สหรัฐฯ
สหรัฐเผยดัชนี CPI +2.4% เดือนมี.ค. ต่ำกว่าคาดการณ์ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมี.ค.ในวันนี้ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 2.8% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมี.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าปรับตัวขึ้น 0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.0% จากระดับ 3.1% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.2% ในเดือนก.พ. (อินโฟเควสท์)
สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 223,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ทรงตัวที่ระดับ 223,000 ราย ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 43,000 ราย สู่ระดับ 1.85 ล้านราย (อินโฟเควสท์)
เฟดกังวลภาษีทรัมป์ฉุดศก. แต่ส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย เหตุวิตกเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค. โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความกังวลว่านโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันกรรมการเฟดส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบร้อนพยุงเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากคาดว่าการเพิ่มขึ้นของภาษีศุลกากรจะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นด้วย รายงานการประชุมซึ่งมีการเผยแพร่ในวันพุธ (9 เม.ย.) บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดตระหนักว่า เฟดกำลังดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนในภาคธุรกิจชะลอตัวลง นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังเรียกร้องให้ใช้แนวทางระมัดระวังในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดที่เข้าร่วมการประชุมในวันดังกล่าวประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยกรรมการส่วนใหญ่มองว่าความเสี่ยงที่มีต่อเงินเฟ้อนั้น มีแนวโน้มสูงขึ้น และความเสี่ยงที่มีต่อการจ้างงานมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ กรรมการบางคนมองว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) อาจเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากหากปัญหาเงินเฟ้อยังคงยืดเยื้อ ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอ่อนแอลง (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์" ไม่ปฏิเสธอาจขยายเวลาผ่อนผันการเก็บภาษี หากครบกำหนด 90 วัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่อาจมีการขยายเวลาระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ออกไปอีก หากครบกำหนดเวลา 90 วันที่เขาระบุไว้วานนี้ ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ถ้าเขาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่เขาต้องการจากประเทศคู่ค้า อัตราภาษีก็จะกลับสู่ระดับที่เขาเคยประกาศไว้ ทันทีที่ครบกำหนด 90 วัน "นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น มันจะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย" ปธน.ทรัมป์กล่าว อย่างไรก็ดี ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า สิ่งนี้หมายความว่าเขาจะไม่ต่อระยะเวลาผ่อนผันออกไปใช่หรือไม่ ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า "เราคงต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น" (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์" กลับลำแผนภาษีตอบโต้ แต่ยังเก็บขั้นต่ำ 10% เป็นเวลา 90 วัน เปิดทางเจรจาคู่ค้า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ว่า เขาจะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ลงเหลือแค่ 10% เป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดช่องให้มีการเจรจาการค้ากับประเทศเหล่านี้ จากเดิมที่เรียกเก็บบางประเทศกว่า 40% ทรัมป์ระบุผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการที่ประเทศต่าง ๆ กว่า 75 แห่งตัดสินใจติดต่อขอเจรจาหาทางออกในประเด็นการค้าที่ทรัมป์ยกขึ้นมา ทั้งเรื่องการปั่นค่าเงินและการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ทรัมป์กล่าวกับนักข่าวในภายหลังว่า เขาตัดสินใจระงับภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) เป็นการชั่วคราว ยกเว้นกับจีน เพราะเห็นว่าหลายฝ่ายเริ่มตื่นเต้นตกใจกันมากไปและกลัวกันเกินเหตุ ขณะที่การกลับลำแบบกะทันหันของเขาทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งแรง แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวย้ำว่า การเจรจากับประเทศคู่ค้าจะยังดำเนินต่อไประหว่างที่พักใช้มาตรการนี้ แต่ภาษีพื้นฐาน 10% ที่ใช้กับเกือบทุกประเทศจะยังคงอยู่ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังระบุผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดียอีกว่า เขาเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยมีผลทันที เนื่องจาก "จีนไม่ให้ความเคารพตลาดโลก" ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจีนได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 84% นอกเหนือจากจีนแล้ว ภาษีที่ถูกระงับชั่วคราวสำหรับคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ในเอเชียจะรวมถึงอัตรา 49% สำหรับสินค้าจากกัมพูชา, 46% สำหรับเวียดนาม, 36% สำหรับไทย, 25% สำหรับเกาหลีใต้ และ 24% สำหรับญี่ปุ่น (อินโฟเควสท์)
สหรัฐยันขณะนี้เรียกเก็บภาษีรวมต่อสินค้าจีนในอัตรา 145% ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ขณะนี้สหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากรรวมทั้งหมดต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145% เจ้าหน้าที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน สู่ระดับ 125% เมื่อวานนี้ แต่อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่รวมกับที่ปธน.ทรัมป์เรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% เพื่อลงโทษจีนที่ไม่ได้สกัดการไหลทะลักของยาเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ขณะนี้สหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145% (อินโฟเควสท์)
กลุ่มธุรกิจรถยนต์ในมิชิแกนวิจารณ์ทรัมป์ หลังไม่เบรกภาษีนำเข้ารถยนต์ หอการค้าภูมิภาคดีทรอยต์ (Detroit Regional Chamber) และมิชิแกนออโต้ (MichiganAuto) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจรถยนต์ในรัฐมิชิแกนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ หลังจากปธน.ทรัมป์ประกาศระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเป็นเวลา 90 วันในวันพุธ (9 เม.ย.) แต่ไม่ได้ระงับการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ กลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยเรียกร้องให้ปธน.ทรัมป์ปกป้องห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ซับซ้อน ไม่ให้ถูกกระทบจากการแตกกลุ่มทางการค้าที่ทำให้การแข่งขันทั่วโลกอ่อนแอลง แถลงการณ์ระบุว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของของรัฐมิชิแกน รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานและพนักงานที่ค้ำจุนอุตสาหกรรมแห่งนี้ จะยังคงต้องทนกับความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าที่มีความผันผวนเหล่านี้ พร้อมกับระบุว่า ปธน.ทรัมป์ยังคงเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 25% ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์เช่นกัน ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านยานยนต์ในดีทรอยต์คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ และแคนาดาอาจจะลดลง 1.8 ล้านคันในปีนี้ และอาจส่งผลให้ยอดขายหยุดชะงักลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า หากสงครามการค้าโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น (อินโฟเควสท์)
"ลุตนิก" ยันหุ้นตกไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ "ทรัมป์" ยอมถอยมาตรการขึ้นภาษี นายโฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ กล่าวยืนยันว่า แรงเทขายอย่างหนักในตลาดการเงินในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำการตัดสินใจวานนี้ในการประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน นอกจากนี้ ต่อคำถามที่ว่า บริษัทสหรัฐจะสามารถมั่นใจต่อทิศทางนโยบายของรัฐบาลในอนาคตได้หรือไม่ นายลุตนิกกล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ ควรพิจารณาให้ดีเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ "ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทต่าง ๆ จะต้องมีความเข้าใจต่อประเทศที่พวกเขาทำธุรกิจด้วย ซึ่งถ้าคุณทำธุรกิจในจีน หรือคุณทำธุรกิจในประเทศที่เป็นตัวแทนของจีน คุณก็จะต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้คิดว่าเรากำลังได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง" นายลุตนิกกล่าวต่อสำนักข่าว CNBC (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 1,014.79 จุด วิตกเทรดวอร์จีน-สหรัฐฯ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,593.66 จุด ลดลง 1,014.79 จุด หรือ -2.50%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,268.05 จุด ลดลง 188.85 จุด หรือ -3.46% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,387.31 จุด ลดลง 737.66 จุด หรือ -4.31% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดร่วง $2.28 วิตกสงครามการค้าฉุดดีมานด์น้ำมัน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากความวิตกกังวลว่าสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 2.28 ดอลลาร์ หรือ 3.66% ปิดที่ 60.07 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 2.15 ดอลลาร์ หรือ 3.28% ปิดที่ 63.33 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าหลัง CPI ชะลอตัว-วิตกสงครามการค้า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 1.99% แตะที่ระดับ 100.866 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดพุ่ง $98.10 ทำนิวไฮ รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 98.10 ดอลลาร์ หรือ 3.19% ปิดที่ 3,177.50 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ร่วง หลังเผยตัวเลขเงินเฟ้อต่ำคาด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด ณ เวลา 22.44 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.357% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.802% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
ตลาดบ้านอังกฤษมี.ค.ซบเซา เซ่นพิษมาตรการภาษีหมดอายุ บวกเศรษฐกิจน่าห่วง สถาบันผู้สำรวจอสังหาริมทรัพย์แห่งราชอาณาจักร (RICS) เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (10 เม.ย.) ว่า ตลาดบ้านในสหราชอาณาจักร (UK) ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในเดือนมี.ค. หลังจากมาตรการลดหย่อนภาษีอากรแสตมป์ที่เคยกระตุ้นตลาดได้สิ้นสุดลง ประกอบกับความกังวลเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการซื้อบ้านลดลงอย่างมาก ผลสำรวจของ RICS ระบุว่า ดัชนีสอบถามความสนใจจากผู้ซื้อรายใหม่ดิ่งลงสู่ระดับสุทธิ -32 ในเดือนมี.ค. จาก -16 ในเดือนก.พ. ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนก.ย. 2566 ขณะเดียวกัน ยอดขายบ้านที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนดัชนีราคาบ้าน ซึ่งสะท้อนมุมมองของผู้สำรวจว่าราคาบ้านเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ +2 ในเดือนมี.ค. จาก +11 ในเดือนก.พ. นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนส.ค. 2567 และต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ RICS ระบุว่า เป็นที่คาดกันอยู่แล้วว่าการสิ้นสุดมาตรการลดหย่อนภาษีอากรแสตมป์จะทำให้ตลาดหยุดชะงักไปชั่วคราว แต่สถานการณ์กลับดูแย่ลงไปอีกจากกระแสข่าวเชิงลบเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา RICS ยังตั้งข้อสังเกตว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่น ๆ อาจยิ่งสร้างความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดเพิ่มเติมในเดือนหน้า (อินโฟเควสท์)
EU ชะลอมาตรการตอบโต้สหรัฐออกไป 90 วัน! หลัง "ทรัมป์" ยอมถอย นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) จะชะลอการใช้มาตรการตอบโต้การเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดทางสำหรับการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้าของทั้งสองฝ่าย การตัดสินใจดังกล่าวของ EU มีขึ้น หลังจากที่เมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้มีการระงับการเรียกเก็บภาษี 20% ต่อสินค้านำเข้าจาก EU โดยมีการปรับลดลงมาเหลือเพียง 10% เป็นเวลา 90 วัน เช่นเดียวกับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐ ยกเว้นจีน "เราต้องการให้โอกาสสำหรับการเจรจา ซึ่งหากการเจรจาไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ เราก็จะใช้มาตรการตอบโต้โดยทันที โดยทางเลือกทุกอย่างยังคงอยู่บนโต๊ะเจรจา" นางฟอน เดอร์ เลเยน กล่าว (อินโฟเควสท์)
EU ชี้ ทรัมป์พักเก็บภาษีชั่วคราว เป็นก้าวสำคัญหนุนเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวในวันนี้ (10 เม.ย.) ว่า การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ในการระงับการเก็บภาษีนำเข้าอัตราสูงกับหลายสิบประเทศชั่วคราวนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลก ทรัมป์ประกาศท่าทีที่สร้างความประหลาดใจเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ด้วยการระงับภาษี 20% ที่เพิ่งบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) เมื่อสัปดาห์ก่อนไว้ชั่วคราว โดยปรับลดลงมาเหลือแค่ 10% เป็นเวลา 90 วัน เช่นเดียวกันกับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ยกเว้นจีน ฟอน เดอร์ เลเยน ผู้นำฝ่ายบริหารของ EU กล่าวต้อนรับการตัดสินใจครั้งนี้ และกล่าวว่า EU ยังคงมุ่งมั่นเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าให้เกิด "การค้าที่ไร้อุปสรรคและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย" ฟอน เดอร์ เลเยน ย้ำว่า กำแพงภาษีส่งผลเสียต่อทั้งธุรกิจและผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องอีกครั้งให้มี "ข้อตกลงภาษีนำเข้าเป็นศูนย์" ระหว่าง EU กับสหรัฐฯ "เงื่อนไขการค้าที่ชัดเจนและคาดการณ์ได้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การค้าและห่วงโซ่อุปทานดำเนินไปได้" ฟอน เดอร์ เลเยน ระบุผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) (อินโฟเควสท์)
BoE เตือนความเสี่ยงโลกพุ่งสูง เสี่ยงกระทบเสถียรภาพการเงินอังกฤษ ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ออกคำเตือนเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ว่า สถานการณ์ความเสี่ยงทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมชี้ถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่ขยายไปทั่วโลก รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FPC) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 และ 8 เม.ย.ระบุว่า ความแตกแยกที่เพิ่มขึ้นในระบบการค้าและตลาดการเงินโลกเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน BoE มองว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศที่อ่อนแอลง ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะที่พุ่งสูง ล้วนบั่นทอนความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รายงานยังเน้นย้ำว่า อังกฤษซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีภาคการเงินขนาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากความเสี่ยงระดับโลกเหล่านี้ในแง่ของเสถียรภาพทางการเงิน นอกจากนี้ BoE ยังเตือนว่า ตลาดการเงินอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการปรับฐานอย่างรุนแรงเพิ่มเติม หลังจากการปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์ทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดพุ่งแรงสุดในรอบกว่า 3 ปี หลังทรัมป์เลื่อนเก็บภาษีนำเข้า ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) โดยดัชนีส่วนใหญ่ทำสถิติปรับตัวขึ้นรายวันมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2565 หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการจัดเก็บภาษีตอบโต้กับประเทศคู่ค้าหลายแห่ง ส่งผลให้ตลาดดีดตัวขึ้นอย่างมาก หลังจากที่เผชิญกับแรงขายอย่างหนักก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 487.28 จุด เพิ่มขึ้น 17.39 จุด หรือ +3.70% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,126.02 จุด เพิ่มขึ้น 263.00 จุด หรือ +3.83%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 20,562.73 จุด เพิ่มขึ้น 891.85 จุด หรือ +4.53% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,913.25 จุด เพิ่มขึ้น 233.77 จุด หรือ +3.04% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดพุ่ง 233.77 จุด ขานรับทรัมป์เบรกภาษีนำเข้า ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ชะลอการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศเป็นเวลา 90 วัน ช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกของนักลงทุนหลังตลาดทั่วโลกผันผวนหนักก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,913.25 จุด เพิ่มขึ้น 233.77 จุด หรือ +3.04% (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
เงินเฟ้อค้าส่งญี่ปุ่นมี.ค.พุ่ง 4.2% ส่อทำ BOJ เจองานยาก ท่ามกลางข้อกังวลภาษีทรัมป์ ดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดระดับราคาสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บระหว่างกัน เร่งตัวขึ้นเป็น 4.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% และขยับขึ้นจาก 4.1% ในเดือนก.พ. ตัวเลขเงินเฟ้อค้าส่งนี้สะท้อนว่าแรงกดดันด้านต้นทุนของภาคธุรกิจยังคงสูงอยู่ ตัวเลขที่สูงกว่าคาดนี้ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องชั่งน้ำหนักระหว่างแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศ กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ข้อมูลจาก BOJ ชี้ว่า ราคาสินค้าหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น เช่น ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และราคาปิโตรเลียมและถ่านหินพุ่งขึ้นถึง 8.6% ภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่นี้ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่กำลังกังวลกับความไม่แน่นอนจากนโยบายเก็บภาษีสินค้านำเข้าของปธน.ทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก (อินโฟเควสท์)
UBS เตือนภาษีทรัมป์อาจฉุด GDP ญี่ปุ่นลดฮวบปีนี้ นักวิเคราะห์ของยูบีเอส (UBS) กล่าวว่า การกำหนดภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ อาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2568 โดยระบุว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นในปี 2568 อาจลดลง 0.8 จุดเปอร์เซ็นต์ หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) ที่ 24% กับสินค้าญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ยกเว้นเซมิคอนดักเตอร์ ยา และสินค้ารถยนต์บางประเภท ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เตือนว่า ผลกระทบอาจรุนแรงกว่านี้ โดย GDP อาจหดตัวลงมากถึง 1.9 จุดเปอร์เซ็นต์ หากภาษียังคงอยู่ในระดับสูง และคาดว่า ภาษีดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญกับภาวะอุปสงค์ที่ลดลงด้วย ขณะที่การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชน (Capex) ก็อาจจะถูกกดดันจากความต้องการส่งออกที่ลดลง นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า การเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ อาจทำให้อัตราภาษีศุลกากรที่แท้จริง (effective tariff rates) ลดลงเหลือประมาณ 10-15% ภายในสิ้นปีนี้ ยูบีเอสประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2569 และนักวิเคราะห์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% หากอัตราภาษีเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 10-15% ภายในสิ้นปีนี้ ยูบีเอสยังคาดการณ์ด้วยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1.1-1.3% และยูบีเอสปรับลดคาดการณ์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นในปีงบการเงิน 2568 จากเดิมที่ +4% ลงเหลือ -2% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดพุ่งกว่า 9% ทะยานแรงสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดพุ่งขึ้นกว่า 9% ในวันนี้ (10 เม.ย.) นับเป็นการปรับตัวขึ้นรายวันมากที่สุดอันดับ 2 เป็นประวัติการณ์ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตัดสินใจระงับการเก็บภาษีนำเข้าบางรายการที่เคยประกาศไว้กับประเทศคู่ค้า รวมถึงญี่ปุ่น สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดบวก 2,894.97 จุด หรือ +9.13% สู่ระดับ 34,609.00 จุด (อินโฟเควสท์)
จีน
จีนเผย CPI เดือนมี.ค.ลดลง 0.1%, PPI ร่วง 2.5% บ่งชี้จีนเผชิญเงินฝืด สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ (10 เม.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ลดลง 0.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ลดลง 0.7% ในเดือนก.พ. ดัชนี CPI เดือนมี.ค.ออกมาสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัว ซึ่งบ่งชี้ว่าจีนยังคงเผชิญภาวะเงินฝืด ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนราคาสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ร่วงลง 2.5% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2567 และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลง 2.3% ทั้งนี้ ดัชนี PPI เดือนมี.ค.ของจีนลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 29 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเงินฝืดที่จีนเผชิญเป็นเวลานาน (อินโฟเควสท์)
มาตรการภาษีตอบโต้ของจีนมีผลบังคับใช้แล้ว สหรัฐฯ โดนอ่วม 84% จีนประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าสหรัฐฯ ทุกรายการ สูงถึง 84% มีผลแล้ววันนี้ (10 เม.ย.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ สั่งขึ้นภาษีสินค้าจีนทั้งหมดเป็น 125% นับเป็นการกระทำที่ยิ่งทำให้สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกดุเดือดยิ่งขึ้น สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า มาตรการนี้เปิดเผยเมื่อเย็นวันพุธ (9 เม.ย.) พร้อมคำเตือนจากจีนว่าจะ "สู้จนถึงที่สุด" หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม เดิมที จีนวางแผนจะขึ้นภาษีเพียง 34% เพื่อตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ แต่ได้ตัดสินใจเพิ่มอัตราภาษีเป็นการตอบโต้แบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ขณะเดียวกัน จีนยังได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทสหรัฐฯ 6 แห่ง ในฐานะ "หน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ" (unreliable entities) ซึ่งจะถูกคว่ำบาตรเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางทหารกับไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานสหรัฐฯ อีก 12 แห่ง ถูกขึ้นบัญชีควบคุมการส่งออกของจีนด้วย กระทรวงพาณิชย์จีนวิจารณ์การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ว่าเป็น "ความผิดพลาดร้ายแรงที่ซ้ำเติมความผิดพลาดเดิม" และชี้ว่าการกระทำดังกล่าว "สะท้อนพฤติกรรมรังแกแต่เพียงฝ่ายเดียว" ของสหรัฐฯ กระทรวงฯ ย้ำว่า จีนไม่ต้องการสงครามการค้า แต่จะ "ไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อสิทธิอันชอบธรรมและผลประโยชน์ของประชาชนถูกละเมิดและถูกพรากไป" พร้อมยืนยันว่าจีนจะตอบโต้กลับ "ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่และวิธีการมากมาย" อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังคงเรียกร้องให้มีการเจรจากับสหรัฐฯ "อย่างเท่าเทียม" เพื่อแก้ไขข้อกังวลของทั้งสองฝ่าย (อินโฟเควสท์)
ไต้หวันจ่อทุ่ม 2 แสนล้านดอลล์ซื้อสินค้าสหรัฐฯ-เพิ่มนำเข้า LNG หวังบรรลุข้อตกลงการค้า กัว จื้อฮุย รัฐมนตรีเศรษฐกิจไต้หวัน เปิดเผยในวันนี้ (10 เม.ย.) ว่า ไต้หวันเตรียมเสนอแผนซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดทศวรรษหน้า และอาจเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ เป็น 30% เพื่อช่วยให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไต้หวันน้อยลง หวังนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงการค้า ข้อเสนอนี้เน้นการจัดซื้อผ่านหน่วยงานรัฐเป็นหลัก และมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เพิ่งสั่งพักการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไต้หวันตามที่เคยขู่ไว้ รมว.เศรษฐกิจยืนยันตัวเลข 2 แสนล้านดอลลาร์ในสภาฯ และระบุว่า การเพิ่มสัดส่วนนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ จากเดิม 10% เป็น 30% นั้น เป็นแนวทางที่กำลังพิจารณา ความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปตามที่ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ เคยให้คำมั่นไว้เมื่อวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) ว่าจะเจรจาข้อตกลงปลอดภาษีกับสหรัฐฯ รวมถึงเพิ่มการนำเข้าและการลงทุนจากสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยขู่จะขึ้นภาษีสินค้าไต้หวันถึง 32% (ยกเว้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งกระทบตลาดอย่างหนัก ก่อนที่ปธน.ทรัมป์จะสั่งระงับชั่วคราว เจ้าหน้าที่ไต้หวันแสดงความหวังต่อการเจรจา โดยหลิน เจียหลง รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า การพักเก็บภาษีนำเข้าเปิดทางให้สามารถเจรจาลงรายละเอียดได้ลึกขึ้น และยืนยันว่าสหรัฐฯ ได้รับข้อเสนอและตอบกลับแล้ว โดยหวังสร้าง "แนวร่วมไต้หวัน-สหรัฐฯ" จั๋ว หรงไท่ นายกรัฐมนตรี เสริมว่า รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้พูดคุยกับสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาและมีประสิทธิภาพ (อินโฟเควสท์)
จีนส่งสัญญาณเปิดกว้างเจรจาสหรัฐ แต่ต้องเป็นธรรม ไม่ใช่การข่มขู่ นายเหอ หย่งเฉียน โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีน กล่าวเรียกร้องให้สหรัฐกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า แต่การเจรจาจะต้องมีความเป็นธรรม ไม่ใช่การข่มขู่ นายเหอกล่าวว่า จีนยังคงเปิดกว้างต่อการเจรจากับสหรัฐ แต่การเจรจาที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และการเคารพซึ่งกันและกัน เนื่องจากการใช้แรงกดดันและการข่มขู่จากสหรัฐจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ นอกจากนี้ นายเหอย้ำว่า หากสหรัฐต้องการทำสงครามการค้ากับจีน จีนก็จะต่อสู้จนถึงที่สุด "การใช้แรงกดดัน การข่มขู่ การแบล็กเมล ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการเจรจากับจีน เราหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะพบกันครึ่งทาง และดำเนินการแก้ไขความขัดแย้งผ่านทางการหารือและการปรึกษาบนหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และร่วมมือกันเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย" นายเหอกล่าว (อินโฟเควสท์)
สื่อจีนเรียกร้อง PBOC ลดดอกเบี้ยสู้ศึกภาษีทรัมป์ หลังมะกันรีดโหด 125% หนังสือพิมพ์ซีเคียวริตีส์ เดลี (Securities Daily) ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีนได้เสนอแนะว่า ถึงเวลาแล้วที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราส่วนการกันสำรอง (RRR) ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่คุกคามแนวโน้มการเติบโตของประเทศ ซีเคียวริตีส์ เดลีได้ตีพิมพ์บทความหน้าแรกในวันนี้ (10 เม.ย.) ระบุว่า PBOC ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยและ RRR ของธนาคารพาณิชย์ โดยชี้ว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนภายนอก ส่งสัญญาณด้านนโยบายที่ชัดเจน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม และรักษาเสถียรภาพของตลาด ทั้งนี้ ความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 125% เมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ผนวกกับข้อมูลล่าสุดจากทางการจีนที่เปิดเผยในวันนี้แสดงให้เห็นว่า จีนเผชิญภาวะเงินฝืดต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา PBOC ได้ส่งสัญญาณถึง 4 ครั้งตั้งแต่เดือนมี.ค.ว่า จะลดต้นทุนการกู้ยืมและปริมาณเงินสำรองของธนาคาร อีกทั้งยังให้คำมั่นในสัปดาห์นี้ว่าจะสนับสนุนกองทุนของรัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดทุน (อินโฟเควสท์)
ผู้นำจีนเตรียมประชุมหารือแผนกระตุ้นศก.วันนี้ หลังทรัมป์รีดภาษีเพิ่มเป็น 125% คณะผู้นำจีนเตรียมจัดการประชุมในวันนี้ (10 เม.ย.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ยกระดับการทำสงครามการค้ากับจีนด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 125% แหล่งข่าวเปิดเผยกับสื่อต่างประเทศว่า การประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะกำหนดมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพในตลาดทุน นอกจากนี้ ที่ประชุมจะมุ่งเน้นไปที่การใช้มาตรการสนับสนุนภาคครัวเรือน การใช้จ่ายของผู้บริโภค และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ขณะเดียวกันแหล่งข่าวกล่าวว่ากำหนดการประชุมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง การประชุมของคณะผู้นำจีนในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปธน.ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับจีนในสัปดาห์ที่แล้ว (อินโฟเควสท์)
จีนเพิ่มบริษัทสหรัฐฯ 12 แห่ง เข้าบัญชีควบคุมการส่งออก โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนประกาศเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ว่า จีนได้เพิ่มบริษัทสหรัฐฯ จำนวน 12 แห่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของจีน อาทิ อเมริกัน โฟโทนิกส์ (American Photonics) และโนโวเทค อิงก์ (Novotech, Inc.) เข้าในบัญชีควบคุมการส่งออกสินค้า เริ่มตั้งแต่เวลา 12.01 น. ของวันนี้ (10 เม.ย.) โฆษกกระทรวงฯ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวห้ามส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางไปยังบริษัททั้ง 12 แห่งนี้ และต้องยุติกิจกรรมการส่งออกที่เกี่ยวข้องทันที และหากมีกรณีจำเป็นต้องส่งออกเป็นพิเศษ ผู้ส่งออกจะต้องยื่นคำขออนุมัติล่วงหน้า สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า โฆษกกระทรวงฯ ย้ำว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของจีน และผู้ส่งออกจะต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมเหล่านี้โดยเด็ดขาด (อินโฟเควสท์)
จีนเตรียมลดนำเข้าภาพยนตร์ฮอลลีวูด ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนมีแผนที่จะลดการนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐ แม้ว่าผลกระทบยังคงไม่ชัดเจนในขณะนี้ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐยังคงเป็นธุรกิจที่มีการเกินดุลทางการค้าจำนวนมากกับจีน เนื่องจากภาพยนตร์จีนยังคงไม่สามารถเจาะตลาดภาพยนตร์กระแสหลักในภูมิภาคอเมริกาเหนือ แม้ว่าสามารถทำรายได้อย่างมากในตลาดจีน (อินโฟเควสท์)
จีน-EU ย้ำจุดยืนร่วม ปกป้องระบบการค้าพหุภาคี โดยมี WTO เป็นแกนกลาง กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงวันนี้ (10 เม.ย.) ว่า จีนและสหภาพยุโรป (EU) ตกลงที่จะร่วมมือกันสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า แถลงการณ์นี้มีขึ้นหลังจากการหารือผ่านวิดีโอเมื่อวันอังคาร (8 เม.ย.) ระหว่างหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน และมารอช เชฟโชวิช คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยในหลายประเด็น ทั้งการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-EU และแนวทางการรับมือกรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการที่เรียกว่า "ภาษีตอบโต้" (reciprocal tariff) หวังชี้ว่า มาตรการ "ภาษีตอบโต้" ของสหรัฐฯ เป็นการละเมิดผลประโยชน์โดยชอบธรรมของประเทศอื่นอย่างร้ายแรง ขัดต่อกฎเกณฑ์ของ WTO ทำลายระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก หวังกล่าวว่า การกระทำของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างชัดเจนของแนวคิดการดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว การกีดกันทางการค้า และการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจรังแกผู้อื่น จีนคัดค้านเรื่องนี้อย่างยิ่ง และได้ดำเนินมาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง "ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า และการกีดกันทางการค้าไม่นำไปสู่อะไร" หวังกล่าว หวังย้ำว่า จีนพร้อมที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านการเจรจาหารือ แต่ก็พร้อมจะต่อสู้ถึงที่สุดหากสหรัฐฯ ยังคงดึงดันที่จะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป (อินโฟเควสท์)
โกลด์แมนแซคส์หั่นเป้า GDP จีน หลังทรัมป์ขึ้นภาษีรอบใหม่ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนลงอย่างมาก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะโตเพียง 4% ในปี 2568 และ 3.5% ในปี 2569 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.5% และ 4.0% ตามลำดับ โดยระบุว่าการปรับลดครั้งนี้เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างหนักหน่วง การปรับลดคาดการณ์นี้มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 125% จากเดิมที่ระดับ 104% ที่เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า แม้การขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในอนาคตอาจส่งผลกระทบน้อยลงตามลำดับ แต่การขึ้นภาษีครั้งใหญ่นี้คาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของจีนอย่างหนัก วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ รายนี้ยังคาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนจะตอบสนองด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยขณะนี้คาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.60% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะลด 0.40% อย่างไรก็ตาม โกลด์แมน แซคส์ เตือนว่า แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเหล่านี้ ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบเชิงลบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ได้ทั้งหมด (อินโฟเควสท์)
จีนประกาศค้นพบแร่ควอตซ์บริสุทธิ์สูง สำคัญต่ออุตสาหกรรมไฮเทค กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีนประกาศให้ควอตซ์ที่มีความบริสุทธิ์สูงเป็นแร่ชนิดที่ 174 ของจีนอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการค้นพบแหล่งแร่หลายแห่งภายในประเทศ โดยการประกาศครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่จีนกำลังเผชิญหน้าในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ครองส่วนแบ่งแร่ควอตซ์บริสุทธิ์สูงเป็นอันดับต้นของโลก ขณะที่แร่ชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเปิดเผยว่า แหล่งแร่ควอตซ์บริสุทธิ์สูงถูกค้นพบในหลายพื้นที่ของจีน รวมถึงทางตะวันออกของเทือกเขาชิงหลิงในมณฑลเหอหนาน ภาคกลาง และอัลไตในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การค้นพบนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุความก้าวหน้าในการสำรวจแร่ของจีน โดยการกำหนดให้ควอตซ์บริสุทธิ์สูงเป็นแร่ชนิดใหม่นั้นมีนัยสำคัญต่อการคุ้มครองและการพัฒนา อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการรับประกันความมั่นคงสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและห่วงโซ่อุปทานของประเทศ เหมา จิงเหวิน นักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีน กล่าวว่า ควอตซ์บริสุทธิ์สูงคือหินที่สามารถนำมาแปรรูปและทำให้บริสุทธิ์เพื่อให้ได้ซิลิคอนไดออกไซด์ที่มีความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 99.995% มีคุณสมบัติทนทานต่ออุณหภูมิสูง ทนต่อการกัดกร่อน การขยายตัวทางความร้อนต่ำ เป็นฉนวนไฟฟ้าดี และให้แสงส่องผ่านแสงได้ ซึ่งตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และโซลาร์เซลล์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดบวก 36.83 จุด รับความหวังจีนเจรจาภาษีสหรัฐฯ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกในวันนี้ (10 เม.ย.) ซึ่งเป็นการปิดในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 โดยได้แรงหนุนจากจากการที่นักลงทุนคาดหวังว่าจีนและสหรัฐฯ จะเจรจากัน หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทั้งนี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,223.64 จุด เพิ่มขึ้น 36.83 จุด หรือ +1.16% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดพุ่ง 417.29 จุด หลังทรัมป์เบรกรีดภาษี ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดพุ่งขึ้นในวันนี้ (10 เม.ย.) ตามทิศทางตลาดหุ้นอื่น ๆ ในเอเชีย หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศต่าง ๆ เป็นเวลา 90 วัน ยกเว้นจีน ดัชนีฮั่งเส็งปิดที่ระดับ 20,681.78 จุด เพิ่มขึ้น 417.29 จุด หรือ +2.06% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
แบงก์ชาติฟิลิปปินส์หั่นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 5.5% ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 5.5% ในวันนี้ (10 เม.ย.) เพื่อช่วยเศรษฐกิจรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสงครามการค้าระหว่างประเทศ BSP นับเป็นธนาคารกลางแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตามหลังอินเดียและนิวซีแลนด์ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ประเทศคู่ค้า จนส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วนและเกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯ-เวียดนาม ตกลงเริ่มเจรจาการค้า หลังทรัมป์ระงับขึ้นภาษี สหรัฐอเมริกาและเวียดนามเห็นพ้องกันที่จะเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้า หลังจากที่สหรัฐฯ ตัดสินใจระงับการเรียกเก็บภาษีสินค้าจากเวียดนามในอัตรา 46% เป็นเวลา 90 วัน หลังการประชุมระหว่างโฮ ดึ๊ก ฟุก รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม และเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน รัฐบาลเวียดนามระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ เวียดนามยังให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนสหรัฐฯ และจะเพิ่มความพยายามเพื่อต่อสู้กับการฉ้อโกงการค้า ทั้งนี้ เวียดนามเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับบริษัทตะวันตกหลายแห่ง โดยเวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 1.23 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว (อินโฟเควสท์)
"อี แจ-มยอง" อดีตผู้นำฝ่ายค้านเกาหลีใต้ ประกาศลงชิงตำแหน่งปธน. อี แจ-มยอง อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย (DP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ ประกาศผ่านคลิปวิดีโอในวันนี้ (10 เม.ย.) ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อีเพิ่งลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่า อีเตรียมจะลงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนอดีตประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 เม.ย. สืบเนื่องมาจากกรณียุนประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว อี ผู้ซึ่งเคยพ่ายแพ้ต่อยุนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2565 ด้วยคะแนนที่สูสีอย่างยิ่ง ได้รับการคาดหมายว่าเป็นตัวเต็งในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ผลสำรวจจากฟลาวเวอร์ (Flower) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็นในท้องถิ่น พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 49.6% ระบุว่าจะลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรค DP ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหน้า ขณะที่ 29.5% สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้สนับสนุนพรรค DP อีเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับตำแหน่งแคนดิเดตชิงประธานาธิบดี โดยได้รับคะแนนสนับสนุนถึง 85.5% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ตลาดหุ้นอินเดียปิดทำการวันนี้ (10 เม.ย.) เนื่องในวันมหาวีรชยันติ (Mahavir Jayanti) (อินโฟเควสท์)
ไทย
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมี.ค. ลดต่อเดือนที่ 2 กังวลภาษีทรัมป์ กดศก.ไทยฟื้นช้า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมี.ค.68 อยู่ที่ 56.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทย และทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 50.5, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 54.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.4 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน โดยปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.นี้ ได้แก่ ความกังวลต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0, ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ, ความกังวลต่อเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือได้รับความเสียหาย, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ, ปัญหา PM2.5 และความกังวลภาวะภัยแล้งที่จะกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร, อุตสาหกรรม และครัวเรือน (อินโฟเควสท์)
สรรพากร โชว์จัดเก็บรายได้ครึ่งแรกปีงบ 68 เกินเป้า 1.1% แตะ 9.7 ล้านลบ. นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเดือนมี.ค.68 ผลการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 170,473 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,603 ล้านบาท คิดเป็น 4% และสูงกว่าประมาณการจัดเก็บภาษีสรรพากรตามเอกสารงบประมาณ 1,088 ล้านบาท คิดเป็น 0.6% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายได้สะสม 6 เดือน (ต.ค.67 - มี.ค.68) กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ รวม 966,200 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 36,213 ล้านบาท คิดเป็น 3.9% และสูงกว่าประมาณการฯ 10,158 ล้านบาท คิดเป็น 1.1% อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ผลการจัดเก็บรายได้ในเดือนมี.ค.นั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศ (ภ.พ. 30) ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยกรมสรรพากร สามารถจัดเก็บ ภ.พ. 30 ได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.6% ขณะเดียวกันกรมสรรพากร ได้จัดทำข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า (Advance Pricing Arrangement: APA) ระหว่างกรมสรรพากรไทยกับกรมสรรพากรต่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากธุรกรรมข้ามพรมแดนที่เป็นธรรมแก่ประเทศไทย นอกจากนี้ ในส่วนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 3 เม.ย.68 มีแบบที่ยื่นมาแล้วทั้งหมดจำนวน 11.12 ล้านแบบ โดยเป็นแบบที่มีการขอคืนภาษี 4.37 ล้านแบบ หรือ 39% ซึ่งกรมสรรพากรได้ดำเนินการคืนภาษีเรียบร้อยแล้ว 83% ของแบบที่มีการขอคืนภาษี (อินโฟเควสท์)
“พิชัย" มั่นใจไทยอ่านเกมขาด! สหรัฐฯ ชะลอภาษีตอบโต้ เปิดช่องต่อรองใหม่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ เลื่อนกำหนดการบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน ว่า เชื่อว่าทั่วโลกต่างแปลกใจ เพราะยากจะเดาทิศทางของสหรัฐฯ ได้ถูกต้อง แต่สำหรับรัฐบาลไทย ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่คาดเดาไว้แล้วว่า สุดท้ายแล้วสถานการณ์จะออกมาในลักษณะนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐจะปรับขึ้นภาษีในอัตราสูงตามที่ประกาศออกมาในครั้งแรก เพราะจะสร้างความเสียหายต่อทุกประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ เองด้วย พร้อมระบุว่า เมื่อมีการเลื่อนใช้มาตรการภาษีตอบโต้ออกไปก่อน แผนการดำเนินงานหลัก ๆ ของไทยคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมีทิศทางหลัก ๆ ไว้หมดแล้ว แต่ยอมรับว่าต้องปรับบางเรื่องให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้เลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้ให้ทั้งโลก แต่เลื่อนให้เฉพาะบางกลุ่มประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยต้องมาดูว่าส่วนที่ไม่ได้ถูกเลื่อน จะเกิดอะไรขึ้น และไทยจะสามารถเข้าไปเติมเต็มสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร นายพิชัย เชื่อว่า การเดินทางเพื่อไปเจรจากับสหรัฐฯ คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว โดยเบื้องต้น จะนัดพูดคุยกับสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ก่อน ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ เพื่อดูทิศทางว่าไทยจะสามารถดำเนินการตามข้อเสนอต่าง ๆ ได้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าสุดท้ายระดับนโยบายของสหรัฐฯ ก็จะต้องมาหารือกับระดับปฏิบัติการก่อนอยู่แล้ว ซึ่งหากไทยไปคุยกับระดับนโยบายเร็วเกินไป จะทำให้กลับตัวไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องทำให้มั่นใจก่อนว่าสิ่งที่รัฐบาลเตรียมจะนำไปเสนอนั้น จะสามารถปฏิบัติได้จริง และเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล รวมถึงจะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย (อินโฟเควสท์)
นายกฯ เผยสหรัฐตอบรับคำขอให้ทีมไทยเข้าเจรจาต่อรองมาตรการภาษีตอบโต้แล้วรอกำหนดวัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศระงับมาตรการเก็บกำแพงภาษีตอบโต้ออกไป 90 วันว่า หลายประเทศคงต้องต่อคิวคุยกับสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยต้องใช้เวลานี้เตรียมแผนการเจรจาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และมองทุกมิติ ซึ่งค่อนข้างครบอยู่แล้ว เหลือเพียงเวลาที่จะได้ไปเจรจาพูดคุยกัน ส่วนนายพิชัย ชุนหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเดินทางไปเจรจาสหรัฐฯ เมื่อไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่กำหนดวัน ตอนนี้ยังไม่ได้คิว ซึ่งทางการสหรัฐตอบรับมาแล้วว่าจะให้นัดเข้าพบเพื่อเจรจารอกำหนดวัน ทั้งนี้ การจับมือกับประเทศในอาเซียนไปคุยกับสหรัฐฯ จะมีพลังมากกว่าไปคุยกับสหรัฐเดี่ยวเดี่ยวหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราคงทำทุกรูปแบบที่จะช่วยทั้งประเทศเรา และอาเซียนด้วย อะไรที่จับมือกับอาเซียนแล้วมีพลังมากกว่าก็ดี แต่ก็ต้องทำของประเทศเราด้วย คิดว่าทุกประเทศก็ทำแบบนี้เช่นกัน เมื่อถามถึงกรณีที่มีการจับกุมนักวิชาการสหรัฐฯ ในคดีมาตรา 112 จะกลายเป็นเงื่อนไขในการเจรจากับสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คุยด้วยความแฟร์อยู่แล้ว นายโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดการเจรจาเพื่อความแฟร์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องต่อรองด้วยความแฟร์ (อินโฟเควสท์)
คลัง คาดชงชื่อ "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" คนใหม่ เสนอครม.หลังสงกรานต์ นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ทาบทามนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แทนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระในเดือน ก.ย.68 คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากนายสถิตย์ในเร็ว ๆ นี้ สำหรับการเสนอชื่อนายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท. คนใหม่นั้น นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอให้ส่วนที่รับผิดชอบ เสนอรายละเอียดขึ้นมาให้พิจารณารายละเอียด ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป "เข้าใจว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องการตรวจสอบข้อมูล และรายละเอียดทั้งหมดให้รอบคอบก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ผิดข้อกฎหมาย หรือข้อบังคับ" นายพิชัย กล่าว ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง คาดว่าจะสามารถเสนอชื่อประธานกรรมการ ธปท. คนใหม่ให้ ครม. พิจารณาได้หลังสงกรานต์ โดยยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว ไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด (อินโฟเควสท์)
รมว.คลัง ยันยกเลิกมาตรการชั่วคราวตลาดหุ้นหลังสงกรานต์ ย้ำชอร์ตเซลสำคัญต่อการลงทุนอย่างมีมาตรฐาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการชั่วคราวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) จะถูกยกเลิกเมื่อกลับมาเปิดเทรดหลังจากผ่านพ้นวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ "ตลาดหุ้นไทยแม้ว่าจะลงมามากเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับมาตรการภาษีตอบโต้การขาดดุลการค้าของสหรัฐ แต่เมื่อวานนี้เราเกือบจะเป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคนี้ที่มีกลับมาเป็นบวก ขณะที่ทุกประเทศยังเป็นลบ แปลว่าเราเตรียมการมาดี"นายพิชัย กล่าว ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมา ยกเว้นโตเกียว ถือว่าเราตื่นตัวและตัดปัญหาไว้ก่อน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เรียกประชุมเป็นการด่วนเมื่อวันที่ 7 เม.ย. โดยสิ่งที่ได้ทำ คือ เมื่อเรารู้ว่าคนทั้งโลกเห็นว่าหุ้นทั่วโลกลงแน่ เขาจะต้องขายหุ้นไทยออกมาด้วย ทุกคนจะทำแบบนี้ ดังนั้นสิ่งที่เราไม่เคยทำเลย คือการออกประกาศให้หยุดการทำชอร์ตเซลเป็นการชั่วคราว 4 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 11 เม.ย.นี้ และเมื่อติดวันหยุดสงกรานต์ก็คือต่อไปอีก 4 วัน "แปลว่าเรายังมีเวลาหายใจ 8 วัน ทุกอย่างมันคลี่คลาย คนไม่ขายล่วงหน้า คนก็ไม่ขาดทุน อันนี้คือสิ่งที่เราเคยกลัว"นายพิชัย กล่าว นายพิชัย กล่าวว่า คิดว่ามีหลายคนคงมองว่าเมื่อมาตรการนี้ดีทำไมไม่ต่อเวลาออกไป แต่จริง ๆ แล้วชอร์ตเซลเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนอย่างมีมาตรฐาน เป็นเครื่องมือในการบริหารพอร์ต และคงไม่มีประเทศไหนที่จะเอาชอร์ตเซลออก แต่เราก็ไม่อยากเห็นช็อตเซลประเภทที่ไม่มีระบบระเบียบ หรือเป็นชอร์ตเซลในส่วนที่ไม่ได้มีเจตนาเพื่อบริหารพอร์ต (อินโฟเควสท์)
เปิดลงทะเบียนรับสิทธิรถไฟฟ้า 20 บาท ผ่านแอปฯทางรัฐ ส.ค. รัฐพร้อมชดเชย 8 พันลบ. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเชื่อมต่อได้ทุกเส้นทางว่า ตามเป้าหมายกระทรวงคมนาคม จะเริ่มดำเนินได้ภายในวันที่ 30 ก.ย.68 โดยยืนยันว่า คนไทยทุกคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะได้ใช้บริการโดยจ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 บาททุกเส้นทาง 8 สายทาง ซึ่งผู้โดยสารที่ใช้สิทธิ์ต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เพื่อยืนยันตัวตน โดยกรอกตัวเลขข้อมูลบัตรที่จะใช้ชำระค่าโดยสาร เพื่อเชื่อมโยงกับระบบกลางสำหรับบริหารจัดการรายได้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องให้ลงทะเบียนผ่านแอป "ทางรัฐ" เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกลางในการเคลียร์รายได้ของรถไฟฟ้าแต่ละสาย ระหว่างผู้ประกอบการแต่ละราย กรณีมีการเดินทางข้ามสาย เนื่องจากจะทำให้รู้ว่าผู้โดยสารแต่ละคนเดินทางสายไหน จำนวนกี่สถานี ตลอดการเดินทางมีค่าโดยสารเท่าไร และนำมาคิดกรณีที่รัฐต้องชดเชย โดยผู้โดยสารจะจ่ายราคา 20 บาทเท่านั้น นายสุริยะ ยืนยันว่า จะไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากเพื่อให้การเชื่อมเดินทางข้ามสายจ่ายที่ 20 บาท โดยใช้แอป "ทางรัฐ" เป็นระบบเคลียร์รายได้ โดยจะเริ่มลงทะเบียนในเดือนส.ค. 68 ปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA กำลังพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) และทดสอบการเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ให้บริการแก่ผู้รับบัตร สำหรับบัตรโดยสาร EMV และ Rabbit ABT (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดพุ่งทะยาน 45.77 จุดตามตลาดหุ้นโลกขานรับ "ทรัมป์" เลื่อนรีดภาษีเปิดทางเจรจาต่อรอง SET ปิดวันนี้ที่ 1,133.95 จุด เพิ่มขึ้น +45.77 จุด (+4.21%) มูลค่าซื้อขาย 50,275.84 ล้านบาท นักวิเคราะห์ เผยตลาดหุ้นไทยรีบาวด์แรงเกือบ 60 จุดระหว่างเทรด ตามทิศทางตลาดหุ้นโลก ตอบรับประธานาธิบดี "ทรัมป์" สั่งเลื่อนเก็บภาษีตอบโต้ 90 วัน บ้านเรามัแรงซื้อกลับหุ้นใหญ่หนุน แนวโน้มพรุ่งนี้แกว่ง Sideway Up ให้แนวรับ 1,130 จุด แนวต้าน 1,175 จุด (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 34.18 แข็งค่าสุดในภูมิภาค ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้ นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 34.18 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 34.17 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคและตลาดโลก หลังตลาดคลายกังวลเรื่องมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.09 - 34.33 บาท/ดอลลาร์ นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.00 - 34.30 บาท/ดอลลาร์ คืนนี้ตลาดรอดูการประกาศยอดขอรับสวัสดิการว่างงานประจำสัปดาห์ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มี.ค.68 ของสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 88,317 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 88,317 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 3,354 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ขายสุทธิ 2,241 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 1,009 ล้านบาท Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.69% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน +0.05% (อินโฟเควสท์)
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- ยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนมี.ค. จีน
- อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. เยอรมนี
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือนก.พ. อังกฤษ
- ดุลการค้าเดือนก.พ. อังกฤษ
- ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค. อังกฤษ
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน อังกฤษ