงที่สุด และจีนจะไม่ยกเลิกการเรียกเก็บภาษี 34% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐแต่อย่างใด (อินโฟเควสท์)
กลุ่มรัฐวิสาหกิจจีนประกาศเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้น หวังพยุงตลาดดิ่งหนัก บริษัทโฮลดิ้งของรัฐบาลจีนรายใหญ่หลายแห่งประกาศวันนี้ (8 เม.ย.) ว่าจะเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้น โดยผนึกกำลังกับกองทุนของรัฐเพื่อสกัดการดิ่งลงอย่างรุนแรงของตลาด อันเป็นผลจากความกังวลเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐฯ การประกาศของบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งรวมถึงไชน่า เฉิงทง โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป (China Chengtong Holdings Group) และไชน่า รีฟอร์ม โฮลดิ้งส์ คอร์ป (China Reform Holdings Corp) มีเป้าหมายเพื่อพยุงเสถียรภาพตลาด หลังจากดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนดิ่งหนักถึง 7% เมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) นอกจากนี้ การประกาศของกลุ่มบริษัทโฮลดิ้งยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่กองทุนเซ็นทรัล หุ้ยจิน (Central Huijin) ของรัฐ ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่าจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเช่นกัน นักลงทุนในตลาดหุ้นมีความหวั่นวิตกว่าจะเกิดสงครามการค้าที่สร้างความเสียหายและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังจากสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้า 34% กับสินค้าจีนเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 34% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน ไชน่า เฉิงทง โฮลดิ้งส์ ระบุว่า ธุรกิจด้านการลงทุนในเครือของบริษัทจะเข้าซื้อหุ้นและกองทุน ETF เพิ่มเติม โดยระบุว่า ทางบริษัทยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกอย่างมาก ต่อแนวโน้มการเติบโตของตลาดทุนจีน และพร้อมสนับสนุนการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกัน ไชน่า รีฟอร์ม โฮลดิ้งส์ คอร์ป หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กั๋วซิน" (Guoxin) เปิดเผยว่า ธุรกิจด้านการลงทุนในเครือของบริษัทจะเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รัฐวิสาหกิจ และกองทุน ETF เพิ่มเติม พร้อมกับเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้น 8 หมื่นล้านหยวน (1.095 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) (อินโฟเควสท์)
จีนเรียกประชุมภาคเอกชน หาทางรับมือทรัมป์ขึ้นภาษีจีนเกิน 100% คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ได้จัดประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่งในวันนี้ (8 เม.ย.) อาทิ ทรินา โซลาร์ (Trina Solar), ตีตี (Didi) และโกเออร์เทก (GoerTek) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางรับมือกับมาตรการขึ้นภาษีรอบใหม่ของสหรัฐฯ การประชุมดังกล่าวซึ่งนำโดย เจิ้ง ซานเจี๋ย ประธาน NDRC มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงกว่า 100% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันพุธนี้ (9 เม.ย.) โดยอ้างว่าเป็นมาตรการตอบโต้ที่จีนประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ NDRC ระบุว่า บริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางในการรักษาเสถียรภาพด้านการจ้างงานภายในประเทศ รวมถึงการรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทายจากภายนอก พร้อมเน้นย้ำว่า ภาคธุรกิจยังคงเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในประเทศยังคงมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ NDRC ยังกล่าวว่า เมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอก เช่น มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ภาคส่วนต่าง ๆ ควรมีทิศทางและการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการตัดสินใจของส่วนกลาง นอกจากนี้ NDRC ยังให้คำมั่นจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการแก้ไขปัญหา และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพ (อินโฟเควสท์)
ไต้หวันเผย พร้อมคุยเรื่องภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ทุกเมื่อ หลิน เจียหลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน เปิดเผยในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า ไต้หวันพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ ทุกเมื่อในประเด็นภาษีนำเข้า ท่ามกลางความกังวลด้านการค้าที่ฉุดให้ตลาดหุ้นไต้หวันร่วงหนักก่อนหน้านี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ระบุว่า ไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่นั้น เป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยมากที่สุด พร้อมประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้า 32% โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวกดดันให้ดัชนีหุ้นไต้หวันร่วงลงหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 10% เมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) และยังคงปรับตัวลดลงต่อในช่วงเช้าวันนี้ หลินกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไต้หวันพร้อมหารือกับสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ทั้งเรื่องภาษีนำเข้า การลงทุน การสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ และอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยย้ำว่าตราบใดที่มีเวลาและวิธีการเจรจาที่ชัดเจน ก็สามารถหารือกับสหรัฐฯ ได้ตลอดเวลา ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ ของไต้หวัน เสนอเมื่อวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) ให้จัดทำข้อตกลงปลอดภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ และการขจัดอุปสรรคทางการค้า ด้านนายกรัฐมนตรีจั๋ว หรงไท่ ยืนยันว่า ไต้หวันต้องการเจรจาและมีแผนการที่ครอบคลุมพร้อมแล้วสำหรับการพูดคุยกับสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน แม้ทั้งสองจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการก็ตาม ทั้งนี้ หอการค้าอเมริกันในไต้หวันได้ออกแถลงการณ์ในวันนี้ โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อมาตรการภาษีดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเว้นไต้หวันจากการดำเนินการทางการค้าครั้งนี้ โดยระบุว่าอาจเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพและความไว้วางใจที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไต้หวัน (อินโฟเควสท์)
ฮ่องกงยืนหยัดสนับสนุนการค้าเสรีไม่เปลี่ยนแปลง สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า พอล ชาน เลขาธิการสำนักงานการคลังประจำรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีนเผยเมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) ว่า รัฐบาลฮ่องกงจะยังคงรักษาสถานะของฮ่องกงในฐานะท่าเรือเสรี และรับรองการไหลเวียนของสินค้า เงินทุน และข้อมูลอย่างเสรี ชานกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ จัดเก็บ "ภาษีตอบโต้" กับสินค้านำเข้าจากคู่ค้าส่วนใหญ่นั้นละเมิดกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกปั่นป่วน และส่งผลกระทบรุนแรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาษีดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชนระหว่างประเทศและตลาดการลงทุน และจะทำร้ายเศรษฐกิจ กลุ่มบริษัท รวมถึงผู้บริโภคของสหรัฐฯ มาตรการภาษีข้างต้นส่งผลกระทบต่อหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งร่วงลงติดต่อกัน 2 วันเมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วนหุ้นยุโรปและเอเชียร่วงลงเช่นกัน ดัชนีหลักทรัพย์ฮั่งเส็ง (HSI) ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงของฮ่องกงร่วงลงกว่า 3,000 จุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ชานกล่าวว่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงยังคงมีเสถียรภาพภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเชื่อมโยง (Linked Exchange Rate System) ส่วนการซื้อขายในตลาดเป็นไปอย่างเป็นระเบียบและราบรื่น และไม่มีความผิดปกติใดส่งผลกระทบต่อระบบตลาดฮ่องกง โดยรัฐบาลฮ่องกงจะยังคงเฝ้าระวังใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน ชานทิ้งท้ายว่าฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมทางการค้าทั่วโลกในระยะสั้นได้ และรัฐบาลฮ่องกงจะยังคงสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมและสำรวจตลาดใหม่ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดบวก 48.97 จุด ขานรับจีนสร้างเสถียรภาพตลาดทุน ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกในวันนี้ (8 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่จีนใช้นโยบายสร้างเสถียรภาพตลาดทุน ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,145.55 จุด เพิ่มขึ้น 48.97 จุด หรือ +1.58% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดทะยาน 299.38 จุด หลังร่วงหนักวานนี้ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดบวกในวันนี้ (8 เม.ย.) โดยฟื้นตัวหลังจากที่ร่วงลงอย่างหนักเมื่อวานนี้ ขณะที่ตลาดขานรับจีนใช้นโยบายสร้างเสถียรภาพตลาดทุน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 20,127.68 จุด เพิ่มขึ้น 299.38 จุด หรือ +1.51% (อินโฟเควสท์)  
เอเชีย และอื่นๆ
เงินเฟ้ออินโดฯเดือนมี.ค.ขยับขึ้น 1.03% แต่ยังต่ำกว่าเป้าธนาคารกลาง สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียเปิดเผยวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอินโดนีเซีย ปรับตัวขึ้น 1.03% ในเดือนมี.ค. หลังจากที่ร่วงลง 0.09% ในเดือนก.พ. ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. ปีที่แล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้น เนื่องจากมาตรการลดค่าไฟของรัฐบาลหมดอายุลงในเดือนมี.ค. ประกอบกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก จะมีอุปสงค์พุ่งสูงในช่วงก่อนเทศกาลอีดิลฟิตรี ซึ่งปีนี้ตรงกับช่วงปลายเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.16-1.17% และเป็นเดือนที่สามติดต่อกันแล้วที่ตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายในกรอบ 1.5-3.5% ของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ทั้งนี้ อินโดนีเซียเผชิญภาวะเงินฝืดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปีในเดือนก.พ. เนื่องจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อต่ำไม่ได้บ่งชี้ถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอ แต่เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งอ้างถึงตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่า โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมี.ค. อยู่ที่ 2.48% เท่ากับเดือนก.พ. (อินโฟเควสท์)
เกาหลีใต้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเดือนที่ 22 ในเดือนก.พ. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า เกาหลีใต้ยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 ในเดือนก.พ. โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รายงานระบุว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้อยู่ที่ 7.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.ที่เกินดุล 2.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องทุกเดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2566 ในส่วนของดุลการค้าสินค้ามียอดเกินดุลอยู่ที่ 8.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.พ. เนื่องจากยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 5.379 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.3% มาอยู่ที่ 4.561 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (อินโฟเควสท์)
เกาหลีใต้ประกาศจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ 3 มิ.ย.นี้ เกาหลีใต้ประกาศจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 มิ.ย. หลังจากที่อดีตประธานาธิบดียุน ซอกยอล ถูกถอดถอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อหลายแห่งของเกาหลีใต้รายงานว่า กำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ได้รับการยืนยันในการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีฮัน ด็อกซู รักษาการประธานาธิบดี เป็นประธาน โดยวันเลือกตั้งได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดพิเศษ การกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าวสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าการเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในวันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 60 วันพอดี เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมีเวลาในการคัดเลือกผู้สมัครและเตรียมการรณรงค์หาเสียง ซึ่งคล้ายกับกรณีของอดีตประธานาธิบดีพัค กึนฮเย ที่ถูกถอดจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 และมีการเลือกตั้งใหม่ใน 60 วันพอดี คือวันที่ 9 พ.ค. (อินโฟเควสท์)
เวียดนามขอสหรัฐฯ เลื่อนภาษี 45 วัน, เสนอซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ลดเกินดุล รัฐบาลเวียดนามประกาศแผนเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง พร้อมยื่นคำขอให้สหรัฐฯ เลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าออกไป 45 วัน ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ออกแถลงการณ์ดังกล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงค่ำวันจันทร์ (7 เม.ย.) ซึ่งนายกฯ เวียดนามกล่าวในที่ประชุมด้วยว่า เวียดนามจะเร่งรัดการส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ที่สายการบินเวียดนามได้สั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐฯ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลกำลังพยายามหาทางเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อสร้างความร่วมมือทางการค้าที่สมดุลและยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ เวียดนามมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 1.23 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม (อินโฟเควสท์)
รมว.การค้าเกาหลีใต้มุ่งหน้าสหรัฐฯ เจรจาภาษี, เตรียมเสนอนำเข้าพลังงานเพิ่ม รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณาแผนการนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดดุลการค้าและปูทางสู่การเจรจาลดอัตราภาษีนำเข้า หลังจากโดนสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 25% ชอง อินคโย รัฐมนตรีกระทรวงการค้าเกาหลีใต้ เปิดเผยก่อนออกเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาเรื่องภาษีในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า เกาหลีใต้จะเน้นไปที่การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยกล่าวว่า เกาหลีใต้จำเป็นต้องปรับดุลการค้าเพื่อให้สหรัฐฯ ยอมลดอัตราภาษีนำเข้า และระบุว่า "การลดการส่งออกเป็นเรื่องยาก ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มการนำเข้าแทน" รมว.การค้าเกาหลีใต้กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีสูงเกินไปสำหรับประเทศพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้ ที่ปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเสรีเกาหลี-สหรัฐฯ มานานกว่า 12 ปี และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การเจรจาครั้งนี้ด้วย ตามข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ ซึ่งพึ่งพาการส่งออกอย่างมากนั้น มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 55.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 ขณะเดียวกัน รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมประกาศแผนงบประมาณเพิ่มเติม 10 ล้านล้านวอน (ประมาณ 6.8 พันล้านดอลลาร์) ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยจะจัดสรรงบประมาณราวหนึ่งในสามเพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางการค้า และส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของประเทศ (อินโฟเควสท์)
อินโดนีเซียประกาศคลายข้อจำกัดการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนการเจรจาลดผลกระทบจากภาษี อินโดนีเซียประกาศผ่อนคลายเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หลายรายการในวันนี้ (8 เม.ย.) รวมถึงลดภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเหล็กกล้า ก่อนการหารือการค้ากับทางการสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากภาษีศุลกากรในอัตรา 32% ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันพุธ (9 เม.ย.) แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นผู้นำคณะผู้แทนระดับสูงเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า เผยว่า อินโดนีเซียมีแผนจะซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG), ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามในการเจรจา ขณะเดียวกัน ศรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอินโดนีเซียระบุว่า อินโดนีเซียจะลดภาษีนำเข้าเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากสหรัฐฯ ลงเหลือ 0-5% จากเดิมที่ 5-10% ตลอดจนลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และแล็ปท็อปจากประเทศต่าง ๆ ลงเหลือ 0.5% จากเดิม 2.5% อินทราวตีกล่าวว่า มีโอกาสที่อินโดนีเซียจะเข้ามาแทนที่เวียดนาม บังกลาเทศ ไทย และจีน ในฐานะแหล่งส่งออกสินค้าบางประเภทไปยังสหรัฐฯ ภายใต้ระบบภาษีศุลกากรใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (อินโฟเควสท์)
ตลาดหุ้นอินโดฯเปิดดิ่ง 9% เงินรูเปียห์อ่อนยวบทำสถิติใหม่ สั่งพักซื้อขาย 30 นาที ตลาดหุ้นอินโดนีเซียดิ่งหนัก 9% ส่วนค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ (8 เม.ย.) ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (IDX) ต้องประกาศพักการซื้อขายชั่วคราว 30 นาที แรงเทขายระลอกนี้เกิดขึ้นทันทีที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียกลับมาเปิดซื้อขายเป็นวันแรก หลังหยุดยาวมาตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. โดยนักลงทุนเทขายจากความกังวลต่อสถานการณ์ผันผวนในตลาดโลก โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการภาษีศุลกากรใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าจากอินโดนีเซีย ในช่วงเปิดตลาด ดัชนีหุ้นหลักร่วงลงถึง 9.2% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 ขณะที่เงินรูเปียห์อ่อนค่าลง 1.8% อยู่ที่ 16,850 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติเดิมในช่วงวิกฤตการเงินเอเชีย ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียได้เตรียมรับมือสถานการณ์โดยปรับเกณฑ์การใช้มาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breaker) ไว้แล้ว โดยกำหนดให้พักการซื้อขาย 30 นาที หากดัชนีปรับลดลงถึง 8% ตามเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ หากดัชนีร่วงลงถึง 15% จะมีการพักการซื้อขายอีก 30 นาที และหากร่วงแรงกว่า 20% จะระงับการซื้อขายไปตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ ยังมีกฎห้ามส่งคำสั่งขายหุ้นรายตัวที่ราคาต่ำกว่าระดับที่หุ้นนั้นร่วงลงมาแล้ว 15% โดยระบบจะปฏิเสธอัตโนมัติ (อินโฟเควสท์)
โกลด์แมนแซคส์คาดราคาน้ำมันเบรนท์ร่วงหลุด 40 ดอลลาร์หากสงครามการค้าปะทุแรง โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันเบรนท์มีแนวโน้มร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 40 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าสถานการณ์มีความ "รุนแรง" อันเนื่องมาจากการปะทุขึ้นของสงครามการค้าและอุปทานน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งได้ปรับลดการคาดการณ์ราคาน้ำมันเป็นครั้งที่สองภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์นั้น ได้ออกรายงานล่าสุดที่ชื่อว่า "How Low Could Oil Prices Go?" (ราคาน้ำมันจะลดต่ำลงถึงระดับไหน) โดยระบุว่า ราคาน้ำมันเบรนท์มีแนวโน้มปรับตัวลงสู่ระดับต่ำกว่า 40 ดอลลาร์/บาร์เรลเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2569 เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้ที่ว่าจะเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในแง่ของ GDP โลกที่ชะลอตัวลง และการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยกเลิกการปรับลดกำลังการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนภายใต้สมมติฐานที่ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ "แบบทั่วไป" นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันเบรนท์มีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 58 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนธ.ค.ปีนี้ และ 50 ดอลลาร์ในเดือนธ.ค.ปีหน้า (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex พุ่งกว่า 1,000 จุด เก็งแบงก์ชาติลดดบ.พรุ่งนี้ ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นกว่า 1,000 จุด ขานรับความหวังที่ว่าสหรัฐจะเปิดช่องเจรจากับประเทศคู่ค้าเกี่ยวกับมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 74,227.08 บวก 1,089.18 จุด หรือ 1.49% (อินโฟเควสท์)  
ไทย
ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนยัง "ซบเซา" กังวลสถานการณ์โลก-สงครามการค้า หวังรัฐกระตุ้นศก.-ลุ้น กนง.หั่นดอกเบี้ย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมีนาคม 2568 (สำรวจระหว่างวันที่ 21-31 มีนาคม 2568) พบว่า ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" ที่ระดับ 60.93 นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และแนวโน้มการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสงครามการค้า ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน 2568) อยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ที่ระดับ 60.93 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลาดทุนไทยในเดือนมีนาคม 2568 เผชิญกับความท้าทายจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น ความกังวลต่อการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ  และเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาที่กระทบถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งกระทบต่อทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน และต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน (อินโฟเควสท์)
นายกฯ สั่งเจรจาสหรัฐต้อง "รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ" รมว.คลัง ยังไม่กำหนดวันเดินทางขอทบทวนเงื่อนไขให้ดีก่อน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่าน X หลังการประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกาว่า การวางยุทธศาสตร์รับมือมาตรการ Reciprocal Tariff และ liberation day ต้อง ‘รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ’ ซึ่งการประชุมวันนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์ กำหนดก้าวต่อไปอย่างรอบคอบและแม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจากับทางสหรัฐ พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้ร่วมคณะเจรจา มีการประสานนัดหมาย เพื่อทำการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น USTR และหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐเพื่อนำเอาข้อเสนอของไทยไปพูดคุย พร้อมย้ำว่า การเจรจาไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ แต่จะต้องใช้เวลาและมีการเจรจาในหลายระดับที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุด คือ การวางยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ คือต้อง "รู้เขา" และ "รู้เรา" วันนี้ เราเห็นนอกจากรูปแบบการตอบโต้ และรับมือต่อนโยบายของนายทรัมป์จากประเทศต่างๆ มีอะไรบ้าง และยังได้เห็นปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวตอบโต้ของประชาชนภายในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้อีกด้วย และ ยุทธศาสตร์และกระบวนการทำงานของรัฐบาลต้องทั้ง "เร็ว และ แม่นยำ" เร็ว : ขอย้ำว่าเรามีการจัดตั้งคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งเราตั้งก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งเป็นทางการเมื่อ 20 มกราคม และได้ประสานงานกับฝั่งทางสหรัฐอเมริกามาตลอด แม่นยำ : เรามีการเตรียมข้อมูลที่ครบและรอบด้าน มีการติดตามความเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินและหาข้อสรุปในการเจรจาที่จะมีต่อไปจากนี้ (อินโฟเควสท์)
"ทักษิณ" ชี้สูตรภาษีทรัมป์แค่เกมเจรจา ยอมรับซ้ำเติมศก.ไทย ถึงอ่วมแต่เอาอยู่! นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการให้คำแนะนำแก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประกาศนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% ว่า สหรัฐเลือกใช้สูตรนี้ เพราะต้องการให้แต่ละประเทศเข้าไปเจรจา ซึ่งวันนี้รัฐบาลได้ติดต่อขอเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว น่าจะคืบหน้าไปด้วยดี คงจะส่งตัวแทนไปเจรจา ซึ่งนายกรัฐมนตรีประชุมวันนี้คงจะชัดเจนแล้วว่าจะส่งใครไปเจรจา นายทักษิณ กล่าวว่า ระบบภาษี ระบบการกีดกันทางการค้าที่เราเคยมีในอดีตเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ไม่เคยแก้ไข จนเขามีความรู้สึกว่าเรากีดกันเขามากเกินไป เช่น รถจักรยานยนต์ ที่เขาผลิต "Harley–Davidson" มาแข่งอะไรกับคาวาซากิ ซูซูกิ ฮอนด้า ไม่แข่งหรอก แต่เราไปตั้งภาษีเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้ ก็คงต้องมาปรับในส่วนของเรา "แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะยอมไปเสียทุกอย่าง ลดภาษีเหลือศูนย์ก็ได้ แต่ถ้าศูนย์ ก็ต้องศูนย์ทั้งสองฝ่าย" นายทักษิณ กล่าว นายทักษิณ ยอมรับว่า วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจหนักกว่าเดิมมาก มีปัญหาซ้ำเติมหลายอย่าง แต่เชื่อว่าน่าจะเอาอยู่ ซึ่งคงต้องใช้เวลา "มันไม่เร็วเหมือนสมัยก่อน เมื่อก่อน ถ้าเศรษฐกิจเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ก็เหมือนหลังคาพัง ซ่อมง่าย แต่วันนี้ปล่อยทิ้งไว้นาน ฐานรากมันแย่ เสาผุพัง ต้องใช้วิธีการซ่อมที่ยากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น แต่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็น่าจะซ่อมแซมได้ดีขึ้น" นายทักษิณ กล่าว พร้อมยอมรับว่า การที่มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ย่อมทำให้การแก้ไขปัญหายากขึ้น เพราะมีหลากหลายความคิดเห็น บางทีก็ไม่สามารถชี้ให้เป็นทิศทางเดียวกันได้ทั้งหมด แต่จากการที่นายกรัฐมนตรีได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ก็เชื่อว่าจะทำความเข้าใจกันได้ดี (อินโฟเควสท์)
รมว.คลัง พร้อมยกเลิกห้ามชอร์ตเซลชั่วคราวก่อนกำหนด ผจก.ตลาดหุ้นเตือนสถานการณ์ยังผันผวน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยตกหนักวันนี้จริงแต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วยังต่ำกว่าบางประเทศ เนื่องจากตลาดบ้านเราตกมาระดับหนึ่งพอสมควรด้วยหลายสาเหตุ ซึ่งตลาดรับรู้ปัจจัยต่าง ๆ ไปแล้ว และเมื่อมีแรงขายหุ้นออกมาเงินที่ขายออกส่วนใหญ่ไปไหนโยกเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐ เมื่อมีคนเข้าไปซื้อพันธบัตรมาก ๆ ก็ทำให้ยีลด์ปรับลง ทำให้กองทุนมีกำไรก็จะหาจังหวะกลับเข้ามาซื้อหุ้น และแนวโน้มการกู้ของสหรัฐก็สูงขึ้น ก็ยังมีเงินพวกนี้รออยู่ อีกทั้งคนขายหุ้นออกไปก็จ้องจะซื้อคืน เมื่อสถานการณ์พลิกกลับก็จะเป็นจังหวะของการซื้อคืน สำหรับมาตรการชั่วคราวที่นำออกมาใช้ คือ การห้ามชอร์ดเซล เป็นการตัดสินด้วยความกล้าหาญเมื่อวานนี้ ปกติชอร์ตเซลล์เป็นเครื่องมือการป้องกันความเสี่ยง (hedge) ของบริษัทที่ลงทุนตามมาตรฐาน แต่เมื่อวานนี้เขาเดาได้ว่าในโลกนี้หุ้นจะลง คนก็อยากขายหุ้นก่อนแล้วค่อยกลับมาซื้อ ถ้าเรายอมอย่างนั้นเป็นการซ้ำเติมสองด้าน เพราะคนไม่มีมีหุ้นอยู่ในมือก็จะขาย คนอยากทำชอร์ตเซลก็อยากจะทำ เมื่อวานเผอิญเป็นวันหยุดราชการ เมื่อเห็นอาการแล้วทุกตลาดร่วงระเนระนาดกันถึง 5-6% ไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ ก็เลยต้องตัดสินใจจากการคาดเดาสถานการณ์ (อินโฟเควสท์)
ครม.ให้ลดค่าโอน-จดจำนองบ้าน-คอนโดไม่เกิน 7 ล้านถึง 30 มิ.ย.69 ควบคู่ LTV กระตุ้นอสังหา นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างสูง ดังนี้ 1. ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% จากปกติ 2% 2. ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน เหลือ 0.01% จากปกติ 1% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว  ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน นายเผ่าภูมิ ระบุว่า กระทรวงการคลัง ต้องการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูง จึงกำหนดระยะเวลามาตรการนี้ ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV โดยให้มาตรการนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 30 มิ.ย.69 "จากข้อมูลในอดีต เมื่อ 2 มาตรการนี้ทำงานควบคู่กัน ในช่วงเวลาเดียวกัน จะส่งผลบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก" รมช.คลัง ระบุ (อินโฟเควสท์)
ครม. เห็นชอบขยายเวลาโครงการแก้หนี้เกษตรกรลูกหนี้ 4 แบงก์รัฐต่ออีก 150 วัน นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติพิจารณาตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบผลดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 2. เห็นชอบให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 67 ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรถูกต้องครบถ้วนแล้ว และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ภายในวันที่ 30 พ.ย. 67 3. เห็นชอบให้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง คิดดอกเบี้ย และเบิกจ่ายเงินชดเชยเงินต้นครึ่งหลัง (50%) ที่พักไว้ทั้งจำนวนของเกษตรกร จำนวน 16,794 ราย และที่แจ้งเพิ่มเติมภายหลังที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 67 ได้ถึงวันที่ 30 พ.ย. 67 ทั้งนี้ ให้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ต้องควบคุมกรอบวงเงินที่ได้รับจัดสรรของแต่ละธนาคาร โดยไม่เกินกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 15,481.66 ล้านบาท ตามที่ครม. อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 4. เห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 68 โดยให้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการสิ้นสุดลงภายใน 150 วัน นับจากวันที่ครม. มีมติ ทั้งนี้ ต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 65 และ 11 ธ.ค. 67 ที่มาแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ภายในวันที่ 21 มี.ค. 68 (อินโฟเควสท์)  
ยอมถอย! วิปหารือบ่ายนี้จ่อเลื่อนถก กม.เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ นายกฯ ย้ำ "ไม่ถอน" แน่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันว่างานเรื่องอื่น ๆ ของรัฐบาลในขณะนี้มีความสำคัญกว่าการเสนอ ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพราะประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะล่าสุดมาตรการภาษีของสหรัฐ ที่จะต้องรีบแก้ปัญหา แต่รัฐบาลยังยืนยันจะไม่ถอนกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นเรื่องของปากท้องประชาชน เป็นโอกาสเศรษฐกิจของประเทศที่จะโตขึ้น มีเม็ดเงินเข้าประเทศ มีการจ้างงาน รวมทั้งเป็นจุดหมายท่องเที่ยวใหม่ แต่ถูกบิดเป็นประเด็นทางการเมือง กลายเป็นว่ารัฐบาลมุ่งเน้นการพนันซึ่งไม่ใช่ความตั้งใจ แต่จะใช้เวลาทำความเข้าใจรายละเอียดให้ชัดเจน และยังพร้อมรับฟังความเห็นรอบด้านอย่างต่อเนื่อง แต่หลังการหารือกับทางพรรคร่วมรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องของแผ่นดินไหว และเรื่องนโยบายภาษีสหรัฐก่อน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บุญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้จะหารือกับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) และผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องวาระการประชุมสภาฯ ในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หลังรับทราบจากการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ว่าในวันพรุ่งนี้จะยังไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อรอรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อน (อินโฟเควสท์)
"จุลพันธ์" ยันรัฐบาลไม่พับ "Entertainment Complex" ขอเน้นแก้ปัญหาสำคัญก่อน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แจ้งพรรคร่วมรัฐบาลขอเลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … (Entertainment Complex) ที่จะเข้าสภาฯ ในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) ว่า นายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น เรื่องการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา และสถานการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการอยู่พอสมควร เช่น การช่วยเหลือเยียวยา ทำให้ตอนนี้จึงต้องจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สภาฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในวันที่ 9 เม.ย.ก่อน ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร อาจไม่ทันกับการพิจารณาในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 11 เม.ย.นั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ยืนยันตรงกันว่าจะให้การสนับสนุนอยู่แล้ว และเชื่อว่าเป็นเรื่องดีที่ใช้เวลาจนกระทั่งถึงสมัยเปิดประชุมหน้า เพื่อไปทำความเข้าใจและชี้แจงกับประชาชนในประเด็นที่ยังมีความสับสน เพราะยังมีอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องของการพนัน กาสิโนอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องของเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดร่วงหนัก 50.62 จุด มาตรการชั่วคราวเอาไม่อยู่ พรุ่งนี้ลุ้นรีบาวด์จับตาสหรัฐเลื่อนเก็บภาษีหรือไม่ SET ปิดวันนี้ที่ 1,074.59 จุด ลดลง 50.62 จุด (-4.50%) มูลค่าซื้อขาย 66,790.73 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯ ระบุตลาดหุ้นไทยวันนี้ร่วงหนักกว่าคาด ปรับลงชดเชยเมื่อวานที่ปิดทำการไป ตอบรับประเด็นสงครามการค้าเป็นหลัก แม้บ้านเราจะมีมาตรการชั่วคราวลดความผันผวนแต่ช่วยได้ยาก ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังต้องรอภาครัฐเปิดเจรจาภาษีกับสหรัฐ และตลาดขาดแรงกระตุ้น แนวโน้มวันพรุ่งนี้ยังผันผวนลุ้นรีบาวด์ได้บ้าง แนะจับตาคืนนี้สหรัฐผ่อนปรนมาตรการภาษีหรือไม่ ให้กรอบแนวรับ 1,050 จุด และแนวต้าน 1,085 จุด (อินโฟเควสท์)  
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 34.80/82 อ่อนค่าสุดรอบ 5 เดือนสอดคล้องภูมิภาค ตลาดจับตามาตรการภาษีสหรัฐฯ นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 34.80/82 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 34.60 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.55 - 34.85 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเย็นนี้เงินบาทปิดในระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 5 เดือน (ตั้งแต่ พ.ย. 67) ระหว่างวันยังไร้ปัจจัยใหม่ คาดว่าเป็นแรงซื้อขายระหว่างวัน โดยตลาดรอจับตามาตรการภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นหลัก "เงินบาทอ่อนค่า จากแรงซื้อขายระหว่างวัน เนื่องจากเมื่อวานนี้ไทยหยุดทำการไป 1 วัน วันนี้ธุรกรรมจึงค่อนข้างแน่นทั้งซื้อและขาย และช่วงเย็นราคาทองกลับมาทะลุ 3,000 เหรียญดอลลาร์อีกครั้ง หลังจากที่เมื่อเช้าหลุด 3,000 ไป" นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.60 - 35.00 บาท/ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)  
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 116,836 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 116,836 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 50,364 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 1,125 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 4,100 ล้านบาท Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.62% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน +0.03% (อินโฟเควสท์)
ปัจจัยที่ต้องติดตาม

  • สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ. สหรัฐฯ
  • สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) สหรัฐฯ
  • คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) สหรัฐฯ
  • เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 18-19 มี.ค. สหรัฐฯ

 

แชร์เรื่องนี้

  • Facebook
  • Twitter
  • Line

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

News Demo
14
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
13
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
09
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ

Shortcut Menu

  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์/
    โครงสร้างพื้นฐาน
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนผลงานดี
  • ตารางจ่ายเงินปันผล
  • ข่าว/บทวิเคราะห์
  • กลยุทธ์การลงทุน
  • กำหนดการและแบบฟอร์ม
  • โปรโมชั่น
  • ปฏิทินกองทุน
  • ภาพกิจกรรม
  • ประกาศราคากลาง
  • AIMC Category
    Performance Report
  • ถาม-ตอบ
  • ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน
  • ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้
  • การตั้งค่าคุกกี้
  • สมัครรับข่าวสาร
  • ติดต่อเรา
  • ร่วมงานกับเรา
  • ประกาศความเป็นส่วนตัว
Go To Top
Stay Connect with us:
  • Facebook
  • Twitter
  • Youtube

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

KTAM Smart Plan: 0-2686-6100 กด 9 โทรสาร 0-2670-0430 ต่างจังหวัดโทรฟรี 1-800-295-592

อีเมล: callcenter@ktam.co.th

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0-1075-45000-37-3 : สำนักงานใหญ่

  • พันธมิตรธุรกิจ
  • เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
  • แผนผังเว็บไซต์

การใช้และการจัดการคุกกี้

เว็บไซต์ของบริษัทฯ มีการใช้งานคุกกี้ (cookies) เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณสามารถตั้งค่าและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ การใช้คุกกี้ของบริษัทฯ ได้ที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้ และ การตั้งค่าคุกกี้

 การใช้และการจัดการคุกกี้

เมื่อท่านเข้าใช้เว็บไซต์ของเรา เราใช้คุกกี้ที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ของเราจะ ทำงานได้อย่างถูกต้อง และเรายังใช้คุกกี้ประเภทอื่นๆ เพื่อรวบรวมพฤติกรรมการใช้ งานเว็บไซต์ของเราและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อสร้างประสบการณ์ การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งานคุกกี้ บางประเภทได้ตลอดเวลา และบริษัทจะไม่ใช้คุกกี้ที่ท่านเลือกปิดการใช้งาน

ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้


การกำหนดลักษณะความยินยอม

คุกกี้ที่จำเป็น

คุกกี้เหล่านี้ที่จำเป็นในการเปิดใช้คุณลักษณะการทำงานพื้นฐานของเว็บไซต์ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการเครือข่าย และการเข้าสู่ระบบ

คุกกี้วิเคราะห์

เราใช้คุกกี้ Google Analytics เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์โดยรวบรวมและรายงานข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ คุกกี้ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลที่ไม่ระบุตัวบุคคลโดยตรง