• X
  • ค้นหา
  • TH EN
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
TH : EN
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
  1. หน้าแรก
  2. KTAM Daily News
  3. สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สหรัฐฯ
เฟดนิวยอร์กเผยดัชนีภาคการผลิตในเดือนเม.ย. สัญญาณหดตัวเริ่มแผ่วลง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) ประจำเดือนเม.ย. ซึ่งปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -8.1 จากเดิมที่ -20.0 ในเดือนมี.ค. ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสดใสกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ -13.5 เท่านั้น ดัชนี Empire State นี้ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณแรก ๆ ที่สะท้อนภาพรวมของภาคการผลิตในเดือนเม.ย. ซึ่งตัวเลขล่าสุดที่ระดับต่ำกว่า 0 ชี้ให้เห็นว่า แม้ยังคงหดตัว แต่ก็เป็นไปในอัตราที่ชะลอลง ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าดัชนีองค์ประกอบย่อย ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งซื้อใหม่ การขนส่ง และการจ้างงาน ต่างปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ แม้จะยังคงอยู่ในแดนหดตัว (ต่ำกว่าระดับ 0) ก็ตาม อย่างไรก็ดี ดัชนีด้านราคาที่ผู้ผลิตต้องจ่ายไปกลับเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งสัญญาณว่าแรงกดดันด้านต้นทุนอาจเพิ่มเร็วขึ้น  (อินโฟเควสท์)
ราคานำเข้าสหรัฐฯ แผ่วลงในเดือนมี.ค. สวนทางส่งออกที่ยังคงที่ สำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (15 เม.ย.) ว่า เมื่อเทียบรายเดือน ราคาสินค้านำเข้าสู่สหรัฐฯ ในเดือนมี.ค.ปรับตัวลดลง 0.1% ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่เพิ่งขยับขึ้น 0.2% ไปในเดือนก.พ. การปรับลดลงครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีก่อน เมื่อพิจารณาเฉพาะสินค้านำเข้าที่ไม่รวมกลุ่มปิโตรเลียม ซึ่งราคาดิ่งลงถึง 1.5% พบว่าราคาสินค้านำเข้าโดยรวมทรงตัวในเดือนมี.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1% ในเดือนก่อนหน้า ตัวเลขนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% ขณะเดียวกัน หากไม่นับรวมราคาเชื้อเพลิงทุกประเภท ราคาสินค้านำเข้ายังคงปรับเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ทางด้านราคาสินค้าส่งออกยังคงทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนมี.ค. ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. อย่างไรก็ดี หากไม่คำนึงถึงราคาสินค้าเกษตรซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง ราคาโดยรวมของสินค้าส่งออกกลับลดลงเล็กน้อย 0.1% เมื่อเทียบรายปีในเดือนมี.ค. ราคาสินค้านำเข้าโดยรวมสูงขึ้น 0.9% ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 2.4%  (อินโฟเควสท์)
สหรัฐเผยดัชนี PPI +2.7% เดือนมี.ค. ต่ำกว่าคาดการณ์ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนมี.ค.ในวันนี้  ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.3% จากระดับ 3.2% ในเดือนก.พ.  เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวลง 0.4% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% จากระดับ 3.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. (อินโฟเควสท์)
ม.มิชิแกนเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำกว่าคาดในเดือนเม.ย. ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.8 ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 54.6 จากระดับ 57.0 ในเดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 6.7% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2524 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 5.0% นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.4% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2534 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 4.1% (อินโฟเควสท์)
EIA หั่นคาดการณ์ดีมานด์-ราคาน้ำมัน กังวลภาษีทรัมป์กระทบเศรษฐกิจโลก สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกในปีนี้และปีหน้า โดยเตือนว่ามาตรการภาษีศุลกากรกำลังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และจะฉุดราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนักในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ EIA คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันและเชื้อเพลิงในตลาดโลกปี 2568 จะขยายตัว 900,000 บาร์เรล/วัน จากปี 2567 สู่ระดับประมาณ 103.6 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าอุปสงค์น้ำมันในปี 2568 จะขยายตัว 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนในปี 2569 นั้น EIA คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันจะขยายตัวราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน EIA ยังได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันทั้งในปีนี้และปีหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดพลังงานกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลงและอุปทานน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ EIA คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันเบรนท์จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ระดับ 67.87 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2568 ซึ่งลดลงอย่างมากจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 74.22 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนในปี 2569 คาดว่าราคาน้ำมันเบรนท์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 61.48 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 68.47 ดอลลาร์/บาร์เรล  ขณะเดียวกัน EIA คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 63.88 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2568 และ 57.48 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2569 ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 70.68 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2568 และ 64.97 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2569 (อินโฟเควสท์)
เฟดนิวยอร์กเผย คนอเมริกันกังวลเศรษฐกิจ-คาดเงินเฟ้อระยะสั้นพุ่งขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ว่า เงินเฟ้อในระยะ 1 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 โดยเพิ่มขึ้นจาก 3.1% ที่เคยคาดไว้ในเดือนก.พ. การคาดการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลด้านเศรษฐกิจ โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่า ราคาอาหารและค่าเช่าบ้านจะเพิ่มเร็วขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันและราคาบ้านจะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนเงินเฟ้อในระยะ 3 ปีข้างหน้ายังคงอยู่ที่ 3% และในระยะ 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยเหลือ 2.9% แม้แนวโน้มเงินเฟ้อระยะยาวจะยังอยู่ในระดับทรงตัว แต่แบบสำรวจยังพบว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคลดลง หลายคนมองว่ารายได้ในอนาคตจะโตช้าลง ขณะที่ความกังวลเรื่องการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563  สถานการณ์นี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจอเมริกากำลังชะลอตัว และยิ่งซับซ้อนขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังเดินหน้าใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบหลายสิบปี ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนสินค้าและแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก แม้ข้อมูลของเฟดนิวยอร์กระบุว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่แบบสำรวจจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนกลับพบว่า คนอเมริกันคาดว่าเงินเฟ้อในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจสูงสุดในรอบกว่า 30 ปีนับตั้งแต่ปี 2534 นอกจากนี้ แบบสำรวจยังพบว่า คนอเมริกันขอสินเชื่อได้ยากขึ้น และมีจำนวนคนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่รู้สึกว่าสถานะการเงินของตัวเองแย่ลง ขณะที่ความเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นนั้นได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางปี 2565 (อินโฟเควสท์)
เยลเลนเตือนนโยบายทรัมป์บั่นทอนความเชื่อมั่นในศก.สหรัฐฯ – สินทรัพย์สกุลดอลลาร์ เจเน็ต เยลเลน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยระบุว่านโยบายเก็บภาษีนำเข้าและแนวทางอื่น ๆ กำลังทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ สูญเสียความเชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ และทำให้นักลงทุนบางรายเริ่มหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ของสหรัฐฯ เยลเลนให้สัมภาษณ์กับ CNBC โดยกล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัญญาณที่น่ากังวล เนื่องจากพันธบัตรเหล่านี้เคยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการเงินโลก แต่ตอนนี้กลับมีคนเริ่มตั้งคำถามถึง ความปลอดภัยของสินทรัพย์เหล่านั้น เยลเลนกล่าวว่า เธอไม่คิดว่าจะเกิดความปั่นป่วนจากสภาพคล่องที่เหือดหายไปจากตลาดโดยสิ้นเชิง แต่รูปแบบที่เกิดขึ้นบ่งชี้ถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และในความปลอดภัยของสินทรัพย์หลักของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลงในวันนี้ หลังจากรัฐบาลทรัมป์ประกาศเมื่อสุดสัปดาห์ว่า จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนบางรายการเป็นการชั่วคราว เช่น สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และชิปเซมิคอนดักเตอร์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลง 0.08% จากวันศุกร์ มาอยู่ที่ 4.41% แม้ยังสูงกว่าระดับ 3.99% ของวันที่ 4 เม.ย. เยลเลนยังกล่าวว่า ถึงแม้การประมูลพันธบัตรอายุ 10 ปีและ 30 ปีเมื่อสัปดาห์ก่อนได้รับผลตอบรับที่ดี แต่เธอไม่แนะนำให้รัฐบาลหันไปออกพันธบัตรระยะสั้นเพิ่ม เพื่อรับมือกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มสูงขึ้น โดยย้ำว่าการออกพันธบัตรควรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาด เยลเลนยังระบุว่า นโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะภาษีนำเข้ากำลังทำลายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความสัมพันธ์กับพันธมิตร โดยทำให้หลายประเทศสงสัยในความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อนาโต, ยูเครน และข้อตกลงการค้า USMCA (สหรัฐฯ–เม็กซิโก–แคนาดา) พร้อมเตือนว่า สหรัฐฯ อาจกลายเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวและไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แม้เยลเลนยืนยันว่ายังไม่เห็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินในขณะนี้ แต่เธอกล่าวว่า หากเกิดปัญหาขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ยังมีเครื่องมือสนับสนุนสภาพคล่องที่เคยใช้ช่วงต้นยุคโควิด-19 ในปี 2563 (อินโฟเควสท์)
ผู้ว่าการเฟดหนุนลดดอกเบี้ย หากภาษีนำเข้าสูงฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัว คริส วอลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวในวันนี้ (14 เม.ย.) ว่า หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังคงใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอย่างมาก และเฟดอาจจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเงินเฟ้อพุ่งขึ้นก็ตาม วอลเลอร์กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองเซนต์หลุยส์ว่า หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง หรือถึงขั้นเสี่ยงถดถอย เขาก็คงจะสนับสนุนให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วกว่าที่คิดไว้ และลดมากกว่าที่เคยคาดไว้นอกจากนี้ วอลเลอร์กล่าวต่อว่า หากยังคงใช้นโยบายภาษีที่สูงมาก เงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนี PCE (Core PCE Inflation) อาจพุ่งขึ้นไปถึง 5% แต่จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และเฟดสามารถมองข้ามเงินเฟ้อนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย วอลเลอร์ยังระบุด้วยว่า หากอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% เฟดก็อาจจะไม่รีบร้อนในการเปลี่ยนนโยบายการเงิน และสามารถที่จะอดทนรอดูสถานการณ์ไปก่อนได้ (อินโฟเควสท์)
ปธ.เฟดบอสตันเตือนภาษีทรัมป์เสี่ยงทำเงินเฟ้อสูง-สกัดเฟดหั่นดอกเบี้ย ซูซาน คอลลินส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาบอสตัน กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กรุงวอชิงตัน ในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) ว่า แม้ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากมาตรการภาษีศุลกากรนั้น อาจทำให้เฟดเลื่อนเวลาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปอีก คอลลินส์กล่าวว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นรอบใหม่นี้ อาจทำให้การปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากเฟดต้องมีความมั่นใจว่าภาษีศุลกากรจะไม่ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพ อย่างไรก็ดี คอลลินส์มองว่า นโยบายการเงินของเฟดอยู่ในสถานะที่เหมาะสมในการรับมือกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงในขณะนี้ ในขณะที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดรอดูภาพรวมที่ชัดเจนว่าภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรนั้น คอลลินส์กล่าวว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ คอลลินส์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2568 อาจจะชะลอตัวลงอีก เนื่องจากอุปสงค์มีความอ่อนแอมากกว่าอุปทาน อย่างไรก็ดี เธอมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นไปในลักษณะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ไม่ใช่การทรุดตัวลงอย่างหนัก (อินโฟเควสท์)
ปธ.เฟดมินนีแอโพลิสเผยดอลล์ร่วง,บอนด์ยีลด์พุ่งบ่งชี้นักลงทุนเมินสินทรัพย์สหรัฐ นายนีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนีแอโพลิส กล่าวว่า การปรับตัวของตลาดในระยะนี้ ท่ามกลางการทำสงครามการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงให้เห็นว่านักลงทุนกำลังถอนตัวออกจากสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการลงทุน "การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลพุ่งขึ้นและดอลลาร์อ่อนค่าลงในระยะนี้ ถือเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่คุณเคยเห็นมา" "ตามปกติแล้ว เมื่อมีการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรจำนวนมาก ดอลลาร์ก็มักจะแข็งค่าขึ้น แต่การที่ดอลลาร์ดิ่งลงในระยะนี้ได้สร้างความน่าเชื่อถือต่อรายงานที่ว่าความพึงพอใจของนักลงทุนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว" นายแคชแครีกล่าว ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้น หลังจากที่ปธน.ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ต่อประเทศคู่ค้า ก่อนที่จะประกาศชะลอการเรียกเก็บออกไป 90 วัน ขณะที่ดอลลาร์ดิ่งลงกว่า 3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ซึ่งบ่งชี้ว่านักลงทุนกำลังเทขายสินทรัพย์สหรัฐ (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯ เริ่มสอบสวนการนำเข้ายาและชิป ส่งสัญญาณใช้มาตรการภาษี เฟเดอรัล เรจิสเตอร์ (Federal Register) ซึ่งเป็นประกาศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ประกาศเมื่อวานนี้ (14 เม.ย.) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มกระบวนการสอบสวนการนำเข้ายาและเซมิคอนดักเตอร์แล้ว เพื่อหาทางใช้มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าทั้งสองประเภทนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังสหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้า 10% ไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย. แต่ยังยกเว้นยาและเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี ทรัมป์ได้กล่าวว่าสินค้าเหล่านี้จะถูกพิจารณาเก็บภาษีแยกต่างหาก ทรัมป์กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า เขาจะประกาศอัตราภาษีนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ภายในสัปดาห์นี้ โดยอาจมีการยืดหยุ่นให้กับบางบริษัทในอุตสาหกรรมนี้  ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มการสอบสวนภายใต้มาตรา 232 เกี่ยวกับการนำเข้าทองแดงและไม้ ขณะที่ผลจากการสอบสวนในสมัยแรกของทรัมป์ได้นำไปสู่การกำหนดอัตราภาษีที่เริ่มใช้ไปแล้ว ทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ผ่านมานั้น สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าชิปจากไต้หวันเป็นอย่างมาก ขณะที่บริษัทผู้ผลิตยาได้ออกมาโต้แย้งว่าการเก็บภาษีนำเข้าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดแคลนยาและลดโอกาสการเข้าถึงยาของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังคงผลักดันมาตรการนี้ โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีการผลิตยาภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการจัดหายาจากต่างประเทศ (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์แย้ม อาจผ่อนปรนภาษีนำเข้ารถยนต์ ช่วยผู้ผลิตปรับตัว โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณเมื่อวันจันทร์ (14 เม.ย.) ว่า เขาอาจจะหาทางช่วยเหลือบริษัทผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้ามหาศาล เพื่อให้พวกเขามีเวลาปรับซัพพลายเชน ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ว่า "ผมกำลังดูแนวทางช่วยบริษัทรถยนต์บางรายที่กำลังเปลี่ยนไปใช้ชิ้นส่วนจากแคนาดา เม็กซิโก และที่อื่น ๆ พวกเขาต้องการเวลาสักหน่อย เพราะสุดท้ายก็จะผลิตที่นี่ (สหรัฐฯ)" สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งสัญญาณว่า ทรัมป์อาจจะยอมถอยจากมาตรการภาษีนำเข้าที่เขาตั้งไว้ก่อนหน้านี้ โดยภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ที่ผลิตนอกสหรัฐฯ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนเม.ย. ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และบริษัทอื่น ๆ รวมทั้งบริษัทอเมริกัน ทรัมป์ตอบ เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวสำหรับสินค้าบางชนิด "ผมเป็นคนยืดหยุ่นนะ ไม่ได้เปลี่ยนใจง่าย ๆ แต่ก็ปรับตัวได้ และจำเป็นต้องเป็นแบบนั้น" นอกจากนี้ ทรัมป์ยังย้ำว่าเขาไม่ได้อยากทำร้ายใคร "แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือเราจะไปสู่จุดที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศของเรา ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าเราฉลาดพอ" (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์เผยอาจยกเว้นภาษีนำเข้า 10% ให้บางประเทศ แต่ย้ำว่าเป็นอัตราขั้นต่ำสำหรับดีลการค้า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ อาจยกเว้นภาษีนำเข้า 10% ให้กับบางประเทศคู่ค้า แต่ยังคงยืนยันว่า อัตรา 10% นี้คือขั้นต่ำสำหรับประเทศที่ต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปฟลอริดาบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันเมื่อวันศุกร์ (11 เม.ย.) โดยระบุว่า อาจมีข้อยกเว้นบางกรณีด้วยเหตุผลที่ชัดเจน แม้จะไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุผลนั้นคืออะไร คำกล่าวของทรัมป์มีขึ้นหลังจากตลาดหุ้นและพันธบัตรของสหรัฐฯ ผันผวนอย่างหนักตลอดสัปดาห์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ แต่ก็เปลี่ยนใจระงับการบังคับใช้ในเวลาไม่นาน หลังตลาดการเงินสะท้อนความกังวลว่านโยบายภาษีอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ จีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก กลับถูกกำหนดภาษีนำเข้าสูงถึง 145% ส่วนประเทศอื่น ๆ ยังถูกเก็บที่อัตราพื้นฐาน 10% ล่าสุด จีนได้ออกมาตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีนและยังมีภาษีอีก 20% ที่ใช้กับสินค้าบางรายการอยู่ก่อนแล้ว แม้จีนจะระบุว่าไม่ต้องการเพิ่มภาษีไปมากกว่านี้ แต่ก็ย้ำว่าจะต่อสู้จนถึงที่สุด พร้อมเตรียมมาตรการตอบโต้เพิ่มเติมโดยยังไม่เปิดเผยรายละเอียด เมื่อถูกถามถึงท่าทีต่อจีน ทรัมป์กล่าวว่า เขาเชื่อว่าจะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในท้ายที่สุด และยังกล่าวชื่นชมประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนว่าเป็นผู้นำที่เก่งและฉลาดมาก (อินโฟเควสท์)
Apple-Nvidia โล่ง สหรัฐฯ ยกเว้นสมาร์ทโฟน-คอมพิวเตอร์-ชิป จากภาษีตอบโต้ สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ ประกาศในเอกสารชี้แจงแนวปฏิบัติฉบับปรับปรุงล่าสุดว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเว้นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ จากภาษีศุลกากรตอบโต้ เอกสารดังกล่าวซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า การยกเว้นนี้มีผลกับสินค้าเล็กทรอนิกส์ที่เข้าสู่สหรัฐฯ หลังวันที่ 5 เมษายน และสามารถขอคืนภาษีศุลกากรตอบโต้ที่ชำระไปแล้วได้ "นี่คือการปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีศุลกากรโดยฉับพลันครั้งใหญ่" Kobeissi Letter ซึ่งเป็นจดหมายข่าวทางการเงิน ระบุบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์  การประกาศล่าสุดนี้อาจช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกของผู้บริโภคจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ในขณะเดียวกันก็สร้างความโล่งใจให้กับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แอปเปิ้ล อิงค์ (Apple Inc.) ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics Co.) และอินวิเดีย (Nvidia) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นโยบายภาษีศุลกากรที่คาดเดาไม่ได้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงิน และยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย แม้แต่บุคคลสำคัญภายในพรรครีพับลิกันเอง ซึ่งรวมถึงอดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์หวังย้ายฐานผลิต iPhone สู่สหรัฐฯ แต่คาดเผชิญข้อจำกัดหลายประการ ทำเนียบขาวเปิดเผยในสัปดาห์นี้ถึงจุดยืนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้บริษัทแอปเปิ้ล (Apple) ย้ายฐานการผลิตไอโฟน (iPhone) ไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากดำเนินการได้จริงจะกลายเป็นชัยชนะของทรัมป์ที่เดิมพันด้วยนโยบายเก็บภาษีนำเข้าและคำมั่นสัญญาในการดึงงานกลับประเทศ คณะบริหารของทรัมป์เองประเมินว่าการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตสู่สหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากแผนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงถึง 145% รวมถึงแผนลงทุนของแอปเปิ้ลในสหรัฐฯ 5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 4 ปีข้างหน้า แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า การทุ่มลงทุนดังกล่าวของแอปเปิ้ลสะท้อนความเชื่อมั่นในศักยภาพของสหรัฐฯ สำหรับการผลิตไอโฟนในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชี้ว่า การย้ายฐานการผลิตดังกล่าวยังเป็นไปได้ยากในระยะเวลาอันใกล้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งขาดโรงงานและแรงงานที่จำเป็น อีกทั้งสหรัฐฯ ยังไม่มีระบบนิเวศของห่วงโซ่อปุทาน และองค์ความรู้ด้านการผลิตและวิศวกรรมที่แข็งแกร่งเหมือนในเอเชีย ปัจจุบัน แอปเปิ้ลกำลังมุ่งไปที่การขยายฐานการผลิตในอินเดียแทนจีน โดยต้องการพัฒนาให้อินเดียเป็นฐานการผลิตไอโฟนสำหรับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อีกทั้งพันธมิตรของแอปเปิ้ลกำลังก่อสร้างโรงงานประกอบไอโฟนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในอินเดีย (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์ขู่เพิ่มภาษีเม็กซิโก ปมพิพาทแบ่งปันน้ำข้ามพรมแดน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าและคว่ำบาตรเม็กซิโก กรณีไม่ยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาว่าด้วยการแบ่งปันน้ำข้ามพรมแดน พร้อมกล่าวหาเม็กซิโกขโมยน้ำจากเกษตรกรในรัฐเท็กซัส ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านทรูธ โซเชียล เมื่อวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) ว่า "บรูก โรลลินส์ รัฐมนตรีเกษตรของผม กำลังยืนหยัดเพื่อเกษตรกรเท็กซัส และเราจะเดินหน้าบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อไป ทั้งการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และอาจรวมถึงการคว่ำบาตร จนกว่าเม็กซิโกจะเคารพสนธิสัญญา และส่งน้ำที่เป็นของเท็กซัสคืนมา" ภายใต้สนธิสัญญาปี 2487 เม็กซิโกต้องปล่อยน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์มายังสหรัฐฯ ราว 1.75 ล้านเอเคอร์-ฟุต ทุกๆ 5 ปี ผ่านระบบเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อกัน ข้อพิพาทครั้งนี้ปะทุขึ้นในช่วงที่ทั้งเม็กซิโกและรัฐเท็กซัสกำลังเผชิญภัยแล้งอย่างรุนแรง โดยรายงานจากหน่วยติดตามภัยแล้งของสหรัฐฯ (NADM) ระบุว่า ณ สิ้นเดือนก.พ. ที่ผ่านมา พื้นที่กว่า 70% ของลุ่มน้ำริโอแกรนด์/บราโว อยู่ในสภาวะภัยแล้งตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรงที่สุด ด้านประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ผู้นำเม็กซิโก ออกมาตอบโต้ผ่านโพสต์บนเอ็กซ์ โดยระบุว่าเม็กซิโกยังคงปฏิบัติตามสนธิสัญญาเท่าที่มีทรัพยากรน้ำเพียงพอ พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประสานกับกระทรวงเกษตรและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยทันที เพื่อหาทางออกร่วมกัน (อินโฟเควสท์)
รัฐบาลทรัมป์เดินหน้าแผนถอดบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ สหรัฐฯ อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเพิกถอนหุ้นบริษัทจดทะเบียนของจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ จากการเปิดเผยของนักข่าว Fox Business ซึ่งอ้างอิงแหล่งข่าวหลายราย โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสองประเทศที่กำลังร้อนระอุ ชาร์ลส์ กาสปาริโน ผู้สื่อข่าว Fox Business โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ วันนี้ (11 เม.ย.) โดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า มีแนวโน้มว่า พอล แอตกินส์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) คนใหม่ จะเข้ามาพิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อเขารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมระบุด้วยว่าความเป็นไปได้ในการถอดหุ้นจีนนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการค้า ตลอดจนกระแสความต้องการจากสมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกัน โพสต์ของนักข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า กฎหมายของสหรัฐฯ อนุญาตให้ถอนหุ้นออกจากตลาดได้ หากบริษัทจีนไม่อนุญาตให้ตรวจสอบบัญชีและความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีหุ้นของบริษัทจีนมากกว่า 300 แห่ง ที่จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา (Alibaba), ซิโนเปค (Sinopec), เจดีดอทคอม (JD.com) และเน็ตอีส (NetEase) ก่อนหน้าที่กาสปาริโนจะโพสต์ข้อความดังกล่าว สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ Fox Business เมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ว่า การพิจารณาเพิกถอนหุ้นจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในทางเลือกที่อาจเกิดขึ้นได้ ทางด้านทรัมป์ก็ตอบโต้ทันควันโดยประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะปรับขึ้นภาษีการค้ากับจีนเป็น 125% ในทันที อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 เม.ย.) สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานโดยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ว่า ปัจจุบันอัตราภาษีทั้งหมดที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้าจีนรวมอยู่ที่ 145% แล้ว (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวกกว่า 300 จุด ตลาดยังรับข่าวทรัมป์ยกเว้นภาษีบางรายการ (15 เม.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (14 เม.ย.) โดยตลาดยังคงได้แรงหนุน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าบางรายการอย่างไม่คาดคิด ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,524.79 จุด เพิ่มขึ้น 312.08 จุด หรือ +0.78%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,405.97 จุด เพิ่มขึ้น 42.61 จุด หรือ +0.79% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,831.48 จุด เพิ่มขึ้น 107.03 จุด หรือ +0.64% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวกกว่า 300 จุด ตลาดยังรับข่าวทรัมป์ยกเว้นภาษีบางรายการ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (14 เม.ย.) โดยตลาดยังคงได้แรงหนุน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าบางรายการอย่างไม่คาดคิด ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,524.79 จุด เพิ่มขึ้น 312.08 จุด หรือ +0.78%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,405.97 จุด เพิ่มขึ้น 42.61 จุด หรือ +0.79% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,831.48 จุด เพิ่มขึ้น 107.03 จุด หรือ +0.64% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 619.05 จุด ความเห็นจนท.เฟดหนุนตลาด (11 เม.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (11 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่เริ่มรายงานผลประกอบการไตรมาสแรก และนักลงทุนคลายความกังวลหลังจากที่การซื้อขายในสัปดาห์นี้เต็มไปด้วยความผันผวน อันเป็นผลจากการทำสงครามการค้าหลายด้านของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ช่วยหนุนตลาดด้วย ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,212.71 จุด เพิ่มขึ้น 619.05 จุด หรือ +1.56%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,363.36 จุด เพิ่มขึ้น 95.31 จุด หรือ +1.81% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,724.46 จุด เพิ่มขึ้น 337.15 จุด หรือ +2.06% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดลบ 20 เซนต์ วิตกนโยบายการค้าสหรัฐฯกระทบดีมานด์ (15 เม.ย.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (15 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขณะเดียวกันนักลงทุนพยายามประเมินผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.33% ปิดที่ 61.33 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 21 เซนต์ หรือ 0.32% ปิดที่ 64.67 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวกเล็กน้อย ขานรับสหรัฐฯ ยกเว้นภาษีสินค้าบางประเภท-จีนนำเข้าน้ำมันเพิ่ม  (14 เม.ย.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในวันจันทร์ (14 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางรายการ ประกอบกับข้อมูลการนำเข้าน้ำมันของจีนในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ราคาน้ำมันก็ยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งอาจฉุดเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 3 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 61.53 ดอลลาร์/บาร์เรล  ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 12 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 64.88 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $1.43 ขานรับข่าวสหรัฐฯจ่อสกัดอิหร่านส่งออกน้ำมัน (11 เม.ย.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (11 เม.ย.) หลังจากคริส ไรท์ รัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ อาจยุติการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน เพื่อกดดันให้อิหร่านยอมเจรจาในประเด็นโครงการนิวเคลียร์ ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.43 ดอลลาร์ หรือ 2.38% ปิดที่ 61.50 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.43 ดอลลาร์ หรือ 2.26% ปิดที่ 64.76 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง นลท.ไม่มั่นใจในสินทรัพย์ปลอดภัยของสหรัฐฯ (14 เม.ย.) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (14 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินหลักของโลก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ มีคำสั่งเกี่ยวกับภาษีนำเข้าที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.34% แตะที่ระดับ 99.68 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วงต่อเนื่อง นลท.ไม่มั่นใจในสินทรัพย์ปลอดภัยของสหรัฐฯ (11 เม.ย.) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (11 เม.ย.) หลังจากการตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเรื่องภาษีนำเข้าสินค้า กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในด้านความปลอดภัยของเงินดอลลาร์ โดยดอลลาร์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส และระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเทียบกับยูโร ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.76% แตะที่ระดับ 100.102 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $14.10 รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย-จับตาถ้อยแถลงพาวเวล  (15 เม.ย.) สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (15 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.10 ดอลลาร์ หรือ 0.44% ปิดที่ 3,240.40 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $18.3 จากแรงขายรับสหรัฐฯ ยกเว้นภาษีสินค้าบางประเภท (14 เม.ย.) สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันจันทร์ (14 เม.ย.) ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านั้น โดยนักลงทุนบางส่วนได้ขายทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีตอบโต้สินค้าบางประเภท เช่น สมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 18.3 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 3,226.30 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดพุ่งทะลุ 3,200 ดอลล์ วิตกเทรดวอร์-ดอลล์อ่อนหนุนแรงซื้อ (11 เม.ย.) สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (11 เม.ย.) ทะลุระดับ 3,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และหันมาซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย  ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 67.10 ดอลลาร์ หรือ 2.11% ปิดที่ 3,244.60 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ผันผวนพุ่งเหนือ 4.5% นักลงทุนจับตาเทรดวอร์ (11 เม.ย.) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 4.5% ขณะที่นักลงทุนจับตาการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน  ณ เวลา 22.19 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.559% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.961% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
เยอรมนีเผยเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ชะลอลงแตะ 2.2% เท่ากับรายงานเบื้องต้น สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) รายงานข้อมูลเงินเฟ้อขั้นสุดท้ายในวันนี้ (11 เม.ย.) โดยระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค. อยู่ที่ 2.2% เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับ 2.3% ในเดือนก.พ. ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายเดือน CPI ของเยอรมนี ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีที่ถูกปรับให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (HICP) อยู่ที่ 2.3% ในเดือนมี.ค. ชะลอตัวลงจากระดับ 2.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน พบว่าดัชนี HICP ของเยอรมนีอยู่ที่ 0.4% ชะลอตัวลงจากระดับ 0.5% ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่เปิดเผยล่าสุดในวันนี้เป็นข้อมูลขั้นสุดท้ายของเดือนมี.ค. ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่สำนักงานสถิติฯ รายงานเมื่อวันที่ 31 มี.ค. (อินโฟเควสท์)
ตัวแทน EU เตรียมบินไปสหรัฐ หลังได้คิวเจรจาภาษี "ทรัมป์" 14 เม.ย. สหภาพยุโรป (EU) แถลงว่า นายมารอส เซฟโควิช ประธานกรรมาธิการการค้ายุโรป จะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซีในวันที่ 13 เม.ย. ก่อนที่จะทำการเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐในวันที่ 14 เม.ย. โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บระหว่างทั้งสองฝ่าย "ท่านประธานกรรมาธิการการค้าจะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันเพื่อพยายามเจรจา และลงนามในข้อตกลง นี่คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ" "เรามีข้อเสนอมากมาย และเราพร้อมที่จะเจรจา แต่ทางเลือกทุกอย่างยังคงอยู่บนโต๊ะ หากผลการเจรจาไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ" นายโอลอฟ กิลล์ โฆษก EU ระบุ นอกจากนี้ นายกิลล์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐกำลังต้องการอะไรจาก EU แต่การที่สหรัฐชะลอการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ออกไป จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสในการเจรจาเพื่อให้มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าววานนี้ว่า EU จะชะลอการใช้มาตรการตอบโต้การเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดทางสำหรับการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้าของทั้งสองฝ่าย การตัดสินใจดังกล่าวของ EU มีขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้มีการระงับการเรียกเก็บภาษี 20% ต่อสินค้านำเข้าจาก EU โดยมีการปรับลดลงมาเหลือเพียง 10% เป็นเวลา 90 วัน เช่นเดียวกับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐ ยกเว้นจีน ก่อนหน้านี้ EU ให้การอนุมัติต่อมาตรการตอบโต้ต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจาก EU ในอัตรา 20% โดย EU จะเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าส่วนใหญ่จากสหรัฐในอัตรา 25% ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึง ถั่วเหลือง สัตว์ปีก ยาสูบ เหล็กและอะลูมิเนียม โดยสินค้าเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าราว 2.2 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว   EU จะเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าจากสหรัฐเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก จะเรียกเก็บภาษีต่อแครนเบอร์รีและน้ำส้ม โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 เม.ย. ส่วนระยะที่ 2 จะเรียกเก็บภาษีต่อเหล็ก เนื้อ ช็อกโกแลตขาว และสารโพลีเอทิลีน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 พ.ค. ส่วนระยะที่ 3 จะเรียกเก็บภาษีต่ออัลมอนด์และถั่วเหลือง โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. (อินโฟเควสท์)
EU-จีน เตรียมถกราคาขั้นต่ำรถ EV หาทางออกปมภาษีนำเข้า คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) ว่า สหภาพยุโรป (EU) และจีนตกลงที่จะศึกษาแนวทางการกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในจีน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากการตั้งกำแพงภาษีที่ EU บังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังการหารือระหว่างมารอช เชฟโชวิช กรรมาธิการการค้าของ EU และหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ตามคำกล่าวของโฆษก ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ยืนยันว่า การเจรจาจะเริ่มต้นขึ้นในทันที ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ EU ได้ปรับขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับรถ EV ที่ผลิตในจีนอย่างมีนัยสำคัญ สูงสุดถึง 45.3% เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่ามีความกังวลเรื่องเงินอุดหนุนจากภาครัฐจีน ภาษีดังกล่าวรวมถึงอัตราเฉพาะสำหรับค่ายรถยนต์รายใหญ่ ได้แก่ บีวายดี (BYD) 17.0%, จี๋ลี่ (Geely) 18.8%, และเอสเอไอซี (SAIC) 35.3% เพิ่มเติมจากภาษีนำเข้ารถยนต์มาตรฐานของ EU ที่ 10% ก่อนหน้านี้ เชฟโชวิชเคยเน้นย้ำว่า ข้อตกลงกำหนดราคาขั้นต่ำใด ๆ จะต้องมีประสิทธิผลและสามารถบังคับใช้ได้จริงไม่ต่างจากมาตรการทางภาษีที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม EC ยังคงมีท่าทีระมัดระวัง โดยชี้ว่า ข้อตกลงราคาขั้นต่ำในอดีตมักใช้กับสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่ไม่ซับซ้อน ไม่ใช่กับผลิตภัณฑ์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างรถยนต์ นอกจากนี้ การกำหนดราคาขั้นต่ำเพียงราคาเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากเงินอุดหนุนจากภาครัฐจีนได้ ที่ผ่านมา EU และจีนได้พยายามเจรจาหาทางออกอื่นนอกเหนือจากการใช้มาตรการภาษีนำเข้า ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้าตึงเครียด และนำไปสู่มาตรการตอบโต้จากฝั่งจีน เช่น การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอย่างคอนญักฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว (อินโฟเควสท์)
อังกฤษเผย GDP เดือนก.พ.โต 0.5% สูงกว่าคาด ขานรับภาคบริการแกร่ง สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงานในวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษขยายตัว 0.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งมากที่สุดในรอบเกือบหนึ่งปี และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.1% ทั้งนี้ ตัวเลข GDP เดือนก.พ. ได้รับแรงหนุนจากภาคบริการที่ขยายตัว 0.3% และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 2.2% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจอังกฤษเริ่มฟื้นตัว หลังจากที่หดตัวลงอย่างเหนือความคาดหมาย 0.1% ในเดือนม.ค. เงินปอนด์แข็งค่า 0.2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2988 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังจากสำนักงานสถิติเปิดเผยตัวเลข GDP ที่แข็งแกร่งเกินคาด อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยตัวเลข GDP ในวันนี้ มีขึ้นในขณะที่อังกฤษกำลังเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอังกฤษในอัตรา 10% (อินโฟเควสท์)
อังกฤษสนับสนุนเงิน 2 หมื่นล้านปอนด์ รับมือภาษีสหรัฐฯ รัฐบาลอังกฤษประกาศในวันนี้ (13 เม.ย.) ว่า จะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ส่งออกเป็นเงิน 2 หมื่นล้านปอนด์ (2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจในอังกฤษในการรับมือกับผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กำหนดมาตรการการค้าใหม่ รวมถึงภาษีนำเข้าเหล็ก อลูมิเนียม และรถยนต์ 25% และภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้านำเข้าอื่น ๆ ส่วนใหญ่จากประเทศต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งให้ผู้ส่งออกของอังกฤษหลายรายกังวล เนื่องจากปัจจุบันต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนมากขึ้นเมื่อต้องขายสินค้าให้กับสหรัฐฯ การเพิ่มดังกล่าวจะช่วย UK Export Finance (UKEF) ให้สามารถให้สินเชื่อได้มากขึ้นเป็น 8 หมื่นล้านปอนด์ โดยจัดสรรเงินสูงสุด 1 หมื่นล้านปอนด์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีมากที่สุดในระยะสั้น เรเชล รีฟส์ รัฐมนตรี กระทรวงการคลังอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ ในยุคที่การค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเธอกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนบริษัทระดับโลกของอังกฤษและช่วยให้พวกเขาสามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้ แผนดังกล่าวระบุว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะสามารถสมัครขอสินเชื่อได้สูงสุด 2 ล้านปอนด์เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินกิจการและรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ การสนับสนุนดังกล่าว มุ่งหวังที่จะมอบเสถียรภาพและความมั่นใจที่จำเป็นอย่างยิ่งแก่ผู้ส่งออกของอังกฤษในขณะที่ภูมิทัศน์การค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป (อินโฟเควสท์)
ตลาดแรงงานอังกฤษส่อแผ่ว นายจ้างชิงลดคนก่อนการปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคม ข้อมูลเบื้องต้นจากฝั่งนายจ้างในสหราชอาณาจักรที่ส่งให้กรมสรรพากร เปิดเผยในวันนี้ (15 เม.ย.) ว่า จำนวนลูกจ้างในระบบลดลงถึง 78,000 คนในเดือนมี.ค. นับเป็นการปรับลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ข้อมูลนี้ยิ่งตอกย้ำแนวโน้มขาลง เมื่อตัวเลขของเดือนก.พ.ก็ถูกปรับแก้ จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 21,000 ตำแหน่ง กลายเป็นลดลง 8,000 ตำแหน่ง  ด้านหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก KPMG UK ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านแรงงานในเดือนเม.ย. อันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคมที่ผลักดันโดยรัฐมนตรีคลัง ราเชล รีฟส์ น่าจะส่งผลให้การเติบโตของค่าจ้างชะลอตัวลงในไม่ช้า นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเกือบ 7% ในเดือนนี้ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจจ้างงานของภาคธุรกิจ ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (ONS) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 จำนวนตำแหน่งงานว่างลดลงมาอยู่ที่ 781,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี ONS ระบุว่า ค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์ (ไม่รวมโบนัส) ในช่วงสามเดือนสิ้นสุดเดือนก.พ. ยังคงเติบโต 5.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากอัตรา 5.8% (ตัวเลขปรับปรุงใหม่) ในช่วงสามเดือนสิ้นสุดเดือนม.ค. ส่วนค่าจ้างภาคเอกชน (ไม่รวมโบนัส) ในช่วงสามเดือนสิ้นสุดเดือนก.พ. ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จับตา ก็เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบรายปี คงที่จากอัตราในช่วงสามเดือนสิ้นสุดเดือนม.ค. สำหรับอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการ ONS รายงานว่ายังคงอยู่ที่ 4.4% แต่ย้ำว่าข้อมูลนี้มาจากการสำรวจที่กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงครั้งใหญ่ และอาจไม่สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แม่นยำนักในปัจจุบัน (อินโฟเควสท์)
Barclays คาดยูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยช่วงครึ่งปีหลังจากความเสี่ยงด้านภาษี นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ส (Barclays) มองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ชะลอการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ออกไป 90 วันก็ตามนักวิเคราะห์ระบุว่า พวกเขายังรอความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องภาษีของทรัมป์ก่อนจะประเมินผลกระทบต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจของยูโรโซนอีกครั้ง ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25% ในการประชุมสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสัญญาณเงินเฟ้อในยูโรโซนเริ่มมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ ECB ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง ทรัมป์ได้ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ 20% กับสหภาพยุโรป (EU) แต่ต่อมาก็ได้เลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม EU ยังคงเผชิญภาษีพื้นฐาน 10% และภาษี 25% สำหรับเหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ นักวิเคราะห์บางรายระบุว่า หากนโยบายภาษีของทรัมป์ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ECB อาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงต่ำกว่า 2% ภายในปีนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ออลลี เรห์น ผู้ว่าการธนาคารกลางฟินแลนด์และกรรมการ ECB กล่าวว่า มาตรการทางการค้าของทรัมป์ได้เพิ่มความเสี่ยงในด้านลบต่อเศรษฐกิจ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดบวก ขานรับทรัมป์ส่งสัญญาณลดภาษีรถยนต์ (15 เม.ย.) ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันอังคาร (15 เม.ย.) หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ระบุว่า เขากำลังพิจารณาปรับลดภาษี 25% ที่เรียกเก็บกับการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จากเม็กซิโก แคนาดา และประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้ดัชนีหุ้นกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนพุ่งขึ้น 2.3% แต่หุ้นแอลวีเอ็มเอช (LVMH) ในกลุ่มสินค้าหรูหราร่วงลงอย่างหนัก หลังเปิดเผยยอดขายไตรมาสแรกต่ำกว่าคาด เนื่องจากความอ่อนแอของยอดขายในสหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 508.06 จุด เพิ่มขึ้น 8.17 จุด หรือ +1.63% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,335.40 จุด เพิ่มขึ้น 62.28 จุด หรือ +0.86%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 21,253.70 จุด เพิ่มขึ้น 298.87 จุด หรือ +1.43% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,249.12 จุด เพิ่มขึ้น 114.78 จุด หรือ +1.41% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดบวก ตลาดยังรับข่าวทรัมป์ยกเว้นภาษีบางรายการ (14 เม.ย.) ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ (14 เม.ย.) โดยตลาดยังคงได้แรงหนุน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าบางรายการอย่างไม่คาดคิด ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 499.89 จุด เพิ่มขึ้น 13.09 จุด หรือ +2.69% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,273.12 จุด เพิ่มขึ้น 168.32 จุด หรือ +2.37%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 20,954.83 จุด เพิ่มขึ้น 580.73 จุด หรือ +2.85% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,134.34 จุด เพิ่มขึ้น 170.16 จุด หรือ +2.14% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบเป็นสัปดาห์ที่ 3 สงครามภาษีฉุดตลาด (11 เม.ย.) ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันศุกร์ (11 เม.ย.) โดยดัชนี STOXX 600 ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ท่ามกลางความผันผวนอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้า ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 486.80 จุด ลดลง 0.48 จุด หรือ -0.10% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,104.80 จุด ลดลง 21.22 จุด หรือ -0.30%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 20,374.10 จุด ลดลง 188.63 จุด หรือ -0.92% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,964.18 จุด เพิ่มขึ้น 50.93 จุด หรือ +0.64% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 114.78 จุด หุ้นกลุ่มการเงิน-กลาโหมหนุนตลาด (15 เม.ย.) ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันอังคาร (15 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มอุตสาหกรรมกลาโหม หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า อาจยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์บางส่วน และนักลงทุนประเมินข้อมูลตลาดแรงงานเพื่อจับทิศทางนโยบายการเงิน ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,249.12 จุด เพิ่มขึ้น 114.78 จุด หรือ +1.41% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 170.16 จุด ตลาดยังรับข่าวทรัมป์ยกเว้นภาษีบางรายการ (14 เม.ย.) ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันจันทร์ (14 เม.ย.) โดยตลาดยังคงได้แรงหนุน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าบางรายการอย่างไม่คาดคิด ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,134.34 จุด เพิ่มขึ้น 170.16 จุด หรือ +2.14% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 50.93 จุด หุ้นกลุ่มเหมืองแร่หนุนตลาด (11 เม.ย.) ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันศุกร์ (11 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ แม้ความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นจะทำให้นักลงทุนยังคงระมัดระวัง หลังจากตลาดผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์จากความไม่แน่นอนเรื่องภาษีนำเข้า  ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,964.18 จุด เพิ่มขึ้น 50.93 จุด หรือ +0.64% (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
ราคาข้าวในญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้รัฐใช้มาตรการคุมราคา รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ (14 เม.ย.) ว่า ราคาข้าวในประเทศพุ่งขึ้นแตะระดับเฉลี่ย 4,214 เยน (29 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อ 5 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าระดับเมื่อปีที่แล้วถึง 2 เท่า และแสดงให้เห็นว่ามาตรการระบายข้าวจากคลังสำรองช่วยชะลอราคาที่พุ่งสูงขึ้นได้เพียงเล็กน้อย สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้เปิดประมูลข้าวจากคลังสำรองประมาณ 212,000 ตันจำนวน 2 รอบ เพื่อช่วยกระจายสินค้าสู่ตลาด โดยบางส่วนเริ่มวางขายในช่วงปลายเดือนมี.ค. แต่ราคาข้าวเฉลี่ยที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศระหว่างวันที่ 31 มี.ค. - 6 เม.ย. ก็ยังเพิ่มขึ้นอีก 8 เยนจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้เป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 14 และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในเดือนมี.ค. 2565 ทาคุ เอโตะ รัฐมนตรีเกษตรของญี่ปุ่นระบุว่า สถานการณ์นี้ "ผิดปกติอย่างมาก" และเรียกร้องให้ผู้ค้าส่งและร้านค้าปลีกช่วยกันพยายามลดราคาข้าว พร้อมทั้งขอให้ "เข้าใจเจตนาและเป้าหมายของการขายข้าวจากคลังสำรอง" รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าเปิดประมูลข้าวจากคลังสำรองต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ได้สั่งการเมื่อวันพุธให้กระทรวงเกษตรดำเนินการระบายข้าวเป็นประจำทุกเดือนตั้งแต่เดือนเม.ย. ไปจนถึงราวเดือนก.ค. โดยจะมีการเปิดประมูลข้าวเพิ่มเติมอีก 100,000 ตันภายในเดือนนี้ ส่วนสาเหตุหลักของราคาข้าวที่พุ่งสูงในครั้งนี้มาจากผลผลิตข้าวที่ลดลงในช่วงฤดูร้อนปี 2566 เนื่องจากอุณหภูมิที่สูง ส่งผลให้มีปริมาณข้าวกระจายสู่ตลาดได้น้อยลงในปี 2567 (อินโฟเควสท์)
ผู้แทนญี่ปุ่นปัดเจรจาปัญหาด้านสกุลเงินในการหารือภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ เรียวเซ อากาซาวะ รัฐมนตรีกระทรวงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งทำหน้าที่เจรจาภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ ยืนยันจะไม่หารือเกี่ยวกับปัญหาด้านสกุลเงิน โดยระบุว่า การหารือในประเด็นดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายการเงินของทั้งสองชาติ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า อาซากาวะเปิดเผยต่อรัฐสภา หลังจากที่สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ คู่เจรจาของเขาโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียว่า เขาตั้งตารอที่จะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ด้านภาษีศุลกากร อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ปัญหาด้านสกุลเงิน และการอุดหนุนของรัฐบาล ทั้งนี้ อาซากาวะคาดว่าจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับภาษีศุลกากรทวิภาคีในสัปดาห์นี้ (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่นตั้งคณะทำงานรับมือผลกระทบจากภาษีทรัมป์ ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงในวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า รัฐบาลได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อิชิบะกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมหลากหลายประเภท พร้อมมอบหมายให้เรียวเซ อาคาซาวะ รัฐมนตรีที่ดูแลการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการประสานงานกับรัฐมนตรีคนอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมออกมาตรการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจญี่ปุ่น สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า พรรคร่วมรัฐบาลกำลังพิจารณาเสนอให้นายกรัฐมนตรีลดภาษีการบริโภค เพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อและแรงกดดันจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยอาจมุ่งเน้นไปที่กลุ่มสินค้าอาหาร ซึ่งมีราคาพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง รายงานข่าวยังระบุอีกด้วยว่า สมาชิกบางส่วนของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) วางแผนผลักดันให้ข้อเสนอลดภาษีนี้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งระดับประเทศที่จะมีขึ้นในช่วงฤดูร้อน อิชิบะเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่ยังไม่คลี่คลาย ซ้ำร้ายด้วยภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาษีรถยนต์ 25% ที่คุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดบวก 0.84% รับข่าวทรัมป์อาจผ่อนปรนภาษีนำเข้ารถยนต์ (15 เม.ย.) ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดบวกในวันนี้ (15 เม.ย.) รับความหวังหลังมีรายงานข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะหาทางช่วยเหลือบริษัทผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้า สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดที่ระดับ 34,267.54 จุด เพิ่มขึ้น 285.18 จุด หรือ 0.84% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดบวก 1.18% นลท.คาดภาษีชิปไม่รุนแรงอย่างที่คิด (14 เม.ย.)  ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวบวกในวันนี้ (14 เม.ย.) รับความหวังว่า การจัดเก็บภาษีชิปของสหรัฐฯ ในอนาคตจะไม่รุนแรงอย่างที่คิด สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดที่ระดับ 33,982.36 จุด เพิ่มขึ้น 396.78 จุด หรือ 1.18% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดดิ่งเกือบ 3% วิตกเทรดวอร์สหรัฐฯ-จีน (11 เม.ย.) ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดดิ่งลงเกือบ 3% ในวันนี้ (11 เม.ย.) โดยมีบางช่วงร่วงลงไปเกือบ 2,000 จุด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจขยายวงกว้างขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มส่งออกเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก หลังเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจนแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดที่ระดับ 33,585.58 จุด ร่วงลง 1,023.42 จุด หรือ -2.96% (อินโฟเควสท์)
จีน
กระทรวงการคลังจีนเตรียมออกพันธบัตรวงเงิน 1.25 หมื่นล้านหยวนในฮ่องกง กระทรวงการคลังจีนเปิดเผยในวันนี้ว่า ทางกระทรวงฯ จะออกพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินหยวนชุดที่ 2 ของปีนี้ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง วันที่ 23 เมษายนนี้ แถลงการณ์ของกระทรวงฯ ระบุว่า พันธบัตรชุดนี้มีมูลค่ารวม 1.25 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มูลค่าดังกล่าวเท่ากับการออกพันธบัตรครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการออกพันธบัตรจะประกาศผ่านเว็บไซต์ของศูนย์ตลาดเงิน (Central Moneymarkets Unit) ในสังกัดธนาคารกลางฮ่องกง (อินโฟเควสท์)
จีนเผยยอดผลิต-ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่พุ่งทะยานใน Q1/68 สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน (CAAM) เปิดเผยในวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า ยอดผลิตและขายรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 1/2568 ข้อมูลระบุว่า การผลิตรถยนต์พลังงานใหม่พุ่งขึ้น 50.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 3.18 ล้านคันในไตรมาส 1/2568 ขณะเดียวกัน ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่พุ่งสูงขึ้น 47.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 3.08 ล้านคัน คิดเป็น 41.2% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว (อินโฟเควสท์)
จีนสู้ไม่ถอย เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้ามะกันเป็น 125% สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลจีนมีมติเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เป็น 125% แล้ว จากเดิม 84% ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวานนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังทำเนียบขาวของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรรวมทั้งหมดต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145% เจ้าหน้าที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน สู่ระดับ 125% แต่อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่รวมกับที่ปธน.ทรัมป์เรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% เพื่อลงโทษจีนที่ไม่ได้สกัดการไหลทะลักของยาเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ขณะนี้สหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145% (อินโฟเควสท์)
จีนยันไม่เก็บภาษีตอบโต้กับผู้ผลิตชิปสหรัฐฯ ที่จ้างผลิตในต่างประเทศ สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีน (China Semiconductor Industry Association - CSIA) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (11 เม.ย.) ว่า บริษัทผลิตชิปของสหรัฐฯ ที่ใช้โรงงานในต่างประเทศจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้จากจีน   ทั้งนี้ จีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% เมื่อวันศุกร์ (11 เม.ย.) เพื่อตอบโต้การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าจีนเป็น 145% การชี้แจงนี้มีขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรม เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานชิปมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าศุลกากรจีนจะพิจารณาประเทศต้นทางของชิปอย่างไร จากข้อมูลของ EETop แพลตฟอร์มข่าวสารด้านอุตสาหกรรมชิปในจีนระบุว่า บริษัทสหรัฐฯ อย่างควอลคอมม์ (Qualcomm) และเอเอ็มดี (AMD) ที่จ้างโรงงานในไต้หวัน เช่น ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (TSMC) ผลิตชิปให้นั้น จะถูกจัดให้มีประเทศต้นทางเป็นไต้หวัน ไม่ใช่สหรัฐฯ นั่นหมายความว่า บริษัทจีนที่นำเข้าชิปเหล่านี้จะไม่ต้องเสียภาษีตอบโต้จากจีน ในทางตรงกันข้าม ชิปที่ผลิตในโรงงานของสหรัฐฯ โดยบริษัทอย่างอินเทล (Intel), เท็กซัส อินสทรูเมนต์ส (Texas Instruments), เอดีไอ (ADI) และออน เซมิคอนดักเตอร์ (ON Semiconductor) จะถูกจัดให้มีประเทศต้นทางเป็นสหรัฐฯ และอาจต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 84% หรือมากกว่านั้น (อินโฟเควสท์)
จีนลั่น ยื่นฟ้อง WTO แล้ว หลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่ กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า ทางการจีนได้ดำเนินการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ผ่านกลไกระงับข้อพิพาทอย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้าจีนครั้งล่าสุด  สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) สหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มอัตรา "ภาษีตอบโต้" (reciprocal tariffs) ต่อสินค้านำเข้าจากจีน โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า มาตรการทางภาษีดังกล่าวของสหรัฐฯ สะท้อนถึงการใช้อำนาจบาตรใหญ่และการบีบบังคับแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างชัดเจน ซึ่งการกระทำเช่นนี้นับเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO อย่างร้ายแรง อีกทั้งยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ตลอดจนระเบียบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โฆษกย้ำว่า จีนจะยืนหยัดปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของตนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งธำรงรักษาระบบการค้าพหุภาคีและระเบียบเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศไว้อย่างถึงที่สุด นอกจากนี้ โฆษกระบุว่า จีนยังได้เรียกร้องให้ฝ่ายสหรัฐฯ ดำเนินการแก้ไขการกระทำที่ผิดพลาดนี้โดยทันที และยุติมาตรการทางภาษีที่นำมาใช้กับจีนแต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งหมด (อินโฟเควสท์)
"สี จิ้นผิง" ชี้ สงครามภาษีไม่มีผู้ชนะ การสวนกระแสโลกมีแต่จะถูกโดดเดี่ยว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้กล่าวในระหว่างการหารือกับนายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ของสเปน ณ กรุงปักกิ่ง ในวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า ไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามภาษีศุลกากร และการสวนกระแสโลกมีแต่จะนำไปสู่การโดดเดี่ยวตนเอง สำนักข่าวซินหัวรายงานถ้อยแถลงของปธน.สี จิ้นผิง ซึ่งระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา จีนได้บรรลุการพัฒนาประเทศด้วยการยืนหยัดบนลำแข้งของตนเองและฟันฝ่าอุปสรรคอย่างไม่ย่อท้อ โดยไม่เคยต้องพึ่งพาความปรานีจากผู้ใด และยิ่งไปกว่านั้น ไม่เคยหวั่นเกรงต่อการกดขี่ข่มเหงอันไร้เหตุผล ผู้นำจีนกล่าวเสริมว่า ไม่ว่าสถานการณ์โลกภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จีนจะยังคงเปี่ยมด้วยความมั่นใจและมุ่งมั่นจัดการกิจการภายในประเทศให้ดีที่สุดต่อไป ปธน.สี จิ้นผิง ชี้ให้เห็นว่า ทั้งจีนและสหภาพยุโรป (EU) ต่างเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก และเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและการค้าเสรี ทั้งสองฝ่ายได้สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อรวมขนาดเศรษฐกิจเข้าด้วยกันแล้ว มีมูลค่ามากกว่าหนึ่งในสามของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ผู้นำจีนเรียกร้องให้จีนและ EU แบกรับภาระความรับผิดชอบในเวทีโลก ร่วมมือกันพิทักษ์รักษาโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งร่วมกันต่อต้านการใช้อำนาจบาตรใหญ่เพียงฝ่ายเดียว ปธน.จีนอธิบายว่า แนวทางดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของทั้งจีนและ EU เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรมและความยุติธรรมในประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนธำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์และระเบียบระหว่างประเทศอีกด้วย (อินโฟเควสท์)
จีนมั่นใจการส่งออกยังแข็งแกร่งแม้เผชิญอุปสรรคจากภายนอก หลิว ต้าเหลียน เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากร (GAC) ของจีนกล่าวในการแถลงข่าวในวันจันทร์ (14 เม.ย.) ว่า แม้สภาพแวดล้อมภายนอกจะมีความซับซ้อนและท้าทาย แต่ "ฟ้าจะไม่ถล่ม" ในภาคการส่งออกของจีน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า GAC เปิดเผยในวันเดียวกันว่า การนำเข้าและส่งออกสินค้าของจีนทั้งหมดในสกุลเงินหยวน ขยายตัวขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายปี ในไตรมาสแรกของปีนี้ หลิวระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนมีความคืบหน้าในการกระจายความเสี่ยงของตลาดการค้าต่างชาติและกระชับความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานกับพันธมิตรทั่วโลกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หลิวกล่าวว่า "ความพยายามเหล่านี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนการพัฒนาของคู่ค้าของเราเท่านั้น แต่ยังสร้างความยืดหยุ่นให้กับเราด้วย" พร้อมย้ำว่า ตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ของจีนยังคงเป็นกำลังสำรองที่แข็งแกร่งสำหรับเศรษฐกิจ และเสริมว่าประเทศจะเปลี่ยนความมั่นคงภายในให้เป็นกันชนต่อความผันผวนของโลก (อินโฟเควสท์)
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ "ทรัมป์" ประเมินอำนาจการเจรจาของจีนต่ำเกินไป มลาเดน เวดริส นักเศรษฐศาสตร์โครเอเชีย ให้สัมภาษณ์กับสื่อโครเอเชียเกี่ยวกับประเด็นการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ของสหรัฐฯ โดยระบุว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ คำนวณและประเมินอำนาจการเจรจาของจีนต่ำเกินไป เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยจีนถือว่าเป็นประเทศที่เข้มแข็ง มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบล่าสุด จีนได้ออกมาตรการตอบโต้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของตนเอง โดยเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) รัฐบาลจีนประกาศขึ้นภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 84% พร้อมเพิ่มบริษัทสหรัฐฯ 6 แห่งเข้าบัญชีองค์กรธุรกิจที่ไม่น่าเชื่อถือ และเพิ่มบริษัทสหรัฐฯ 12 แห่งเข้าบัญชีควบคุมการส่งออกสินค้า เวดริสยังกล่าวด้วยว่า ทรัมป์เพิ่งประกาศระงับการเก็บภาษีกับประเทศส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วันเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) โดยอ้างว่าหลายประเทศกำลังรอเข้าเจรจาเพื่อหาข้อตกลงที่ดีกว่า นอกจากนี้ เวดริสเสริมว่า ทรัมป์ใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือในการเจรจาเพื่อพยายามหาข้อได้เปรียบจากประเทศอื่น ซึ่งโครเอเชียเองจะได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ เช่นกัน แม้จะเป็นผลกระทบทางอ้อม แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของโครเอเชียราวหนึ่งในสามอาจได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
ไต้หวันเริ่มเจรจาภาษีครั้งแรกกับสหรัฐฯ เสนอลดภาษี-เพิ่มการลงทุน รัฐบาลไต้หวันเปิดเผยในวันนี้ (12 เม.ย.) ว่า ได้จัดการเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) โดยทั้งสองฝ่ายต่างคาดหวังว่าจะมีการพูดคุยกันเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ ไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สูงถึง 32% ซึ่งไต้หวันมองว่าไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ทางการไต้หวันได้เสนอแนวทางแก้ไขด้วยการขอยกเว้นภาษีบางรายการ พร้อมเสนอจะเพิ่มการจัดซื้อและการลงทุนในสหรัฐฯ แถลงการณ์จากสำนักงานเจรจาการค้าของไต้หวันระบุว่า การเจรจาครั้งนี้จัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยไม่ได้เปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมประชุม สำหรับการหารือครั้งนี้เน้นเรื่องภาษีตอบโต้ระหว่างสองประเทศ อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีในการค้า เช่น มาตรการควบคุมการส่งออก รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจ และการค้าอื่น ๆ ทั้งสองฝ่ายแสดงความตั้งใจที่จะจัดการเจรจาเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่มั่นคงระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดบวก 4.85 จุด นักลงทุนรอดูข้อมูล GDP พรุ่งนี้ (15 เม.ย.) ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกเล็กน้อยในวันนี้ (15 เม.ย.) โดยการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซา ขณะที่นักลงทุนรอดูการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจจีนหลายรายการในวันพรุ่งนี้ (16 เม.ย.) รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2568 เพื่อประเมินทิศทางการลงทุนต่อไป  ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,267.66 จุด เพิ่มขึ้น 4.85 จุด หรือ +0.15% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดบวก 24.58 จุด สหรัฐฯ ยกเว้นภาษีตอบโต้สินค้าจีนบางส่วน (14 เม.ย.) ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกในวันนี้ (14 เม.ย.) หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสำคัญจากภาษีศุลกากรตอบโต้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,262.81 จุด เพิ่มขึ้น 24.58 จุด หรือ +0.76% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดบวก 14.59 จุด รับความหวังจีน-สหรัฐฯเจรจาภาษี (11 เม.ย.) ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกในวันนี้ (11 เม.ย.) ซึ่งเป็นการปิดในแดนบวกติดต่อกันวันที่ 4 โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งคาดหวังว่าจีนและสหรัฐฯ จะมีการเจรจาการค้าร่วมกัน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสูงถึง 145% ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,238.23 จุด เพิ่มขึ้น 14.59 จุด หรือ +0.45% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดบวกเล็กน้อย รับข่าวสหรัฐฯ สอบสวนการนำเข้ายาและชิป (15 เม.ย.) ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดบวกเล็กน้อยในวันนี้ (15 เม.ย.) โดยนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนมากกว่านี้ หลังมีรายงานข่าวว่า สหรัฐฯ ได้เริ่มกระบวนการสอบสวนการนำเข้ายาและเซมิคอนดักเตอร์แล้ว เพื่อหาทางใช้มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าทั้งสองประเภทนี้ ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 21,466.27 จุด เพิ่มขึ้น 48.87 จุด หรือ +0.23%  (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดเช้าพุ่ง 502.71 จุด ขานรับทรัมป์เบรกรีดภาษีสินค้าบางชนิด (14 เม.ย.) ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดบวกในวันนี้ (14 เม.ย.) ขานรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยกเว้นการเรียกเก็บภาษีตอบโต้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญ ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 21,417.40 จุด เพิ่มขึ้น 502.71 จุด หรือ +2.40%
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: แรงซื้อนลท.จีนหนุนฮั่งเส็งปิดบวก 232.91 จุด (11 เม.ย.) ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดบวกในวันนี้ (11 เม.ย.) โดยได้รับแรงซื้อจากนักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 20,914.69 จุด เพิ่มขึ้น 232.91 จุด หรือ +1.13% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
โอเปกลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันปีนี้ เซ่นพิษผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2568 ลง 150,000 บาร์เรลต่อวัน เหลือ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันนั้นมาจากข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และการที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าสินค้าบางรายการ ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นอกจากนี้ โอเปกยังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้และปีหน้าอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม แม้มีการปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมัน แต่โอเปกยังเชื่อว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะยังเพิ่มขึ้นต่อไปในระยะยาว ซึ่ง แตกต่างจากมุมมองของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ที่เชื่อว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะแตะจุดสูงสุดภายในไม่กี่ปีนี้ เพราะโลกกำลังหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น (อินโฟเควสท์)
สิงคโปร์ประกาศยุบสภา กรุยทางสู่การจัดเลือกตั้งทั่วไป 3 พ.ค.นี้ ทาร์มัน ชันมูการัตนัม ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ได้ประกาศยุบสภาในวันนี้ (15 เม.ย.) เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ตามคำแนะนำของลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรี โดยกำหนดให้วันสรรหา (Nomination Day) ตรงกับวันที่ 23 เม.ย. ส่วนวันที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งสิงคโปร์ประกาศว่าจะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ค.นี้ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้จะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของสิงคโปร์นับตั้งแต่ได้รับเอกราช และมีขึ้นในช่วงที่สถานการณ์โลกมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าจำนวนมาก ทั้งกับประเทศพันธมิตรและคู่แข่ง (อินโฟเควสท์)
อิหร่าน-สหรัฐฯ เปิดเจรจาระดับสูงที่โอมานวันนี้ หวังฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ อิหร่านและสหรัฐฯ เตรียมเปิดการเจรจาระดับสูงที่ประเทศโอมานในวันนี้ (12 เม.ย.) เพื่อพยายามฟื้นการเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านซึ่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ขู่ว่าจะใช้กำลังทางทหาร หากไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้น แหล่งข่าวในอิหร่านเปิดเผยว่า อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของประเทศได้มอบอำนาจเต็มให้รัฐมนตรีต่างประเทศ อับบาส อารักชี เป็นหัวหน้าคณะเจรจาในครั้งนี้ ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ นำโดย สตีฟ วิทคอฟฟ์ ผู้แทนพิเศษด้านตะวันออกกลางของทรัมป์ ฝ่ายอิหร่านเข้าร่วมการเจรจาอย่างระมัดระวัง พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์ที่เคยขู่จะใช้กำลังถล่มอิหร่าน หากยังเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อไป แม้ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความหวังว่าการเจรจาอาจมีความคืบหน้า แต่ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น รวมถึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเจรจาแบบพบหน้ากันตามที่ทรัมป์ต้องการ หรือแบบทางอ้อมตามที่อิหร่านเสนอ หากการเจรจามีสัญญาณบวก อาจช่วยลดความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ปะทุต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นสงครามในกาซาและเลบานอน, การยิงขีปนาวุธระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล, การโจมตีเรือในทะเลแดงโดยกลุ่มฮูตี และการล่มสลายของรัฐบาลซีเรีย อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาล้มเหลว ความเสี่ยงต่อสงครามที่ขยายวงกว้างในภูมิภาคซึ่งเป็นแหล่งส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก อาจทวีความรุนแรงขึ้น โดยอิหร่านเตือนประเทศเพื่อนบ้านที่มีฐานทัพสหรัฐฯ ว่า หากเข้าร่วมโจมตีอิหร่าน จะต้องเผชิญผลลัพธ์ที่ร้ายแรง (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex ปิดพุ่งกว่า 1,500 จุด รับข่าวทรัมป์อาจผ่อนปรนภาษีนำเข้า (15 เม.ย.) ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียปิดพุ่งขึ้นกว่า 1,500 จุด ในวันนี้ (15 เม.ย.) ลบล้างการขาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนได้สำเร็จ โดยรับความหวังหลังมีรายงานข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณผ่อนปรนมาตรการทางภาษีศุลกากรเพิ่มเติม ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ระดับ 76,734.89 จุด บวก 1,577.63 จุด หรือ +2.1%  (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ตลาดหุ้นอินเดียปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันหยุดประจำชาติ (14 เม.ย.) ตลาดหุ้นอินเดียปิดทำการวันนี้ (14 เม.ย.) เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของดร.อัมเบดการ์ (Dr. Baba Saheb Ambedkar Jayanti) ซึ่งเป็นบิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย ส่วนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 เม.ย.) ดัชนี BSE Sensex พุ่งขึ้นกว่า 1,300 จุด ขานรับข่าวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน โดยดัชนี Sensex ปิดตลาดวันศุกร์ที่ระดับ 75,157.26 จุด พุ่งขึ้น 1,310.11 จุด หรือ +1.77% ซึ่งหุ้นทุกกลุ่มปรับตัวขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex พุ่งกว่า 1,300 จุด ขานรับทรัมป์เลื่อนเวลาเก็บภาษี (11 เม.ย.) ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นกว่า 1,300 จุด ขานรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 75,157.26 บวก 1,310.11 จุด หรือ 1.77% (อินโฟเควสท์)
ไทย
ธปท.แจงคลังเงินเฟ้อต่ำเป็นการบริหารแบบกรอบยืดหยุ่น แต่ไม่เป็นอุปสรรคศก.-ไร้สัญญาณเงินฝืด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง เพื่อชี้แจงกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนม.ค.68 อยู่ที่ 1.3% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ก.พ.67-ม.ค.68) อยู่ที่ 0.6% กนง. ชี้แจงว่า การดำเนินนโยบายการเงินภายได้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยึดหยุ่นการดำเป็นนโยบายการเงินที่มีพันธกิจหลักในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน (macro-financial stability) ผ่านการรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ โดยเสถียรภาพราคา หมายถึงสภาวะที่เงินเฟ้อต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งไม่สร้างอุปสรรคหรือเป็นภาระต่อการวางแผนบริโภคและการลงทุนของประชาชน โดยที่เงินเฟ้อระยะปานกลางยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ การดูแลเสถียรภาพด้านราคาภายได้กรอบเป้าหมายเงินเพื่อแบบยึดหยุ่น (Flexble Inflation Targeting: FIT) โดยมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบช่วง (range target) ที่ 1-3% หมายความว่านโยบายการเงินจะมุ่งดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายและไม่จำเป็นต้องอยู่ที่คำใดค่าหนึ่งตลอดเวลา โดยอัตราเงินเฟ้ออาจผันผวนออกนอกกรอบในระยะสั้นได้ ธปท.ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานในหมวดพลังงานและอาหารสด เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง อาทิ ลดราคาน้ำมันผ่านกลไกกองทุนน้ำมันฯ และการลดภาษีสรรพสามิต รวมทั้งมาตรการลดค่าไฟ ทำให้ราคาหมวดพลังงานขยายตัวเพียง 1.0% แต่หากไม่รวมผลของมาตรการดังกล่าว ราคาหมวดพลังงานจะขยายตัว 4.9% และทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% ในระยะต่อไป กนง. จะประเมินนัยของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปจนกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขันและลงทุน โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มราคาพลังงานที่อาจต่ำลงจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด และความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสด (อินโฟเควสท์)
"อนุสรณ์"ชี้สงครามการค้าลามตลาดการเงิน จีนเทขายพันธบัตรสหรัฐทำตลาดเงิน-หุ้นผันผวน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สงครามการค้าของสหรัฐฯอาจนำมาสู่การตอบโต้ของธนาคารกลางจีนในการเทขาย พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯซึ่งธนาคารกลางจีนถือครองจำนวนมาก ยังมีความไม่ชัดเจนว่าการทรุดตัวลงของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเป็นผลจากแรงเทขายของธนาคารกลางจีนหรือการเทขายของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลาย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจนำไปสู่ US dollar Squeeze ได้ท่ามกลางตลาดหุ้นผันผวนสูงสุด ทั้งสวิงขึ้นแรงและดิ่งลงแรง ตลาดการเงินโลกอาจเกิดวิกฤติจากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ได้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.58% จากระดับเพียง 4.01% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะดังกล่าวเป็นผลจากการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อถือเงินสดในมือแทน การยืดการใช้อัตราภาษีตอบโต้ทางการค้า (Reciprocal Tax) ทำให้ตลาดการเงินคลายความกังวลลงบ้างแต่ปัญหาไม่ได้จบลง หากรัฐบาลสหรัฐฯออกพันธบัตรรัฐบาลแล้วนักลงทุน (เจ้าหนี้) รายใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น ไม่ซื้อ ไม่ถือครองจะเกิดอะไรขึ้น นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินตึงตัวในบางประเทศอาจเกิดขึ้นได้หาก สงครามการค้า ลามมาเป็นสงครามตลาดการเงินและค่าเงิน การมีสภาพคล่องของการซื้อขาย (Trading Liquidity) ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการผู้ซื้อผู้ขายอย่างเต็มที่ เมื่อผู้ซื้อขายเข้ามาในตลาดการเงินด้วยความต้องการที่หลากหลาย ตลาดการเงินก็ควรมีความสามารถในการตอบสนองความต้องการเหล่านี้ให้ได้ (อินโฟเควสท์)
ขุนคลัง ระดมสมองภาครัฐ-เอกชนเจรจาปมภาษีสหรัฐ ยันยึดประโยชน์อุตฯไทย ไม่ให้กระทบผู้ผลิตในปท. รมว.คลัง พร้อมนำทีมภาครัฐ-เอกชน บินเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ เร็วๆ นี้ เชี่อไทยสามารถใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างการเติบโตให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศ ยึดประโยชน์ของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยให้มากที่สุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) สภาอุตสาหกรรม กรมศุลกากร รวมถึงภาคเอกชน โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการเจรจาในหมวดสินค้าเกษตร และการแปรรูปอาหาร เพื่อปรับสมดุลทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สัดส่วนการนำเข้าและส่งออก ให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในฐานะคู่ค้าที่เป็นหุ้นส่วนกันมายาวนาน โดยพิจารณาจากจุดแข็งของสองประเทศ ซึ่งในส่วนของไทย คือ ภาคเกษตรกรรมและการแปรรูปสินค้า ขณะที่สหรัฐฯ เองมีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและราคาต่ำ นอกจากนี้ จะมีการทบทวนเรื่องการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ให้เท่าเทียมกับประเทศอื่น ในสินค้าชนิดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมการประชุมและผู้นำเข้าสินค้าหมวดนี้ พิจารณาแล้วว่าสามารถนำเข้าได้เลยและเป็นผลดีต่อประเทศ ซึ่งกำลังพิจารณาปริมาณการนำเข้าให้เหมาะสมต่อไป ที่ประชุมยังมีการพิจารณาถึงประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ คือมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อัตราภาษี (Non-tariff barriers) โดยมีการหารือถึงแนวทางที่ทำให้สหรัฐฯ มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งออกจากไทยเป็นสินค้าที่ผลิตในไทยตามเงื่อนไขและลักษณะที่เป็นสากล ไม่มีการสวมสิทธิ์ หรือนำเข้ามาจากประเทศที่สามแล้วมาส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
SCB หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือโต 1.5% - คาดกนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.25% รับมือภาษีทรัมป์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 68 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5% (เดิม 2.4%) จากทั้งสงครามการค้าและแผ่นดินไหว รวมทั้ง ประเมินคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 3 ครั้งไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 68 (เดิม 1.50%) เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนสูง ภายใต้การค้าโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ทั้งผลทางตรงจากการที่ไทยส่งออกตลาดสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 และผลทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัว (เช่น จีน) การแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้น และการลงทุนชะลอจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ในปี 67 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 62 หากคิดเป็นสัดส่วนของ GDP จะอยู่ที่ราว 10% ซึ่งค่อนข้างสูง เทียบประเทศเศรษฐกิจหลักและอาเซียน ขณะที่ไทยเองก็โดน Reciprocal rate สูงกว่าเช่นกัน ดังนั้น ไทยจึงได้รับผลกระทบสูง หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% จริง SCB EIC ประเมินว่า Nominal GDP ไทยอาจลดลงราว -3.3pp (ผลสะสมเฉลี่ยภายใน 3 ปี) ผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าไทยที่ลดลง สาเหตุเพราะการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ มีบทบาทต่อ GDP ไทยสูง คิดในรูปของ Domestic Value Added (DVA) ต่อ GDP ไทยราว 7-8% (อินโฟเควสท์)
SCB มอง "ทรัมป์" เลื่อนขึ้นภาษี 90 วัน ต่อลมหายใจธุรกิจ แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า แม้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบออกไปอีก 90 วัน แต่ก็จะไม่ช่วยให้ธุรกิจไทยรอดพ้นจากมรสุมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมาได้ โดยการชะลอเก็บภาษีตอบโต้ที่ระดับ 10% ในระยะ 90 วัน (ยกเว้นจีนซึ่งโดนเก็บที่ 145% ทันที) จะช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อภาคธุรกิจไทยได้บางส่วน จากอานิสงส์ 3 ประการ ได้แก่ 1) การเร่งส่งออกสินค้าในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างเต็มรูปแบบกับไทย อย่างไรก็ดี ผลบวกในด้านนี้อาจถูกลดทอนลงได้ เนื่องจากมีการเร่งส่งออกสินค้าไปบ้างแล้วบางส่วนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา 2) ระดับภาษีที่ไทยถูกเก็บจากสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 90 วันต่อจากนี้ จะอยู่ในระดับเดียวกันกับคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยในระยะสั้น ๆ เอาไว้ได้ 3) โอกาสในการเข้ามาทดแทนการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ และจากตลาดสหรัฐฯ ไปยังจีน โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยมีอุปทานในประเทศและมีกำลังการผลิตส่วนเหลือมากเพียงพอ อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่า ภาคธุรกิจไทยก็จะยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากกฎกติกาการค้าโลกที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป โดยไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาในรูปแบบใด ธุรกิจไทยก็จะยังคงได้รับผลกระทบทั้งทางตรง (Direct impact) ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ และทางอ้อม (Indirect impact) อีกหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น 1) ความต้องการสินค้าขั้นกลางจากประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ของไทยที่อาจชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่มีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจีนโดนกำแพงภาษีในอัตราที่สูงถึง 145% 2) สินค้าจีนมีแนวโน้มทะลักเข้ามาในไทยและตลาดโลกมากขึ้น 3) อุปสงค์ต่อสินค้าในตลาดโลกโดยรวมมีแนวโน้มแผ่วลง 4) การเปิดตลาดสินค้าบางประเภทเพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองลดแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ 5) ไทยอาจได้รับอานิสงส์ในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากประเทศที่มีการออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ขณะที่ผลกระทบในระยะต่อไปที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 6) แนวโน้มการปรับเปลี่ยนและออกแบบห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลกที่อาจส่งผลให้มีการชะลอการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตออกจากไทย และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยตามมาได้ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดลบ 5.29 จุด ขายลดเสี่ยงก่อนหยุดสงกรานต์หลังจีน-สหรัฐเปิดศึกมาตรการภาษี (11 เม.ย.) SET ปิดวันนี้ที่ 1,128.66 จุด ลดลง 5.29 จุด (-0.47%) มูลค่าซื้อขาย 34,692.72 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯ เผยตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับลงรับแรงกดดันความกังวลสงครามการค้ากลับมาอีกครั้งเมื่อสหรัฐ-จีนตอบโต้กันรุนแรง รวมทั้งแรงขายลดเสี่ยงก่อนหยุดสงกรานต์ แนวโน้มสัปดาห์หน้าเกาะติดปัจจัยมาตรการภาษีสหรัฐเป็นหลัก พร้อมให้แนวต้าน 1,140-1,150 จุด แนวรับ 1,110-1,120 จุด SET ปิดวันนี้ที่ 1,128.66 จุด ลดลง 5.29 จุด (-0.47%) มูลค่าซื้อขาย 34,692.72 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีปรับลงหลังวานนี้เด้งขึ้นมาแรง โดยทำจุดต่ำสุด 1,118.96 จุด และจุดสูงสุด 1,136.13 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 175 หลักทรัพย์ ลดลง 312 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 169 หลักทรัพย์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 101,640 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 101,640 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 42,053 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 1,607 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 1,995 ล้านบาท  Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.7% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน +0.01% ภาพรวมของตลาดในวันนี้  Yield Curve ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 1-2 bps. ในตราสารระยะยาว สำหรับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ NET INFLOW 1,995 ล้านบาท โดยเกิดจาก NET BUY 1,995 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) ด้านปัจจัยต่างประเทศ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ประจำเดือนมี.ค. ปรับตัวขึ้น 2.4% (YoY) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% ขณะที่รายงานตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 223,000 ราย ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000  ราย สำหรับ Holding ของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นสัปดาห์นี้ปรับเพิ่มขึ้น 5,221 ล้านบาท จาก 882,160 ล้านบาท ในสัปดาห์ก่อนหน้าเป็น 887,381 ล้านบาท ทั้งนี้ตลาดติดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนประจำไตรมาส 1/2568 และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์หน้า (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.57/62 แข็งค่าต่อเนื่องจากช่วงเช้าตามทิศทางภูมิภาค ก่อนหยุดยาว นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.57/62 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเปิดตลาด เมื่อเช้าที่ระดับ 33.79 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.55 - 33.72 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ปัจจัยจากแรงซื้อขาย จากความกังวลมาตรการภาษีระหว่างจีน-สหรัฐฯ และราคาทองคำที่พุ่งขึ้นทำนิวไฮระหว่างวัน สำหรับคืนนี้ตลาดรอดูดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ  นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพุธไว้ที่ 33.00 - 35.00 บาท/ดอลลาร์ โดยให้กรอบกว้าง เนื่องจากประเทศไทยหยุดยาวจากเทศกาลสงกรานต์ (อินโฟเควสท์)
 
 
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรเดือนก.พ. ญี่ปุ่น      
ดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค. จีน          
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2568 จีน          
การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. จีน          
ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค. จีน          
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนมี.ค. จีน          
อัตราว่างงานเดือนมี.ค. จีน         
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.พ. อียู                          
อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. อียู                          
ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค. สหรัฐฯ       
การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. สหรัฐฯ       
สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.พ. สหรัฐฯ       
ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนเม.ย.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) สหรัฐฯ       
สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) สหรัฐฯ       
 
 

แชร์เรื่องนี้

  • Facebook
  • Twitter
  • Line

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

News Demo
14
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
13
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
09
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ

Shortcut Menu

  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์/
    โครงสร้างพื้นฐาน
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนผลงานดี
  • ตารางจ่ายเงินปันผล
  • ข่าว/บทวิเคราะห์
  • กลยุทธ์การลงทุน
  • กำหนดการและแบบฟอร์ม
  • โปรโมชั่น
  • ปฏิทินกองทุน
  • ภาพกิจกรรม
  • ประกาศราคากลาง
  • AIMC Category
    Performance Report
  • ถาม-ตอบ
  • ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน
  • ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้
  • การตั้งค่าคุกกี้
  • สมัครรับข่าวสาร
  • ติดต่อเรา
  • ร่วมงานกับเรา
  • ประกาศความเป็นส่วนตัว
Go To Top
Stay Connect with us:
  • Facebook
  • Twitter
  • Youtube

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

KTAM Smart Plan: 0-2686-6100 กด 9 โทรสาร 0-2670-0430 ต่างจังหวัดโทรฟรี 1-800-295-592

อีเมล: callcenter@ktam.co.th

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0-1075-45000-37-3 : สำนักงานใหญ่

  • พันธมิตรธุรกิจ
  • เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
  • แผนผังเว็บไซต์

การใช้และการจัดการคุกกี้

เว็บไซต์ของบริษัทฯ มีการใช้งานคุกกี้ (cookies) เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณสามารถตั้งค่าและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ การใช้คุกกี้ของบริษัทฯ ได้ที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้ และ การตั้งค่าคุกกี้

 การใช้และการจัดการคุกกี้

เมื่อท่านเข้าใช้เว็บไซต์ของเรา เราใช้คุกกี้ที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ของเราจะ ทำงานได้อย่างถูกต้อง และเรายังใช้คุกกี้ประเภทอื่นๆ เพื่อรวบรวมพฤติกรรมการใช้ งานเว็บไซต์ของเราและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อสร้างประสบการณ์ การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งานคุกกี้ บางประเภทได้ตลอดเวลา และบริษัทจะไม่ใช้คุกกี้ที่ท่านเลือกปิดการใช้งาน

ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้


การกำหนดลักษณะความยินยอม

คุกกี้ที่จำเป็น

คุกกี้เหล่านี้ที่จำเป็นในการเปิดใช้คุณลักษณะการทำงานพื้นฐานของเว็บไซต์ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการเครือข่าย และการเข้าสู่ระบบ

คุกกี้วิเคราะห์

เราใช้คุกกี้ Google Analytics เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์โดยรวบรวมและรายงานข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ คุกกี้ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลที่ไม่ระบุตัวบุคคลโดยตรง