• X
  • ค้นหา
  • TH EN
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
TH : EN
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
  1. หน้าแรก
  2. KTAM Daily News
  3. สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สหรัฐฯ
สหรัฐเผยยอดค้าปลีก +1.4% เดือนมี.ค. สูงกว่าคาดการณ์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.2% หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนก.พ.  เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนก.พ. หากไม่รวมยอดขายรถยนต์ ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% (อินโฟเควสท์)
สหรัฐเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านสูงกว่าคาดในเดือนเม.ย. สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1 จุด สู่ระดับ 40 ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 38 อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองทั่วไปที่เป็นลบ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ อันเนื่องจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า (อินโฟเควสท์)
เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนมี.ค. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน  ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค การผลิตในภาคเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 0.6% ขณะที่ภาคสาธารณูปโภคลดลง 5.8% ส่วนการผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี การผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนมี.ค. (อินโฟเควสท์)
สหรัฐเผยจำนวนผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง หลังดอกเบี้ยเงินกู้ดีดตัว สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองร่วงลง 8.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ จำนวนผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์ลดลง 12% ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง 5% ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเพื่อการจำนองแบบคงที่ระยะเวลา 30 ปี สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 806,500 ดอลลาร์ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 6.81% จากระดับ 6.61% ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ (อินโฟเควสท์)
EIA เผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 515,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 507,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 654,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2.0 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล (อินโฟเควสท์)
เฟดเผยแบบจำลอง GDPNow บ่งชี้ GDP สหรัฐหดตัว -2.2% ใน Q1/68 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -2.2% ในไตรมาส 1/2568 ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. GDPNow คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว +2.3% ในไตรมาส 1/2568 เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งต่อไปในวันที่ 17 เม.ย. ทั้งนี้ ในปี 2567 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1, 3.0% ในไตรมาส 2, 3.1% ในไตรมาส 3 และ 2.4% ในไตรมาส 4 (อินโฟเควสท์)
"พาวเวล" ชี้มาตรการภาษี "ทรัมป์" สร้างปัญหาต่อการใช้นโยบายเฟด นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความกังวลต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจทำให้เฟดตกที่นั่งลำบากระหว่างการใช้นโยบายควบคุมเงินเฟ้อและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภารกิจหลักสองประการของเฟดคือการรักษาเสถียรภาพของราคา และการทำให้การจ้างงานเต็มศักยภาพ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าการเรียกเก็บภาษีของปธน.ทรัมป์ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทั้งสองประการของเฟด "เราอาจพบว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์ท้าทายที่พบว่าเป้าหมายทั้งสองประการของเราต่างได้รับผลกระทบ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แม้มีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น และการขยายตัวจะลดลง แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเฟดจะให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในด้านใดมากกว่า" นายพาวเวลกล่าวในงานเสวนาว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งชิคาโก (Economic Club of Chicago) นายพาวเวลไม่ได้ส่งสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย แต่เฟดจะรอความชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะพิจารณาปรับจุดยืนด้านนโยบาย นายพาวเวลตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขเงินเฟ้อระยะใกล้ทั้งจากการสำรวจและจากการอ้างอิงในตลาดต่างก็กำลังปรับตัวขึ้น แม้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ใกล้กับเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ขณะที่ข้อมูลบ่งชี้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอลงในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งในปีที่แล้ว (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์โวราคาสินค้าเกือบทุกอย่างลดลง ขณะรายได้จากภาษีศุลกากรพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (15 เม.ย.) ว่า ราคาสินค้าเกือบทุกประเภท รวมถึงน้ำมันเบนซินและของชำกำลังลดลง ขณะที่สหรัฐฯ กวาดรายได้จากภาษีศุลกากรในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทรัมป์ยังอ้างด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ กำลังลดลง แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเฉพาะเจาะจงใด ๆ ในโพสต์บนแพลตฟอร์มทรูธ โซเชียล (Truth Social) ทั้งนี้ ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลงเกินคาดในเดือนมี.ค. โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมี.ค. สวนทางกับที่บรรดานักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจปรับตัวขึ้น 0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์สั่งตรวจสอบการนำเข้าแร่หายาก หวั่นกระทบความมั่นคง-จ่อเก็บภาษี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ สั่งเริ่มการสอบสวนเกี่ยวกับความจำเป็นในการเก็บภาษีนำเข้าสินแร่ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในสงครามการค้าที่ขยายวงกว้างและพุ่งเป้าไปยังภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก คำสั่งดังกล่าวซึ่งทรัมป์ลงนามในวันอังคาร (15 เม.ย.) ระบุให้รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ เริ่มต้นการสอบสวนภายใต้มาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act ปี 2505 เพื่อประเมินผลกระทบของการนำเข้าสินแร่เหล่านี้ต่อความมั่นคงและความยืดหยุ่นของสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีพาณิชย์จะต้องส่งรายงานผลการสอบสวนภายใน 270 วัน คำสั่งนี้ครอบคลุมถึงแร่หายาก โดยชี้ว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของอุตสาหกรรมกลาโหมของสหรัฐฯ และมีความจำเป็นต่อการผลิตเครื่องยนต์เจ็ต ระบบนำวิถีขีปนาวุธ คอมพิวเตอร์ขั้นสูง รวมถึงอุปกรณ์เรดาร์ ระบบเลนส์ และอุปกรณ์สื่อสาร นอกจากนี้ ยังรวมถึงยูเรเนียม แร่สำคัญที่ผ่านการแปรรูป และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแร่เหล่านี้ด้วย หากรัฐมนตรีพาณิชย์พบว่าการนำเข้าสินแร่สำคัญเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และประธานาธิบดีตัดสินใจเรียกเก็บภาษี ภาษีนำเข้าดังกล่าวจะมาแทนที่ภาษีตอบโต้ที่ทรัมป์ได้ประกาศไปเมื่อต้นเดือนนี้ซึ่งมีผลกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้กำหนดมาตรการเก็บภาษีเฉพาะกลุ่ม เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ และเมื่อวันจันทร์ (14 เม.ย.) รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ประกาศเริ่มการสอบสวนการนำเข้าสินค้าเซมิคอนดักเตอร์และยาด้วย (อินโฟเควสท์)
ธุรกิจเล็กของสหรัฐฯ รวมตัวฟ้องรัฐบาลทรัมป์ ชี้ไม่มีอำนาจสั่งเก็บภาษีทั่วโลก บรรดาธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ รวมตัวกันฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทำการเรียกเก็บภาษีศุลกากรฝ่ายเดียวซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเอกสารคำร้องที่ยื่นต่อศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บภาษีศุลกากรทั่วโลกโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การฟ้องร้องดังกล่าวเป็นการยื่นฟ้องร่วมกันระหว่างศูนย์ Liberty Justice Center องค์กรที่ปรึกษาทางกฎหมาย และ อิลยา โซมิน ทนายความร่วมและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสันในฐานะตัวแทนของธุรกิจ 5 แห่งจากรัฐนิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย ยูทาห์ เวอร์จิเนีย และเวอร์มอนต์ Liberty Justice Center ระบุในเอกสารที่เผยแพร่ออกมาว่า "การขาดดุลการค้ามีมานานหลายสิบปีแล้ว และไม่ก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินระดับชาติหรือภัยคุกคามต่อความมั่นคง นอกจากนี้ คณะบริหาร (ของปธน.ทรัมป์) ยังเรียกเก็บภาษีแม้กระทั่งกับประเทศที่สหรัฐฯ ไม่ได้ขาดดุลด้วย ซึ่งยิ่งเป็นการบ่อนทำลายความชอบธรรมของฝ่ายบริหาร" Liberty Justice Center เปิดเผยว่า ทรัมป์ได้อ้างกฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ IEEPA (International Economic Emergency Powers Act) ในการเรียกเก็บภาษีศุลกากรในวันแห่งการปลดปล่อย (Liberation Day) ตลอดจนภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน อย่างไรก็ตาม IEEPA ไม่ได้ให้สิทธิปธน.สหรัฐฯ ในการกำหนดภาษีศุลกากรเป็นวงกว้าง และไม่ได้อนุญาตให้เรียกเก็บภาษีศุลกากรใด ๆ เลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมาในการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ท่ามกลางการคัดค้านอย่างกว้างขวาง โดยกำหนดภาษีศุลกากรพื้นฐานขั้นต่ำในอัตรา 10% และกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นกับคู่ค้าบางราย (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 699.57 จุด หลังพาวเวลเตือนภาษีทรัมป์ฉุดเศรษฐกิจ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 700 จุดในวันพุธ (16 เม.ย.) หลังจากเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เตือนว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนแอลงเนื่องจากผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากร นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่อินวิเดีย (Nvidia) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ จำกัดการส่งออกชิปไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,669.39 จุด ลดลง 699.57 จุด หรือ -1.73%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,275.70 จุด ลดลง 120.93 จุด หรือ -2.24% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,307.16 จุด ลดลง 516.01 จุด หรือ -3.07% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก $1.14 รับข่าวสหรัฐฯคว่ำบาตรส่งออกน้ำมันอิหร่าน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (16 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะเผชิญภาวะตึงตัว หลังจากสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ที่มุ่งเป้าไปที่การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลลาร์ หรือ 1.86% ปิดที่ 62.47 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.18 ดอลลาร์ หรือ 1.82% ปิดที่ 65.85 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดพุ่ง $106 ทำนิวไฮ รับดอลล์อ่อน-แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุระดับ 3,300 ดอลลาร์ในวันพุธ (16 เม.ย.) และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนแห่ซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 106 ดอลลาร์ หรือ 3.27% ปิดที่ 3,346.40 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ยืนเหนือ 4.3% จับตาถ้อยแถลง "พาวเวล" อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.3% ขณะที่นักลงทุนจับตาการทำสงครามการค้าของสหรัฐ รวมทั้งถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ณ เวลา 20.56 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.329% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.786% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
อังกฤษเผยเงินเฟ้อชะลอแตะ 2.6% ในเดือนมี.ค. สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานในวันนี้ (16 เม.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.พ.ที่ปรับตัวขึ้น 2.8% ดัชนี CPI เดือนมี.ค.ขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2567 และต่ำกว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.7% ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่มีความผันผวนนั้น ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนมี.ค. ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก.พ.ที่ปรับตัวขึ้น 3.5% สำหรับเงินเฟ้อจากการบริการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ BoE จับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อภายในประเทศนั้น อยู่ที่ระดับ 4.7% ในเดือนมี.ค. ลดลงจากระดับ 5% ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าที่ BoE คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.9% การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อในวันนี้ มีขึ้นก่อนที่ BoE จะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 8 พ.ค. ส่วนในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของ BoE มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50% โดยการดำเนินการดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการทำสงครามการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจอังกฤษ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ หวั่นภาษีสหรัฐฯ กระทบแนวโน้มธุรกิจ ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันพุธ (16 เม.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากกลุ่มหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ หลังเอเอสเอ็มแอล (ASML) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์การผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลกเตือนว่า ภาษีของสหรัฐฯ เพิ่มความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มธุรกิจในปี 2568 และ 2569 ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 507.09 จุด ลดลง 0.97 จุด หรือ -0.19% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,329.97 จุด ลดลง 5.43 จุด หรือ -0.07%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 21,311.02 จุด เพิ่มขึ้น 57.32 จุด หรือ +0.27% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,275.60 จุด เพิ่มขึ้น 26.48 จุด หรือ +0.32% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 26.48 จุด ขานรับข้อมูลเงินเฟ้อลด-หุ้นพลังงานพุ่ง ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นในวันพุธ (16 เม.ย.) หลังตัวเลขเงินเฟ้อของอังกฤษที่ออกมาต่ำกว่าคาดช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน และหุ้นกลุ่มพลังงานที่พุ่งขึ้นช่วยหนุนตลาดด้วย ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,275.60 จุด เพิ่มขึ้น 26.48 จุด หรือ +0.32% ดัชนี FTSE 100 ฟื้นตัวจากการร่วงลงในช่วงเช้า และขยายตัวต่อเนื่องจากวันอังคารซึ่งได้แรงหนุนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า อาจมีข้อยกเว้นเรื่องภาษีรถยนต์ (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
ผู้ว่าฯ BOJ ส่งสัญญาณอาจต้องปรับนโยบาย หากภาษีทรัมป์กระทบศก. คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณว่าอาจต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน หากมาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ (16 เม.ย.) อุเอดะเผยว่า นับตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา ความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐฯ เริ่มเข้าใกล้สถานการณ์เลวร้ายที่ BOJ เคยประเมินไว้ โดยล่าสุดเริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนในญี่ปุ่นแล้ว อุเอดะย้ำว่า BOJ จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่เหมาะสม หากเศรษฐกิจและราคาเป็นไปตามคาดการณ์ แต่จะพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ โดยไม่ตั้งสมมติฐานล่วงหน้า พร้อมปรับแผนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ อุเอดะคาดว่าเงินเฟ้อของสินค้าอาหารในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน ค่าจ้างที่แท้จริงจะกลับมาเติบโตและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป รายงานระบุว่า ถ้อยแถลงของอุเอดะสอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ที่ประเมินว่า BOJ จะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 0.5% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งถัดไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. – 1 พ.ค. นี้ ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว BOJ ยังเตรียมเผยแพร่การคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อฉบับใหม่รายไตรมาส ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางนโยบายการเงิน (อินโฟเควสท์)
นทท.ต่างชาติเยือนญี่ปุ่นสูงเป็นประวัติการณ์ 3.5 ล้านคนในเดือนมี.ค. สำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (JTA) เปิดเผยว่า ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 3.5 ล้านคนในเดือนมี.ค. ซึ่งตอกย้ำว่าการท่องเที่ยวญี่ปุ่นยังคงคึกคัก รายงานเบื้องต้นของ JTA เผยให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายเงินรวมทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านเยน (1.6 หมื่นล้านดอลลาร์) ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. เพิ่มขึ้น 28.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้รับแรงหนุนจากค่าใช้จ่ายในส่วนของอาหารและที่พักที่เพิ่มสูงขึ้น องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้เดินทางเยือนญี่ปุ่นมากที่สุดด้วยจำนวน 691,700 คน เพิ่มขึ้น 4.3% ตามมาด้วยจีน 661,700 คน พุ่งขึ้น 46.2% JNTO ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมในปี 2568 อยู่ที่ 10.5 ล้านคนในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้น 23.1% และถือว่าทะลุระดับ 10 ล้านคนเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยความต้องการเดินทางเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. เนื่องจากเป็นช่วงที่ซากุระเริ่มบาน (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดลบ 347.14 จุด จากแรงขายหุ้นชิป ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดลดลงในวันนี้ (16 เม.ย.) โดยหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มผลกำไร หลังจากอินวิเดีย คอร์ป (Nvidia Corp.) บริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจำกัดการส่งออกชิปไปยังจีน สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 33,920.40 จุด ลดลง 347.14 จุด หรือ -1.01% (อินโฟเควสท์)
จีน
GDP จีนโตเกินคาด 5.4% ใน Q1/68 ขานรับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 5.4% ในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากอัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวราว 5.1-5.2% เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง จีน ที่ถูกเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าสูงสุดในอัตรา 145% รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตของตัวเลข GDP ในปี 2568 เอาไว้ที่ระดับประมาณ 5% และประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรายการ โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเปิดเผยมาตรการกระตุ้นด้านการคลังเพิ่มเติม และให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความพยายามในการสนับสนุนการบริโภคและลดผลกระทบของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจจีน หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ในวันดังกล่าว โดยเขาให้คำมั่นว่านโยบายเศรษฐกิจของจีนนั้น จะเปลี่ยนไปมุ่งเน้นที่การสร้างประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและกระตุ้นการบริโภค พร้อมกับเปิดเผยว่า จีนวางแผนที่จะออกพันธบัตรพิเศษระยะยาวมูลค่า 1.3 ล้านล้านหยวน (1.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1 ล้านล้านหยวนในปี 2567 และรัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับอนุญาตให้ออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 4.4 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.9 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ นายหลี่กล่าวว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับลดอัตราส่วนการกันสำรอง (RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์ "ในเวลาที่เหมาะสม" โดยถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินของจีนจะยังอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ (อินโฟเควสท์)
ราคาบ้านใหม่จีนทรงตัวในเดือนมี.ค. เหตุดีมานด์ที่อยู่อาศัยยังซบเซา สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ราคาบ้านใหม่ทรงตัวในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากที่ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนก.พ. ส่วนเมื่อเทียบรายปี ราคาบ้านใหม่ลดลง 4.5% ในเดือนมี.ค. หลังจากที่ปรับตัวลง 4.8% ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยในจีนยังคงอ่อนแอ แม้ว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายเป็นวงกว้างเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ได้เข้าสู่ภาวะชะลอตัวในปี 2564 หลังจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลง ทางการจีนได้ให้คำมั่นหลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาว่า จะรักษาเสถียรภาพของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เผชิญปัญหาหนี้สินจำนวนมาก ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็พยายามหาลู่ทางในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้ากับสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
จีนมั่นใจภาษีสหรัฐฯ ไม่กระทบแนวโน้มศก.เชิงบวกในระยะยาว เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยในวันนี้ (16 เม.ย.) ว่า การที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราที่สูงขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและการค้าของจีนในระยะสั้น แต่จะไม่เปลี่ยนแปลงแนวโน้มเชิงบวกในระยะยาว เซิง ไล่อวิ๋น รองผู้อำนวยการ NBS แถลงข่าวว่า "เราคัดค้านการตั้งกำแพงภาษีและการกลั่นแกล้งทางการค้าของสหรัฐฯ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นภัยต่อทุกฝ่าย" อย่างไรก็ดี เซิงยืนยันว่า จีนมีความเชื่อมั่นและมีความสามารถในการรับมือกับอุปสรรคจากภายนอกและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจจีนมีรากฐานที่มั่นคงและมีความสามารถในการฟื้นตัว สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP เอาไว้ที่ราว 5% ในปี 2568 ขณะที่ข้อมูลจาก NBS แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัว 5.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เซิงกล่าวว่า นับตั้งแต่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศ เศรษฐกิจจีนได้เผชิญกับความท้าทายสำคัญ ๆ และสั่งสมประสบการณ์มากมายในแง่ของการจัดการเศรษฐกิจมหภาค พร้อมเสริมว่า จีนจะดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกประเทศ โดยย้ำว่ามาตรการที่เข้มแข็งช่วยให้จีนสามารถรับมือกับผลกระทบและความท้าทายจากภายนอกได้ (อินโฟเควสท์)
จีนส่งออกมี.ค.พุ่ง 12.4% หลังภาคธุรกิจเร่งส่งออกเลี่ยงภาษีทรัมป์ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ยอดส่งออกเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 12.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2567 เนื่องจากภาคธุรกิจของจีนพากันเร่งส่งออกสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากร ขณะที่ยอดนำเข้าในเดือนมี.ค.ปรับตัวลง 4.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ส่วนยอดเกินดุลการค้าของจีนในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 1.0264 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. 2567 ซึ่งอยู่ที่ 1.048 แสนล้านดอลลาร์ รายงานของ NBS ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (14 เม.ย.) ยังระบุด้วยว่า จีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลดลง 9.5% โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของการค้าโดยรวมของจีน ขณะที่ยอดส่งออกจากจีนไปยังกลุ่มอาเซียนพุ่งขึ้น 11.6% ในเดือนมี.ค. นำโดยการส่งออกไปยังเวียดนามที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งเกือบ 19% ขณะที่ยอดการนำเข้าจากกลุ่มอาเซียน เพิ่มขึ้น 9.8% นอกจากนี้ จีนส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 10.3% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นำเข้าจาก EU ลดลง 7.5% รายงานของ NBS ยังระบุด้วยว่า จีนนำเข้าแร่เหล็กลดลง 6.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 94 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2566 ขณะเดียวกันจีนนำเข้าถั่วเหลืองลดลง 36.8% สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551 สำหรับยอดนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์และน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 11.2% และ 4.5% ตามลำดับ ส่วนยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และแร่หายากพุ่งขึ้น 25% และ 20% ตามลำดับ (อินโฟเควสท์)
วาณิชธนกิจระดับโลกหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้ หลังสงครามการค้าระอุ วาณิชธนกิจระดับโลกหลายแห่งได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ เนื่องจากคาดว่ามาตรการเก็บภาษีนำเข้าอย่างรุนแรงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้น หลังทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งนำไปสู่การกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าของแต่ละประเทศ และภายในวันที่ 11 เม.ย. จีนก็แทบจะตกอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ เนื่องจากภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนพุ่งสูงถึง 145%  ซิตี้ (Citi) คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนในปีนี้จะขยายตัว 4.2% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.7%, โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) คาดว่า GDP จีนปีนี้จะอยู่ที่ 4% ลดลงจากที่คาดไว้เดิมที่ 4.5%, ยูบีเอส (UBS) คาดว่า GDP จีนปีนี้จะอยู่ที่ 3.4% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4% และมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) คาดว่า GDP จีนปีนี้จะอยู่ที่ 4.2% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.5% ซึ่งบรรดาตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดนั้นต่ำกว่าระดับเป้าหมายอย่างเป็นทางการของจีนที่กำหนดไว้ที่ราว 5.0% ทั้งนี้ วาณิชธนกิจบางแห่งเพิ่งปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจจีนเมื่อเดือนที่แล้ว หลังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ โดย GDP จีนขยายตัว 5% ในปีที่ผ่านมา ส่วนข้อมูลอย่างเป็นทางการของจีนที่เผยแพร่ในวันนี้ (16 เม.ย.) บ่งชี้ว่า GDP ของจีนในไตรมาสแรกขยายตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.1% (อินโฟเควสท์)
นายกฯ จีนย้ำกระตุ้นการบริโภคในประเทศ, ชี้ตลาดอสังหาฯ ยังพัฒนาได้อีก นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มความพยายามในการกระตุ้นการบริโภค ขยายอุปสงค์ในประเทศ เสริมสร้างการหมุนเวียนภายในประเทศ และปลดปล่อยศักยภาพของตลาดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่มาก เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากแรงกระแทกภายนอก สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลี่ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวระหว่างการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและการวิจัยในกรุงปักกิ่ง หลี่กล่าวในโอกาสเยี่ยมชมนิทรรศการส่งเสริมการขายในประเทศของบรรดาบริษัทนำเข้า-ส่งออกว่า สภาพแวดล้อมในต่างประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของจีน ซึ่งบริษัทที่ทำการค้ากับต่างประเทศควรถือโอกาสนี้สำรวจการกระจายตลาด และสร้างช่องทางการขายใหม่ ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของการค้ากับต่างประเทศ หลี่เน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์จากนโยบายที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมการขายสินค้านำเข้า-ส่งออกภายในประเทศ ดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการบริโภค และสนับสนุนการแข่งขันระหว่างบริษัทต่าง ๆ เพื่อสร้างอุปสงค์ใหม่ด้วยอุปทานที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ หลี่ยังได้ไปตรวจเยี่ยมโครงการอสังหาริมทรัพย์ และรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับความพยายามของท้องถิ่นในการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยคงค้างในตลาดให้เป็นอพาร์ตเมนต์สำหรับกลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถ หลี่กล่าวว่าการซื้อที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยราคาประหยัดนับเป็นมาตรการสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน หลี่กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงมีช่องว่างให้พัฒนาอีกมาก พร้อมผลักดันความพยายามในการปลดปล่อยศักยภาพของตลาด โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการก่อสร้างบ้านคุณภาพสูง เร่งสร้างโมเดลใหม่สำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ (อินโฟเควสท์)
จีนแต่งตั้งผู้แทนเจรจาการค้าคนใหม่ หลังการเจรจากับสหรัฐฯหยุดชะงัก รัฐบาลจีนแต่งตั้งหลี่ เฉิงกัง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในวันนี้ (16 เม.ย.) โดยหลี่จะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวแทนหวัง โซ่วเหวิน หลี่เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่จีนที่ได้พบปะกับบรรดาผู้ประกอบการชั้นนำหลายรายในการประชุมสัมมนาซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วโดยมีเป้าหมายเพื่อคลี่คลายความวิตกกังวลของบริษัทเอกชน หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน แสดงท่าทีสนับสนุนภาคธุรกิจในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา การที่หลี่ได้รับแต่งตั้งครั้งนี้ทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นสมาชิกคนสำคัญในทีมเจรจาการค้าของจีน ในช่วงเวลาที่จีนกำลังหาทางรับมือกับข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการเจรจาการค้าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างก็เพิ่มความตึงเครียดด้านภาษีต่อกันและกัน   ขณะเดียวกันในบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนที่ถูกปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ ยังรวมถึง หวัง จื้อจง ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติ และเฉิน เสี่ยวตง จากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดบวก 8.34 จุด รับข้อมูลเศรษฐกิจแกร่ง ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกในวันนี้ (16 เม.ย.) ซึ่งเป็นการปิดในแดนบวกติดต่อกันวันที่ 7 เนื่องจากนักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน ทั้งนี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,276.00 จุด เพิ่มขึ้น 8.34 จุด หรือ +0.26% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดร่วง 409.29 จุด วิตกมาตรการภาษีทรัมป์ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดร่วงลงในวันนี้ (16 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งบดบังปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดของจีน ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 21,056.98 จุด ลดลง 409.29 จุด หรือ -1.91% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
แบงก์ชาติแคนาดาคงดอกเบี้ยที่ 2.75% หลังหั่นดอกเบี้ย 7 ครั้งติด ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งติดต่อกัน  BoC ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐ รวมทั้งการเรียกเก็บภาษีศุลกากร ได้เพิ่มความไม่แน่นอนในตลาด และลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อ "ทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐยังคงมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจของแคนาดา" แถลงการณ์ระบุ (อินโฟเควสท์)
อินเดียเผยดัชนี CPI +3.34% เดือนมี.ค. ต่ำสุดรอบเกือบ 6 ปี กระทรวงสถิติของอินเดียเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 3.34% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.50% จากระดับ 3.61% ในเดือนก.พ. การชะลอตัวของดัชนี CPI ในเดือนมี.ค.มีสาเหตุจากการปรับตัวลงของราคาอาหาร ดัชนี CPI ที่ระดับ 3.34% ในเดือนมี.ค. ถือเป็นการปรับตัวอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่ระดับ 2-6% (อินโฟเควสท์)
เม็กซิโกเตรียมเจรจาสหรัฐฯ หลังโดนขู่รีดภาษีมะเขือเทศ 20% ฮูลิโอ เบร์เดเก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเม็กซิโกระบุว่า เม็กซิโกเตรียมเข้าร่วมเจรจากับสหรัฐฯ หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เสนอเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุน (countervailing duty - CVD) ในอัตรา 20.91% สำหรับมะเขือเทศนำเข้าจากเม็กซิโก ในระหว่างการแถลงข่าว เบร์เดเกอธิบายว่า การเจรจาครั้งนี้ซึ่งจะมีผู้ปลูกมะเขือเทศจากรัฐทางตะวันตกเฉียงเหนืออย่างซินาโลอาและโซโนราเข้าร่วม จำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงภายใน 90 วัน ก่อนถึงกำหนดเส้นตาย 14 ก.ค.ที่ภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ผู้ปลูกมะเขือเทศในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐฟลอริดาได้กล่าวหามาอย่างยาวนานว่า ผู้ผลิตเม็กซิโกตั้งราคามะเขือเทศต่ำเกินจริงอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เบร์เดเกปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่าไม่มีมูลความจริง และมีแรงจูงใจทางการเมือง นอกจากนี้ เบร์เดเกยังเน้นย้ำว่ามีไม่กี่ประเทศที่สามารถแข่งขันกับเม็กซิโกในการจัดหามะเขือเทศคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้ ดังนั้น หากสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีต่อไป ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 21% สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ข้อตกลงระงับข้อพิพาทในปัจจุบันระหว่างกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กับผู้ส่งออกเม็กซิโกมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 ต่อเนื่องจากข้อตกลง 4 ฉบับก่อนหน้าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ผู้นำเม็กซิโกชี้แจงว่า รัฐบาลเม็กซิโกไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเสนอเก็บภาษีดังกล่าว แต่ทางการสหรัฐฯ ได้แจ้งตัวแทนทางกฎหมายของผู้ผลิตเม็กซิโกในสหรัฐฯ แทน (อินโฟเควสท์)
เกาหลีใต้-เวียดนาม จับมือแก้เกมภาษีทรัมป์ ตั้งเป้าการค้า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 73 เกาหลีใต้และเวียดนามประกาศความร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะกับบริษัทข้ามชาติอย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) ที่มีฐานการผลิตสำคัญในเวียดนาม กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามระบุในแถลงการณ์วันนี้ (16 เม.ย.) ว่า ทั้งสองประเทศมีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันมูลค่าการค้าทวิภาคีให้แตะระดับ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน โช แทยุล รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ได้พบปะกับบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามเมื่อวันอังคาร (15 เม.ย.) ก่อนจะเข้าพบฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีของเวียดนามในวันนี้ โดยก่อนหน้านี้ในสัปดาห์เดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเกาหลีใต้ก็ได้เดินทางเยือนเวียดนามเพื่อหารือเกี่ยวกับการรับมือกับภาษีนำเข้าเช่นกัน รายงานระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจากเกาหลีใต้ได้ขยายฐานการผลิตมายังเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำและความเสี่ยงทางการเมืองในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน ซัมซุงผลิตสมาร์ตโฟนกว่า 60% ของยอดขายทั่วโลกในเวียดนาม ทั้งนี้ เวียดนามยังแสดงจุดยืนพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากเกาหลีใต้ในภาคส่วนสำคัญ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังตกลงที่จะประสานงานอย่างใกล้ชิดในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาที่มีความกังวลร่วมกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก (อินโฟเควสท์)
"สี จิ้นผิง" สนับสนุนมาเลเซียในบทบาทประธานอาเซียน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เปิดเผยในวันนี้ (16 เม.ย.) ว่า จีนสนับสนุนมาเลเซียในบทบาทประธานอาเซียน (ASEAN) ปธน.สีกล่าวว่า จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับมาเลเซียเพื่อสนับสนุนข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative หรือ GDI) ข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก (Global Security Initiative หรือ GSI) และข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก (Global Civilization Initiative หรือ GCI) พร้อมส่งเสริมกลุ่มประเทศโลกใต้เพื่อความก้าวหน้าร่วมกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นขณะที่ปธน.สี พบปะกับสมเด็จพระราชาธิบดีอิบราฮิมฯ แห่งมาเลเซียในระหว่างการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex พุ่งกว่า 300 จุด บวก 3 วันติด ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นกว่า 300 จุด ปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 3 ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะไม่ส่งผลกระทบต่ออินเดีย   ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 77,044.29 บวก 309.40 จุด หรือ 0.40% (อินโฟเควสท์)
ไทย
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดพุ่ง 10.24 จุด ชดเชยช่วงหยุดสงกรานต์รับแรงซื้อกลับหุ้นใหญ่หลังสหรัฐชะลอขึ้นภาษีสายเทคฯ SET ปิดวันนี้ที่ 1,138.90 จุด เพิ่มขึ้น 10.24 จุด (+0.91%) มูลค่าซื้อขาย 41,227.26 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯ ระบุตลาดหุ้นไทยเด้งขึ้นกว่า 10 จุดโดยเฉพาะในภาคบ่าย ชดเชยช่วงวันหยุดสงกรานต์บ้านเราที่ตลาดต่างประเทศปรับขึ้นไปตอบรับสหรัฐเลื่อนปรับขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี ทำให้ภาพตลาดบ้านเราสวนทางภูมิภาคที่ปรับลงจากแรงขายทำกำไร หุ้นกลุ่มลุ่มโรงไฟฟ้า-กลุ่มอิงเศรษฐกิจโลกขึ้นมาได้ดี ประกอบกับมีลุ้น กนง.หั่นดอกเบี้ยปลายเดือนนี้ แนวโน้มพรุ่งนี้มองตลาดมีโอกาสขึ้นไปต่อ พร้อมให้แนวต้าน 1,155 จุด แนวรับ 1,120 จุด ตลาดหุ้นไทยปิดวันนี้ 1,138.90 จุด เพิ่มขึ้น 10.24 จุด (+0.91%) มูลค่าซื้อขาย 41,227.26 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีช่วงเช้าแกว่งแคบๆ ก่อนจะขึ้นมาแรงในภาคบ่าย ทำจุดสูงสุด 1,142.35 จุด และจุดต่ำสุด 1,120.72 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 420 หลักทรัพย์ ลดลง 108 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 133 หลักทรัพย์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 74,451 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 74,451 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 1,438 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 828 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 13,149 ล้านบาท Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.67% ปรับตัวลดลงจากเมื่อวาน -0.03% ภาพรวมของตลาดในวันนี้ Yield Curve ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าประมาณ 1-4 bps. โดยนักลงทุนคาดว่า กนง มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ NET INFLOW 13,149 ล้านบาท โดยเกิดจาก NET BUY 13,149 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) ด้านปัจจัยต่างประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1/2568ขยายตัว 5.4% (YoY)  ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 5.1-5.2% โดยรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศต่าง ๆ (อินโฟเควสท์)  
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.24 แข็งค่าสุดในภูมิภาค คาดกรอบพรุ่งนี้ 33.15-33.40 นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 33.24 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเช้าที่ 33.46 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.21-33.46 บาท/ดอลลาร์ และแข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค สาเหตุหลักมาจากราคาทองคำโลกยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวหนุนให้เงินบาทแข็งค่า ประกอบกับ ตลาดยังไม่มีความมั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้มีแรงเทขายดอลลาร์แล้วเข้าซื้อสินทรัพย์อื่นแทน เช่น พันธบัตรรัฐบาลไทย วันนี้ต่างชาติเข้าซื้อถึง 13,000 ล้านบาท "วันนี้บาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค ระหว่างวันทำ low สุดที่ 33.21 บาท เป็นการแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือน นับตั้งแต่ ต.ค.67" นักบริหารเงิน ระบุ อย่างไรก็ดี คืนนี้ ต้องติดตามถ้อยแถลงจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณทิศทางเศรษฐกิจและแนวโน้มดอกเบี้ยในช่วงต่อจากนี้ นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.15-33.40 บาท/ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
 
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนมี.ค. ญี่ปุ่น         
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย อียู                          
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สหรัฐฯ     
ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมี.ค. สหรัฐฯ       
ดัชนีการผลิตเดือนเม.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ 

แชร์เรื่องนี้

  • Facebook
  • Twitter
  • Line

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

News Demo
14
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
13
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
09
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ

Shortcut Menu

  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์/
    โครงสร้างพื้นฐาน
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนผลงานดี
  • ตารางจ่ายเงินปันผล
  • ข่าว/บทวิเคราะห์
  • กลยุทธ์การลงทุน
  • กำหนดการและแบบฟอร์ม
  • โปรโมชั่น
  • ปฏิทินกองทุน
  • ภาพกิจกรรม
  • ประกาศราคากลาง
  • AIMC Category
    Performance Report
  • ถาม-ตอบ
  • ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน
  • ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้
  • การตั้งค่าคุกกี้
  • สมัครรับข่าวสาร
  • ติดต่อเรา
  • ร่วมงานกับเรา
  • ประกาศความเป็นส่วนตัว
Go To Top
Stay Connect with us:
  • Facebook
  • Twitter
  • Youtube

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

KTAM Smart Plan: 0-2686-6100 กด 9 โทรสาร 0-2670-0430 ต่างจังหวัดโทรฟรี 1-800-295-592

อีเมล: callcenter@ktam.co.th

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0-1075-45000-37-3 : สำนักงานใหญ่

  • พันธมิตรธุรกิจ
  • เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
  • แผนผังเว็บไซต์

การใช้และการจัดการคุกกี้

เว็บไซต์ของบริษัทฯ มีการใช้งานคุกกี้ (cookies) เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณสามารถตั้งค่าและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ การใช้คุกกี้ของบริษัทฯ ได้ที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้ และ การตั้งค่าคุกกี้

 การใช้และการจัดการคุกกี้

เมื่อท่านเข้าใช้เว็บไซต์ของเรา เราใช้คุกกี้ที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ของเราจะ ทำงานได้อย่างถูกต้อง และเรายังใช้คุกกี้ประเภทอื่นๆ เพื่อรวบรวมพฤติกรรมการใช้ งานเว็บไซต์ของเราและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อสร้างประสบการณ์ การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งานคุกกี้ บางประเภทได้ตลอดเวลา และบริษัทจะไม่ใช้คุกกี้ที่ท่านเลือกปิดการใช้งาน

ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้


การกำหนดลักษณะความยินยอม

คุกกี้ที่จำเป็น

คุกกี้เหล่านี้ที่จำเป็นในการเปิดใช้คุณลักษณะการทำงานพื้นฐานของเว็บไซต์ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการเครือข่าย และการเข้าสู่ระบบ

คุกกี้วิเคราะห์

เราใช้คุกกี้ Google Analytics เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์โดยรวบรวมและรายงานข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ คุกกี้ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลที่ไม่ระบุตัวบุคคลโดยตรง