• X
  • ค้นหา
  • TH EN
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
TH : EN
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
  1. หน้าแรก
  2. KTAM Daily News
  3. สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สหรัฐฯ
เฟดชิคาโกเผยดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นในเดือนก.พ. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +0.18 ในเดือนก.พ. จากระดับ -0.08 ในเดือนม.ค. ดัชนี CFNAI มีค่าเป็นบวก ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต  ทั้งนี้ ดัชนี CFNAI เป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐจำนวน 85 รายกา นักวิเคราะห์ระบุว่า ดัชนี CFNAI ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดในการประเมินความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ (อินโฟเควสท์)
ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบ 3 เดือนในมี.ค. เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.5 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 51.6 ในเดือนก.พ.  ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคบริการ แต่ถูกกดดันจากการหดตัวของภาคการผลิต ทั้งนี้ คำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานดีดตัวขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลสหรัฐ  ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนก.พ. โดยดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิต ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 51.0 ในเดือนก.พ. โดยดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการอยู่ในภาวะขยายตัว (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์" สั่งรีดภาษี 25% สินค้าจากประเทศที่ซื้อน้ำมันเวเนซุเอลา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ โพสต์ข้อความใน Truth Social ระบุว่า ประเทศที่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากเวเนซุเอลา จะถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากร 25% จากสินค้าทุกรายการที่มีการนำเข้าสู่สหรัฐ ปธน.ทรัมป์ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.  ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ได้กล่าวหาเวเนซุเอลาว่าได้ทำการส่งสมาชิกของขบวนการ Tren de Aragua เข้าสู่สหรัฐ โดยรัฐบาลทรัมป์ได้ขึ้นบัญชีขบวนการดังกล่าวว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ (อินโฟเควสท์)
สว.สหรัฐฯ จี้จีนจัดการปัญหาเฟนทานิลก่อนเจรจาการค้า สตีฟ เดนส์ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า จีนต้องดำเนินมาตรการสกัดกั้นการลักลอบส่งออกสารตั้งต้นเฟนทานิลไปยังสหรัฐฯ ก่อนจะมีการหารือเพิ่มเติมด้านการค้าทวิภาคี "การเจรจาเรื่องภาษีนำเข้าและอุปสรรคอื่น ๆ ที่มิใช่ภาษีคงเป็นไปได้ยาก จนกว่าปัญหาสารตั้งต้นเฟนทานิลจะได้รับการแก้ไข" เดนส์ สว.รัฐมอนแทนา กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (23 มี.ค.) "จุดยืนของปธน.ทรัมป์นั้นชัดเจน และจีนก็รับทราบแล้ว พวกเขาเข้าใจ และเราหวังจะมีมาตรการเด็ดขาดเพื่อหยุดยั้งการส่งออกสารตั้งต้นเหล่านี้" เดนส์ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายในกรุงปักกิ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรี และหม่า จาวซวี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเดนส์เผยว่าฝ่ายจีนเข้าใจข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้หยุด ไม่ใช่แค่ชะลอการส่งออกของสารตั้งต้นเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ รายงานระบุว่า ปธน.ทรัมป์ได้ยกระดับความตึงเครียดทางการค้ากับจีน นับตั้งแต่กลับเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 โดยสั่งเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มอีก 10% ในเดือนก.พ. และอีก 10% ในเดือนมี.ค. ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ หลายรายการ และระงับการนำเข้าถั่วเหลืองจากบริษัทสหรัฐฯ 3 แห่ง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จีนระบุว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุขั้นตอนโดยละเอียดในการแก้ไขปัญหาการค้าเฟนทานิลผิดกฎหมาย ซึ่งปธน.ทรัมป์อ้างเป็นเหตุผลในการเรียกเก็บภาษี ขณะที่ฝ่ายบริหารของปธน.ทรัมป์ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างนี้ โดยระบุว่าพวกเขาคาดหวังให้หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตีพิมพ์บทความหน้าแรกประณามการค้าเฟนทานิล และให้จีนลงโทษประหารชีวิตผู้ลักลอบขนยา (อินโฟเควสท์)
คาดทรัมป์ไม่รวมภาษีรถยนต์ในการประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ 2 เม.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมประกาศใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ตามที่วางแผนไว้ในวันที่ 2 เม.ย. อย่างไรก็ดี สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ภาษีศุลกากรซึ่งจะเรียกเก็บเป็นรายภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาษีนำเข้ารถยนต์และเซมิคอนดักเตอร์นั้น มีแนวโน้มว่าจะไม่ประกาศใช้ในเวลาเดียวกัน ปธน.ทรัมป์ได้เน้นย้าหลายต่อหลายครั้งว่า ภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.5% ในปัจจุบันนั้น จะประกาศใช้ในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งเขาเรียกว่า "วันแห่งอิสรภาพ" (Liberation Day) สำหรับอเมริกา หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของทรัมป์ว่า แผนการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของทำเนียบขาวจะยังคงดำเนินไปตามแผน อย่างไรก็ดี สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า มาตรการภาษีที่ปธน.ทรัมป์กำลังจะประกาศใช้นั้น คาดว่าจะเป็นการประกาศใช้แบบเจาะจงเป้าหมายมากกว่าที่จะบังคับใช้เป็นวงกว้างตามที่เขาขู่เป็นครั้งคราวในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับระบุว่าปธน.ทรัมป์ยังคงพิจารณาที่จะนำภาษีรถยนต์มาใช้ในช่วงเวลาอื่น นักลงทุนจับตาการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของปธน.ทรัมป์อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความหวังที่ว่ามาตรการครั้งนี้จะไม่รุนแรงมากเท่าที่ตลาดวิตกกังวล หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ส่งสัญญาณ "ใช้ความยืดหยุ่น" ในการใช้มาตรการดังกล่าว ปธน.ทรัมป์กล่าวผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ (21 มี.ค.) ว่าจะมีการใช้ความยืดหยุ่นต่อแผนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ซึ่งสหรัฐฯ มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. พร้อมกับกล่าวว่าเขามีแผนว่าจะพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน หลังจากที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 597.97 จุด รับทรัมป์ส่งสัญญาณยืดหยุ่นมาตรการภาษี ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันจันทร์ (24 มี.ค.) หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) แบบเจาะจงเป้าหมาย มากกว่าที่จะบังคับใช้เป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,583.32 จุด เพิ่มขึ้น 597.97 จุด หรือ +1.42%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,767.57 จุด เพิ่มขึ้น 100.01 จุด หรือ +1.76% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,188.59 จุด เพิ่มขึ้น 404.54 จุด หรือ +2.27% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก 83 เซนต์ หลังทรัมป์สั่งรีดภาษีปท.ที่ซื้อน้ำมันจากเวเนฯ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (24 มี.ค.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 25% จากประเทศที่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากเวเนซุเอลา  ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 83 เซนต์ หรือ 1.22% ปิดที่ 69.11 ดอลลาร์/บาร์เรล  ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 84 เซนต์ หรือ 1.16% ปิดที่ 73.00 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $5.80 เหตุดอลล์แข็งฉุดตลาด สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (24 มี.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะเดียวกันนักลงทุนกำลังประเมินท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณใช้ความยืดหยุ่นในการดำเนินมาตรการภาษีศุลกากร ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 5.80 ดอลลาร์ หรือ 0.19% ปิดที่ 3,015.60 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ดีดตัว นักลงทุนขายพันธบัตร หลังคลายกังวลเทรดวอร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนพากันขายพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐ  ณ เวลา 18.47 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.298% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.633% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการยูโรโซนขั้นต้นเดือนมี.ค. โตสูงสุดรอบ 7 เดือน ผลสำรวจที่เผยแพร่วันนี้ (24 มี.ค.) พบว่า กิจกรรมทางธุรกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนมี.ค.เติบโตแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 7 เดือน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซนจาก HCOB ที่จัดทำโดย S&P Global ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 50.4 จาก 50.2 ในเดือนก.พ. ภาคการผลิตมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของยูโรโซนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ 48.7 ในเดือนมี.ค. จากเดิม 47.6 ในเดือนก.พ. ขณะที่ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวถึง 50.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซนกลับชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 50.4 ในเดือนมี.ค. จากเดิม 50.6 ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 51.0 ความเชื่อมั่นในตลาดเพิ่มสูงขึ้น หลังมีสัญญาณว่าจะมีการเพิ่มงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานและกลาโหม โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ด้านต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าตาม โดยอัตราเงินเฟ้อทั้งปัจจัยการผลิตและผลผลิตแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน แต่ในทางตรงกันข้าม ภาคบริการกลับมีแนวโน้มการปรับขึ้นราคาที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็ปรับตัวดีขึ้น พร้อมกับการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีการจ้างงานรวมที่ปรับขึ้นเป็น 50.1 จาก 49.2 (อินโฟเควสท์)
ดัชนี PMI รวมขั้นต้นเยอรมนีขยายตัวในเดือนมี.ค. หลังการผลิตฟื้น ผลสำรวจที่เผยแพร่ในวันนี้ (24 มี.ค.) ระบุว่า กิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชนเยอรมนีเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 10 เดือนในเดือนมี.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของเยอรมนีจาก HCOB ที่จัดทำโดย S&P Global ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 50.9 ในเดือนมี.ค. จาก 50.4 ในเดือนก.พ. ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 51.0 นักเศรษฐศาสตร์จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกมีแนวโน้มสดใส เห็นได้จากดัชนี PMI รวมที่ยังคงอยู่เหนือระดับขยายตัวต่อเนื่องทุกเดือน ปัจจัยบวกอีกประการคือ รัฐบาลเยอรมนีเพิ่งอนุมัติงบประมาณก้อนใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป พร้อมกับยกระดับแสนยานุภาพทางทหาร สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของเยอรมนี ปรับตัวดีขึ้นแตะ 48.3 จาก 46.5 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 47.0 ด้วยแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้น โดยผู้ผลิตเริ่มเดินเครื่องผลิตเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี อันเป็นผลมาจากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่คึกคัก และความคาดหวังเชิงบวกต่อแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและกลาโหมชุดใหม่ของเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของเยอรมนีลดลงแตะ 50.2 จาก 51.1 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 51.6 แต่ยังถือว่าอยู่ในภาวะขยายตัว (อินโฟเควสท์)
ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการฝรั่งเศสขั้นต้นยังซบเซาในเดือนมี.ค. ผลสำรวจที่เผยแพร่วันนี้ (24 มี.ค.) พบว่า กิจกรรมทางธุรกิจในภาคเอกชนฝรั่งเศสยังคงชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ในเดือนมี.ค. สะท้อนจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูโรโซน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นของฝรั่งเศสประจำเดือนมี.ค. จาก HCOB ที่จัดทำโดย S&P Global อยู่ที่ระดับ 46.6 เพิ่มขึ้นจาก 45.3 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 46.3 ด้านดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของฝรั่งเศสเดือนมี.ค. ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 48.9 จากระดับ 45.8 ในเดือนก.พ. และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 46.5 ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของฝรั่งเศส ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 47.0 ในเดือนมี.ค. จาก 45.1 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงสะท้อนการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 S&P Global ระบุว่า ภาคธุรกิจฝรั่งเศสมองแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้าในเชิงลบ โดยความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี "เศรษฐกิจฝรั่งเศสยังคงฟื้นตัวได้ยาก แม้ดัชนี PMI ขั้นต้นของฝรั่งเศสจาก HCOB จะปรับตัวดีขึ้นในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ยังคงอยู่ในภาวะถดถอย" นักเศรษฐศาสตร์จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) กล่าว "แม้ฝรั่งเศสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณปี 2568 ได้ในเดือนก.พ. ซึ่งช่วยให้รอดพ้นจากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไป" (อินโฟเควสท์)
อังกฤษเล็งปรับลดข้าราชการ 1 หมื่นตำแหน่ง หนุนใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ  ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษ เผยว่า รัฐบาลอังกฤษเตรียมปรับลดข้าราชการ 10,000 ตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของภาครัฐลงให้ได้ 15% รีฟส์กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษยังคงยึดมั่นกับแผนเพิ่มงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีของสภาชุดนี้ แต่จะเน้นการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดหวังให้หน่วยงานต่าง ๆ หาทางลดค่าใช้จ่ายผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้สรุปข้อมูลและลดการฉ้อโกง "ดิฉันมั่นใจว่าเราสามารถลดข้าราชการลง 10,000 ตำแหน่งได้" รีฟส์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสกาย นิวส์ เมื่อเช้าวันอาทิตย์ (23 มี.ค.) "ในช่วงโควิด จำนวนข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น แต่ไม่ใช่เรื่องถูกต้องที่เราจะรักษาจำนวนนี้ไว้ตลอดไป" ทั้งนี้ รีฟส์มีกำหนดแถลงนโยบายการคลังช่วงฤดูใบไม้ผลิในวันพุธนี้ (26 มี.ค.) พร้อมเปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุด โดยหลายฝ่ายคาดว่ารีฟส์จะลดแผนการใช้จ่ายภาครัฐและสวัสดิการ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลัง หลังให้คำมั่นว่าจะหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีเพิ่มเติม (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ นลท.ยังกังวลความไม่แน่นอนด้านภาษี ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันจันทร์ (24 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงระมัดระวังในการซื้อขาย แม้มีความหวังเพิ่มขึ้นว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ อาจใช้แนวทางที่ผ่อนปรนมากขึ้นกับนโยบายภาษีศุลกากรในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 548.93 จุด ลดลง 0.74 จุด หรือ -0.13% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,022.33 จุด ลดลง 20.62 จุด หรือ -0.26%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 22,852.66 จุด ลดลง 39.02 จุด หรือ -0.17% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,638.01 จุด ลดลง 8.78 จุด หรือ -0.10% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 8.78 จุด ตลาดกังวลความไม่แน่นอนด้านภาษี ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันจันทร์ (24 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนชะลอการซื้อขายเพื่อรอดูรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ แม้ว่าหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ช่วยพยุงตลาดก็ตาม  ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,638.01 จุด ลดลง 8.78 จุด หรือ -0.10% (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
BOJ ยันขึ้นดอกเบี้ยต่อ หากเงินเฟ้อถึงเป้า 2% ไม่หวั่นขาดทุนพันธบัตร คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แถลงต่อรัฐสภาวันนี้ (24 มี.ค.) ว่า หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ทางธนาคารจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้อาจส่งผลให้ขาดทุนจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ในพอร์ตการลงทุนก็ตาม "เราได้กล่าวไว้ว่าจะทยอยปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หากเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเข้าใกล้ระดับ 2%" อุเอดะกล่าว พร้อมย้ำว่า "เป้าหมายนโยบายของเราคือการรักษาเสถียรภาพราคา และการดำเนินนโยบายของเราจะไม่ถูกจำกัดด้วยผลกระทบต่อฐานะการเงินของ BOJ" เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา BOJ ได้เปิดเผยประมาณการผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต โดยคาดว่าหากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับขึ้นไปที่ระดับ 2% อาจทำให้ BOJ ขาดทุนสูงถึง 2 ล้านล้านเยน (1.33 หมื่นล้านดอลลาร์) สัปดาห์ที่ผ่านมา BOJ ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมส่งสัญญาณเตือนถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยชี้ว่า จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะขึ้นอยู่กับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ อาจปรับขึ้นภาษีนำเข้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม อุเอดะได้แสดงความกังวลว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นและการปรับขึ้นค่าจ้างที่สูงกว่าคาด อาจผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนว่า BOJ ยังคงจับตาแรงกดดันด้านราคาภายในประเทศอย่างใกล้ชิด (อินโฟเควสท์)
ดัชนี PMI ขั้นต้นญี่ปุ่นเดือนมี.ค.ทรุดหนักทั้งภาคการผลิต-บริการ ผลสำรวจภาคเอกชนที่เผยแพร่ในวันนี้ (24 มี.ค.) ระบุว่า ภาคการผลิตของญี่ปุ่นส่งสัญญาณชะลอตัวรุนแรงในเดือนมี.ค. สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นจาก au Jibun Bank ที่ร่วงลงมาอยู่ที่ 48.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 49.0 ในเดือนก.พ. นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี และต่ำกว่าระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ตัวเลขดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการสั่งซื้อวัตถุดิบและการลดระดับสินค้าคงคลังของบริษัทต่าง ๆ ด้านภาคบริการก็ไม่สู้ดีนัก โดยหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ที่ลดลงมาอยู่ที่ 49.5 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 53.7 ในเดือนก.พ. ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 48.5 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 52.0 ในเดือนก.พ. โดยหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนเช่นกัน ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจญี่ปุ่นยังทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และความไม่แน่นอนของการค้าโลก นักวิเคราะห์จาก S&P Global Market Intelligence ระบุว่า เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาสังคมผู้สูงวัย กำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และความไม่แน่นอนของการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนฉุดรั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนในเดือนมี.ค. ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยต้นทุนการผลิตรวมในทั้งสองภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาขายขึ้นตามไปด้วย (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่นประท้วงจีน ปมอ้างคำกล่าว "อิชิบะ" ไม่ถูกต้อง โยชิมาสะ ฮายาชิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นได้ยื่นประท้วงจีนเกี่ยวกับแถลงการณ์ที่อ้างอิงคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ในระหว่างการพบปะกับหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 มี.ค.) โดยระบุว่า ผู้นำญี่ปุ่นไม่เคยพูดตามที่จีนแถลง  "เราประท้วงฝ่ายจีน และขอให้ลบประกาศดังกล่าวออกทันที ขอยืนยันว่านั่นไม่ใช่ข้อเท็จจริง" ฮายาชิกล่าวในการแถลงข่าววันนี้ สืบเนื่องจากประกาศของกระทรวงต่างประเทศจีนเมื่อวันศุกร์ที่ระบุว่า อิชิบะกล่าวว่า ญี่ปุ่น "เคารพ" จุดยืนของจีน ทั้งนี้ จีนได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประชุมดังกล่าว ซึ่งหวังได้เน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นควร "ปฏิบัติตามพันธกรณีทางการเมืองที่สำคัญในประเด็นทางประวัติศาสตร์และประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน" และญี่ปุ่นควรส่ง "สัญญาณที่ถูกต้องไปยังนานาประเทศด้วยทัศนคติที่มีความรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์ ประชาชน และอนาคต" อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาปฏิเสธในวันเสาร์ว่า "ไม่เคยมีถ้อยแถลงในลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้น" และขอให้จีนลบเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องออกไป นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นยังระบุด้วยว่า ระหว่างการประชุม อิชิบะได้เน้นย้ำความจำเป็นในการลดความกังวลและข้อขัดแย้งต่าง ๆ ระหว่างทั้งสองชาติ ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ การปล่อยตัวพลเมืองญี่ปุ่นที่ถูกกักขังในจีน และการยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลและเกษตรกรรมของญี่ปุ่น   โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประท้วง ซึ่งรวมถึงการตอบสนองของจีน แต่กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องน่าเสียใจที่ถ้อยแถลงที่ไม่เป็นความจริงถูกประกาศออกไป" (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดลบ 68.57 จุด หวั่นมาตรการภาษีทรัมป์ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดลบเล็กน้อยในวันนี้ (24 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนชะลอการซื้อขาย เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ  สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 37,608.49 จุด ลดลง 68.57 จุด หรือ -0.18% (อินโฟเควสท์)
จีน
จีนย้ำพร้อมรับแรงกระแทกจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวเมื่อวานนี้ (23 มี.ค.) ว่า จีนเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกที่อาจรุนแรงกว่าคาดการณ์ ในขณะที่ทั่วโลกจับตาการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรระลอกใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้าในเดือนหน้า หลี่กล่าวในที่ประชุม China Development Forum (CDF) ที่กรุงปักกิ่งว่า ประเทศต่าง ๆ ควรเปิดตลาดให้มากขึ้นในยามที่เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะแตกแยกมากขึ้น "ความไม่แน่นอนและความผันผวนกำลังเพิ่มสูงขึ้น" หลี่ระบุ "ในช่วงเวลานี้ การเปิดตลาดและความร่วมมือระหว่างกันยิ่งมีความสำคัญ และภาคธุรกิจควรแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกันให้มากขึ้น" ขณะเดียวกัน หลี่ยังย้ำคำมั่นของธนาคารกลางจีน (PBOC) ว่า ผู้กำหนดนโยบายจะลดอัตราดอกเบี้ยและสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงให้การสนับสนุนเพิ่มเติมหากจำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของหลี่มีขึ้นขณะที่จีนพยายามดึงดูดธุรกิจต่างชาติอีกครั้ง หลังจากการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ลดลงในปีที่แล้วแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี (อินโฟเควสท์)
รองนายกฯจีนพบปะผู้นำธุรกิจต่างชาติ หวังสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ เหอ หลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีนได้พบปะกับบรรดาผู้บริหารบริษัทเอกชน ซึ่งรวมถึงแอปเปิ้ล (Apple), ไฟเซอร์ (Pfizer), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) และคาร์กิลล์ (Cargill) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจในจีน  หลี่เฟิงยังได้พบปะกับผู้บริหารบริษัทอีไล ลิลลี่ (Eli Lilly) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ, เมดโทรนิค (Medtronic) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ และคอร์นนิง (Corning) ผู้ผลิตกระจกชนิดพิเศษ รองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวกับผู้นำธุรกิจเหล่านี้ว่า จีนจะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและยังคงต้อนรับการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติในจีนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ พร้อมกล่าวถึงสถานะของเศรษฐกิจจีนว่า มีความยืดหยุ่นสูงและมีความแข็งแกร่ง ผู้บริหารของบริษัทต่างชาติได้เดินทางมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุม China Development Forum (CDF) ซึ่งจัดขึ้นในวันอาทิตย์และวันจันทร์ (23-24 มี.ค.) และมีการคาดการณ์ว่าผู้บริหารบางคนอาจจะได้พบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.  ทางด้านนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน เรียกร้องให้นานาประเทศเปิดตลาดของตัวเองเพื่อรับมือกับภาวะไร้เสถียรภาพและความไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างการประชุม CDF ครั้งนี้ และให้คำมั่นว่าจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งมากขึ้น ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลจีนพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดบวก 5.20 จุด นลท.จับตาภาษีทรัมป์ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกในวันนี้ (24 มี.ค.) โดยดัชนีฟื้นตัวหลังจากที่ปิดลบติดต่อกัน 3 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ดี นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,370.03 จุด เพิ่มขึ้น 5.20 จุด หรือ +0.15% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดบวก 215.84 จุด จับตามาตรการภาษีทรัมป์ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดบวกในวันนี้ (24 มี.ค.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ส่งสัญญาณ "ใช้ความยืดหยุ่น" ต่อแผนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) ที่มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. พร้อมเผยว่ามีแผนหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน หลังจากที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 23,905.56 จุด เพิ่มขึ้น 215.84 จุด หรือ +0.91% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
ดัชนี PMI อินเดียรวมภาคผลิต-บริการขั้นต้นเดือนมี.ค.ชะลอตัว หลังภาคบริการซบ ผลสำรวจภาคเอกชนที่เปิดเผยในวันนี้ (24 มี.ค.) ระบุว่า การเติบโตทางธุรกิจของอินเดียในเดือนมี.ค.ชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาคบริการที่อ่อนแอ ซึ่งถ่วงการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของอินเดียจาก HSBC ที่จัดทำโดย S&P Global ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 58.6 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 58.8 ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่โพลของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 59.0 ในส่วนของภาคการผลิตนั้นมีสัญญาณดีขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.6 จาก 56.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ปีครึ่ง ในทางกลับกัน ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของอินเดีย กลับปรับตัวลดลงแตะ 57.7 จาก 59.0 นักเศรษฐศาสตร์ประจำอินเดียของ HSBC ระบุว่า ภาคการผลิตของอินเดียขยายตัวเร็วขึ้นในเดือนมี.ค. โดยดัชนีผลผลิตแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2567 พร้อมระบุว่าควรจับตาการชะลอตัวของคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้า แม้ว่าคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตจะช่วยหนุนภาคการผลิต แต่อุปสงค์จากต่างประเทศทั้งภาคการผลิตและภาคบริการกลับชะลอตัวแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศรีดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก พร้อมส่งสัญญาณจะเพิ่มภาษีอีกในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศมีความไม่แน่นอนมากขึ้น (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯกดดันมาเลเซียคุมเข้มซื้อขายเซมิคอนดักเตอร์ หวั่นเป็นทางผ่านไปจีน มาเลเซียเตรียมเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราการนำเข้าและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ท่ามกลางแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่ต้องการสกัดกั้นบริษัทและประเทศต่าง ๆ ไม่ให้ส่งออกชิปซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปยังประเทศจีน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ กำลังตรวจสอบว่า ดีปซีค (DeepSeek) บริษัท AI ของจีนซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยีเมื่อเดือนม.ค.นั้น ใช้ชิปที่สหรัฐฯ ห้ามส่งออกหรือไม่ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานในวันอาทิตย์ (23 มี.ค.) โดยอ้างคำกล่าวของ ซาฟรูล อาซิซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้ามาเลเซียว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้มาเลเซียจับตาชิประดับไฮเอนด์ของอินวิเดีย (Nvidia) ที่เข้าสู่ประเทศอย่างใกล้ชิด จากข้อสงสัยที่ว่าสุดท้ายแล้วชิปเหล่านั้นอาจตกอยู่ในมือจีน รมว.การค้ามาเลเซียกล่าวว่า "สหรัฐฯ ขอให้เราจับตาดูการส่งออกชิปมายังมาเลเซียทุกครั้ง หากมีความเกี่ยวข้องกับชิปของอินวิเดีย" เพื่อยืนยันว่า เซิร์ฟเวอร์จะถูกส่งไปยังศูนย์ข้อมูลตามที่ควรจะเป็น และไม่ถูกเคลื่อนย้ายไปยังเรือลำอื่นอย่างกะทันหัน ทั้งนี้ มาเลเซียกำลังตรวจสอบกรณีการจัดส่งเซิร์ฟเวอร์จากบริษัทในสิงคโปร์มายังมาเลเซียว่าละเมิดกฎหมายของประเทศหรือไม่ เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นอาจมีชิปขั้นสูงที่อยู่ภายใต้การควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ขณะที่สื่อของสิงคโปร์ได้เชื่อมโยงคดีนี้กับการถ่ายโอนชิป AI ของอินวิเดียให้กับดีปซีค (อินโฟเควสท์)
ยูเครนเผย การเจรจากับสหรัฐฯ ที่ซาอุฯ ได้ผลดี เน้นย้ำประเด็นพลังงาน รุสเต็ม อูเมรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครน แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (23 มี.ค.) ว่า การเจรจาระหว่างคณะผู้แทนสหรัฐฯ กับยูเครนที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยระบุว่าการหารือครั้งนี้ "เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและตรงประเด็น" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อด้านพลังงาน ซึ่งเป็นวาระสำคัญของการเจรจา รมว.กลาโหมยูเครนได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ว่า โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน มีเป้าหมายที่จะ "สร้างสันติภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน" ให้กับยูเครนและภูมิภาคยุโรป พร้อมเสริมว่า "พวกเรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้เป้าหมายนี้เป็นจริง" สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การเจรจาครั้งนี้มีขึ้นภายหลังการประชุมที่เมืองเจดดาห์เมื่อราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น ยูเครนได้ตอบรับข้อเสนอของสหรัฐฯ ในการหยุดยิงเป็นเวลา 30 วัน โดยแลกกับการที่สหรัฐฯ จะกลับมาให้ความช่วยเหลือทางการทหารและแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าคณะผู้แทนรัสเซียได้เดินทางมาถึงกรุงริยาดแล้ว เพื่อเตรียมการเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯ ในวันนี้ (24 มี.ค.) (อินโฟเควสท์)
กลุ่มฮูตีเผย สหรัฐฯถล่มทางอากาศเมืองหลวงเยเมน ดับ 1 เจ็บ 15 สถานีโทรทัศน์อัล-มาซิราห์ (al-Masirah TV) ซึ่งเป็นสื่อในเครือกลุ่มฮูตี รายงานว่า สหรัฐอเมริกาได้โจมตีทางอากาศใส่อาคารที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มกบฏฮูตี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และบาดเจ็บอีก 15 ราย เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 มี.ค.) อัล-มาซิราห์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮูตีว่า มีเด็ก 3 ราย และผู้หญิง 2 ราย อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุโจมตีในย่านอัซร์ ซึ่งเป็นย่านชานเมืองฝั่งตะวันตกของกรุงซานา ด้านชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า การโจมตีครั้งนี้ "รุนแรงมาก" ขณะที่ทีมกู้ภัยยังคงค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง  สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กองทัพสหรัฐฯ ยังไม่ออกมาแถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนหน้านี้ กองทัพสหรัฐฯ ได้โจมตีพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮูตีในจังหวัดซาดา และสนามบินในเมืองฮุดัยดะฮ์ ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญริมทะเลแดง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางอากาศที่มุ่งเป้าไปยังดินแดนที่กลุ่มฮูตีควบคุมอยู่ การโจมตีทางอากาศครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังกลุ่มฮูตีอ้างว่าได้โจมตีเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส แฮร์รี เอส. ทรูแมน ของสหรัฐฯ ที่แล่นอยู่ในทะเลแดงตอนเหนือ และยังโจมตีสนามบินเบนกูเรียนในพื้นที่ตอนกลางของอิสราเอล โดยมีรายงานว่ากองทัพอิสราเอลสามารถสกัดกั้นการโจมตีที่มุ่งเป้าไปยังสนามบินได้สำเร็จ ทั้งนี้ กลุ่มฮูตีซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของเยเมนนับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในปี 2557 ยืนยันว่าจะยังคงโจมตีเป้าหมายในอิสราเอลต่อไป เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และเพื่อตอบโต้สิ่งที่กลุ่มฮูตีเรียกว่า "การรุกรานของอเมริกัน" (อินโฟเควสท์)
อิหร่านเปิดกว้างเจรจาทางอ้อมกับสหรัฐเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ รัฐบาลอิหร่านเปิดเผยในวันนี้ (24 มี.ค.) ว่า อิหร่านเปิดกว้างต่อการเจรจาทางอ้อมกับสหรัฐ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยื่นข้อเสนอที่จะทำการเจรจากับอิหร่านเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่  "เราเปิดกว้างต่อการเจรจาทางอ้อม แต่เราปฏิเสธการเจรจาโดยตรง จนกว่าฝ่ายตรงข้ามจะเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อสาธารณรัฐอิสลาม" นายอับบาส อารักชี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน กล่าว นอกจากนี้ นายอารักชีกล่าวว่า อิหร่านจะไม่เจรจาโดยตรงกับสหรัฐภายใต้การคุกคาม และการใช้นโยบายกดดันของปธน.ทรัมป์ ก่อนหน้านี้ ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ปธน.ทรัมป์ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2561 และได้ประกาศคว่ำบาตรอย่างหนักต่ออิหร่าน (อินโฟเควสท์)
อียิปต์เสนอข้อตกลงฉบับใหม่หวังปูทางหยุดยิงในฉนวนกาซา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ทางการอียิปต์ได้เสนอข้อตกลงฉบับใหม่เพื่อปูทางให้มีการทำข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา หลังอิสราเอลกลับมาเปิดฉากโจมตีฉนวนกาซา จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ข้อเสนอของอียิปต์ระบุว่า ฮามาสจะทำการปล่อยตัวประกันอิสราเอล 5 รายทุกสัปดาห์ ขณะที่อิสราเอลจะปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงในระยะที่ 2 หลังจากผ่านพ้นสัปดาห์แรก แหล่งข่าวระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการยอมรับจากทางฮามาสและสหรัฐแล้ว แต่อิสราเอลยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว  นอกจากนี้ ข้อเสนอของอียิปต์ยังรวมถึงตารางเวลาของการปล่อยตัวประกันอิสราเอลทั้งหมด รวมทั้งตารางเวลาสำหรับกองทัพอิสราเอลในการถอนตัวโดยสิ้นเชิงออกจากฉนวนกาซา (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex พุ่งกว่า 1,000 จุด แรงซื้อต่างชาติหนุนตลาด ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นกว่า 1,000 จุด แตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ และปรับตัวขึ้นเป็นวันทำการที่ 6 โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อของนักลงทุนต่างประเทศ ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 77,984.38 บวก 1,078.88 จุด หรือ 1.40% (อินโฟเควสท์)
ไทย
กบน.ใจป้ำ! เตรียมทยอยลดราคาเบนซิน-ดีเซลรวม 1 บาท/ลิตร เป็นของขวัญช่วงสงกรานต์ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติปรับลดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ลง 1 บาท/ลิตร การปรับลดราคาดังกล่าวจะดำเนินการเป็น 2 ระยะ ครั้งละ 50 สตางค์/ลิตร ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 28 มี.ค.68 และครั้งที่ 2 วันที่ 4 เม.ย.68 เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ในฐานะประธาน กบน. เปิดเผยว่า การปรับลดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซิน-ดีเซล ครั้งนี้ เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะกลุ่มดีเซล คิดเป็น 2 ใน 3 ของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งหมด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางกลับภูมิลำเนา และเป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัว กระตุ้นการเดินทาง เพื่อการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดบวก 3.45 จุด แกว่งในกรอบ แรงซื้อหุ้นใหญ่หนุน-คลายกังวลสงครามการค้า SET ปิดวันนี้ที่ 1,190.06 จุด เพิ่มขึ้น 3.45 จุด (+0.29%) มูลค่าซื้อขาย 23,373.33 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯ เผยตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัวในกรอบ แต่สามารถปรับตัวขึ้นได้ แม้วอลุ่มเบาบาง โดยมีปัจจัยหนุนจากประเด็นสงครามการค้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น และหนุนต่อตลาดหุ้นเอเชียที่ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น และแรงซื้อหุ้นใหญ่ โดยเฉพาะ PTT ที่รับปัจจัยการซื้อหุ้นคืน แนวโน้มพรุ่งนี้คาดแกว่งไซด์เวย์ในกรอบ พร้อมให้แนวต้าน 1,200 จุด แนวรับ 1,180 จุด SET ปิดวันนี้ที่ 1,190.06 จุด เพิ่มขึ้น 3.45 จุด (+0.29%) มูลค่าซื้อขาย 23,373.33 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีแกว่งผันผวน โดยทำจุดต่ำสุด 1,182.60 จุด และทำจุดสูงสุด 1,192.59 จุด  ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 218 หลักทรัพย์ ลดลง 216 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 219 หลักทรัพย์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 75,512 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 75,512 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 15,683 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทจดทะเบียนในประเทศ ซื้อสุทธิ 1,805 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 1,056 ล้านบาท Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.83% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน +0.01% ภาพรวมของตลาดในวันนี้   Yield Curve ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 1-4 bps. ในตราสารระยะยาว สำหรับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ NET INFLOW 912 ล้านบาท โดยเกิดจาก NET BUY 1,056 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) 144 ล้านบาท ด้านปัจจัยต่างประเทศ คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แถลงว่าหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ทางธนาคารจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าอาจส่งผลให้ขาดทุนจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ในพอร์ตการลงทุนก็ตาม  ขณะที่ au Jibun Bank รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นของญี่ปุ่นประจำเดือนมี.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 48.3 จากระดับ 49.0 ในเดือนก.พ. จากการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอตัว ทั้งนี้ตลาดติดตามรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการขั้นต้นประจำเดือนมี.ค. ของอียู อังกฤษ และสหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.87/88 แข็งค่าจากช่วงเช้า ตลาดรอตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-ความชัดเจนนโยบายสงครามการค้า นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.87/88 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 33.92/99 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามค่าเงินภูมิภาคและตลาดโลก ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.82 - 33.96 บาท/ดอลลาร์ ตลาดยังรอปัจจัยใหม่เข้ามาเพิ่มเติม "บาทกลับมาแข็งค่าจากช่วงเช้า ระหว่างวันเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ นักลงทุนรอดูปัจจัยใหม่ที่เป็นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญและนโยบายทรัมป์เกี่ยวกับสงครามการค้า" นักบริหารเงิน ระบุ  นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ 33.75 - 34.00 บาท/ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
 
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุม ญี่ปุ่น      
ยอดขายรถยนต์เดือนก.พ. อียู                          
ราคาบ้านเดือนม.ค.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ สหรัฐฯ         
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จาก Conference Board สหรัฐฯ         
ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ. สหรัฐฯ         

แชร์เรื่องนี้

  • Facebook
  • Twitter
  • Line

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

News Demo
14
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
13
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
09
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ

Shortcut Menu

  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์/
    โครงสร้างพื้นฐาน
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนผลงานดี
  • ตารางจ่ายเงินปันผล
  • ข่าว/บทวิเคราะห์
  • กลยุทธ์การลงทุน
  • กำหนดการและแบบฟอร์ม
  • โปรโมชั่น
  • ปฏิทินกองทุน
  • ภาพกิจกรรม
  • ประกาศราคากลาง
  • AIMC Category
    Performance Report
  • ถาม-ตอบ
  • ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน
  • ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้
  • การตั้งค่าคุกกี้
  • สมัครรับข่าวสาร
  • ติดต่อเรา
  • ร่วมงานกับเรา
  • ประกาศความเป็นส่วนตัว
Go To Top
Stay Connect with us:
  • Facebook
  • Twitter
  • Youtube

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

KTAM Smart Plan: 0-2686-6100 กด 9 โทรสาร 0-2670-0430 ต่างจังหวัดโทรฟรี 1-800-295-592

อีเมล: callcenter@ktam.co.th

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0-1075-45000-37-3 : สำนักงานใหญ่

  • พันธมิตรธุรกิจ
  • เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
  • แผนผังเว็บไซต์

การใช้และการจัดการคุกกี้

เว็บไซต์ของบริษัทฯ มีการใช้งานคุกกี้ (cookies) เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณสามารถตั้งค่าและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ การใช้คุกกี้ของบริษัทฯ ได้ที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้ และ การตั้งค่าคุกกี้

 การใช้และการจัดการคุกกี้

เมื่อท่านเข้าใช้เว็บไซต์ของเรา เราใช้คุกกี้ที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ของเราจะ ทำงานได้อย่างถูกต้อง และเรายังใช้คุกกี้ประเภทอื่นๆ เพื่อรวบรวมพฤติกรรมการใช้ งานเว็บไซต์ของเราและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อสร้างประสบการณ์ การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งานคุกกี้ บางประเภทได้ตลอดเวลา และบริษัทจะไม่ใช้คุกกี้ที่ท่านเลือกปิดการใช้งาน

ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้


การกำหนดลักษณะความยินยอม

คุกกี้ที่จำเป็น

คุกกี้เหล่านี้ที่จำเป็นในการเปิดใช้คุณลักษณะการทำงานพื้นฐานของเว็บไซต์ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการเครือข่าย และการเข้าสู่ระบบ

คุกกี้วิเคราะห์

เราใช้คุกกี้ Google Analytics เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์โดยรวบรวมและรายงานข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ คุกกี้ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลที่ไม่ระบุตัวบุคคลโดยตรง