• X
  • ค้นหา
  • TH EN
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
TH : EN
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
  1. หน้าแรก
  2. KTAM Daily News
  3. สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

 
สหรัฐฯ
สหรัฐฯ นำเข้าไข่เกาหลีใต้-ตุรกี หลังหวัดนกทำขาดตลาด-ราคาพุ่ง บรูค โรลลินส์ รมว.เกษตรฯ สหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (21 มี.ค.) ว่า สหรัฐฯ นำเข้าไข่จากเกาหลีใต้และตุรกีเพื่อช่วยบรรเทาราคาไข่ที่พุ่งสูงขึ้น โรลลินส์กล่าวว่า การนำเข้าไข่จากทั้งสองประเทศได้เริ่มขึ้นแล้ว และยังอยู่ระหว่างการเจรจานำเข้าไข่จากประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยระบุว่า "เรากำลังพูดถึงไข่หลายร้อยล้านฟองในระยะสั้น" สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ราคาไข่ในสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 10% ต่อเดือน เนื่องจากภาวะขาดแคลนจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก ข้อมูลเบื้องต้นจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนบ่งชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 57.9 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2565 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาไข่ที่ยังคงพุ่งสูงขึ้น (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์" ส่งสัญญาณยืดหยุ่นต่อแผนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ 2 เม.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กล่าวว่า จะมีการใช้ความยืดหยุ่นต่อแผนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) ซึ่งสหรัฐมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. "บางคนมาหาผมและพูดคุยเกี่ยวกับภาษีนี้ และหลายคนก็ขอร้องผมว่าพวกเขาจะได้รับการยกเว้นได้ไหม ซึ่งถ้าคุณอนุญาตให้หนึ่งคน คุณก็ต้องอนุญาตให้ทุกคน" "ผมไม่ได้เปลี่ยนใจ แค่คำว่ายืดหยุ่นเป็นคำที่มีความสำคัญ" ปธน.ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า เขามีแผนที่จะพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน หลังจากที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าเกษตรของสหรัฐเพื่อตอบโต้ต่อการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าจีน ก่อนหน้านี้ ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า วันที่ 2 เม.ย.จะเป็นวันแห่งการปลดปล่อยสำหรับอเมริกา เนื่องจากเป็นวันที่สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศที่เรียกเก็บภาษีต่อสินค้าสหรัฐ และแม้ว่าบางประเทศไม่ได้เรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้าสหรัฐ แต่ได้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ประเทศดังกล่าวก็จะถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้เช่นกัน (อินโฟเควสท์)
รัฐบาลทรัมป์เตรียมขยายพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในอะแลสกา ดัก เบอร์กัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ประกาศแผนการเปิดพื้นที่เพิ่มเติมในรัฐอะแลสกาสำหรับการให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยกเลิกข้อจำกัดในการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถนนสำหรับการทำเหมืองแร่ เพื่อดำเนินการตามคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการลดอุปสรรคด้านการพัฒนาพลังงาน เบอร์กัมเปิดเผยว่า ทางกระทรวงฯ วางแผนจะเปิดพื้นที่ 82% ของเขตสงวนปิโตรเลียมแห่งชาติอะแลสกา และพื้นที่ 1.56 ล้านเอเคอร์ในบริเวณที่ราบชายฝั่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติอาร์กติก เพื่อให้สัมปทานแก่บริษัทพลังงาน "ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของอะแลสกาที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนา เพื่อเป็นหนทางสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศและประชาชนชาวอะแลสกา" เบอร์กัมระบุ (อินโฟเควสท์)
วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เดินทางเยือนจีน หารือการค้า-ข้อพิพาทภาษี สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่งของจีนโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า สตีฟ เดนส์ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการรับประกันการค้าที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน เดนส์ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐมอนแทนาระบุในโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ก่อนการเดินทางไปจีนว่า เขาจะหารือเกี่ยวกับความจำเป็นในการลดการขาดดุลการค้าและรับประกันการเข้าถึงตลาดที่ยุติธรรมสำหรับเกษตรกร, ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตจากมอนแทนา  สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การเดินทางเยือนจีนของเดนส์เกิดขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจใหญ่สองแห่งของโลกกำลังเผชิญกับข้อพิพาทเรื่องภาษี โดยสหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 20% กับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าจากจีน ขณะที่จีนได้ใช้มาตรการตอบโต้ รวมถึงการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสูงสุด 15% กับสินค้าการเกษตรจากอเมริกา เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (21 มี.ค.) ว่า จีนยินดีกับการมาเยือนของเดนส์ โดยเน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์ที่มั่นคงและแข็งแกร่งระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯ เล็งเพิกถอนสถานะทางกฎหมายผู้อพยพกว่า 5 แสนคนปลายเดือนเม.ย. สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันศุกร์ (21 มี.ค.) ว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิกถอนสถานะทางกฎหมายชั่วคราวของผู้อพยพชาวคิวบา เฮติ นิการากัว และเวเนซุเอลา ประมาณ 532,000 คนในช่วงปลายเดือนเม.ย. บุคคลเป้าหมายจะถูกยกเลิกใบอนุญาตทำงานและการคุ้มครองจากการถูกเนรเทศภายใต้อำนาจด้านการตรวจคนเข้าเมืองที่เรียกว่า "parole" ซึ่งกำหนดขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดย parole เป็นการอนุญาตให้ผู้อพยพเข้าประเทศชั่วคราวได้ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมหรือผลประโยชน์สาธารณะ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มาตรการเพิกถอนดังกล่าวจะมีผลในวันที่ 24 เม.ย.นี้ หรือ 30 วันหลังจากที่ประกาศอย่างเป็นทางการมีกำหนดเผยแพร่ในเอกสารราชการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Register) ในวันที่ 25 มี.ค. กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) แถลงว่า ผู้อพยพที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนต.ค. 2565 ได้ถูกเรียกร้องให้เดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจภายในระยะเวลา 30 วัน มิฉะนั้น อาจถูกจับกุมหรือเนรเทศ ทริเซีย แม็กลาฟลิน โฆษกของ DHS ระบุในแถลงการณ์ว่า ผู้อพยพที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศภายใต้โครงการยุคไบเดนที่เรียกว่า CHNV process นั้น ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์ลงนามคำสั่งเพิ่มการผลิตแร่สำคัญในประเทศ หวังลดพึ่งพานำเข้าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อใช้อำนาจฉุกเฉินซึ่งจะเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถผลิตแร่ธาตุสำคัญในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงถ่านหิน สะท้อนถึงความพยายามขอ คณะบริหารของปธน.ทรัมป์ในการเพิ่มการผลิตทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ และทำให้สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อใช้อำนาจภายใต้กฎหมายการผลิตในยามศึกสงคราม (Defense Production Act: DPA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการจัดหาเงินทุน เงินกู้ และการสนับสนุนการลงทุนอื่น ๆ เพื่อการผลิตแร่ธาตุสำคัญและแร่ธาตุหายากในประเทศ โดยบรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐฯ (US International Development Finance Corporation) ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม จะจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการผลิตแร่โครงการใหม่ ๆ นอกจากนี้ คณะบริหารของทรัมป์ยังร่วมงานกับภาคเอกชนเพื่อรับประกันเสถียรภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุสำคัญภายในประเทศ ซึ่งภายใต้คำสั่งฝ่ายบริหารนั้น ได้แก่ ยูเรเนียม ทองแดง โพแทช ทองคำ ตลอดจนธาตุ สารประกอบ หรือวัสดุอื่น ๆ ตามที่ประธานสภาพลังงานแห่งชาติ (National Energy Dominance Council) กำหนด และยังอาจครอบคลุมไปถึงถ่านหินด้วย คำสั่งดังกล่าวยังรวมถึงการสนับสนุนให้การอนุมัติโครงการเหมืองแร่และการผลิตแร่เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และถือเป็นการตอบสนองโดยตรงต่อข้อกังวลที่มีมายาวนานของสหรัฐฯ และพันธมิตรว่า จีนควบคุมการผลิตแร่ธาตุที่สำคัญที่สุดบางชนิด ทั้งนี้ แร่เหล่านี้ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด ตั้งแต่แบตเตอรี่ไปจนถึงระบบป้องกันประเทศ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อภาคพลังงานและความมั่นคงของประเทศ (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์เตรียมลงนามข้อตกลงแร่ธาตุหายากกับยูเครนเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (20 มี.ค.) ว่า เขาจะลงนามข้อตกลงแร่ธาตุหายากกับยูเครน "เร็ว ๆ นี้" ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับยูเครนและรัสเซียเป็นอย่างดี และสิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการคือการลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับแร่ธาตุหายากกับยูเครนในเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ถ้อยแถลงของทรัมป์เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่เขาลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อใช้อำนาจฉุกเฉินในการเพิ่มการผลิตแร่สำคัญและแร่หายากอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ทรัมป์กล่าวว่า "เราจะลงนามข้อตกลงในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกแร่ธาตุหายากและสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะในยูเครน" ทั้งนี้ ทรัมป์เปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาขอให้ยูเครนจัดหาแร่ธาตุหายากมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ให้กับสหรัฐฯ โดยระหว่างการให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ ทรัมป์กล่าวว่า "ผมบอกพวกเขา (ยูเครน) ว่า ผมต้องการแร่ธาตุหายากมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ และพวกเขาก็ตกลงที่จะทำเช่นนั้น ดังนั้นอย่างน้อยเราก็ไม่รู้สึกโง่"  เดิมที ทรัมป์และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน มีกำหนดลงนามข้อตกลงในช่วงปลายเดือนก.พ. ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งจะเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้าถึงแหล่งแร่ธาตุของยูเครน แต่การลงนามไม่เกิดขึ้นตามที่วางแผนไว้ หลังจากการประชุมระหว่างเซเลนสกีกับทรัมป์และรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ ที่ห้องทำงานรูปไข่ กลายเป็นการโต้เถียงกันอย่างดุเดือด (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์เซ็นคำสั่งบริหาร เริ่มกระบวนการยุบกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันพฤหัสบดี (20 มี.ค.) เพื่อเริ่มกระบวนการยุบกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ โดยอ้างว่า รัฐบาลของเขากำลัง "คืนอำนาจด้านการศึกษาให้แก่มลรัฐต่าง ๆ" พร้อมย้ำว่า "เราจะยุบกระทรวงนี้โดยเร็วที่สุด"  อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ให้คำมั่นว่า แม้จะยุบกระทรวงฯ แต่ภารกิจสำคัญต่าง ๆ อาทิ ทุนการศึกษา Pell Grants (สำหรับนักศึกษายากจน) เงินสนับสนุน Title I (สำหรับโรงเรียนในเขตยากจน) และงบประมาณช่วยเหลือเด็กพิการ จะ "ยังคงได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน" โดยจะโอนย้ายให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทน ในการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของกระทรวงฯ ทรัมป์กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการ "ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้เราเลย" พร้อมกล่าวหาว่าเป็น "แหล่งเพาะพันธุ์พวกหัวรุนแรง พวกคลั่งลัทธิ และพวกมาร์กซิสต์" ที่ออกกฎระเบียบมากเกินจำเป็นจนก้าวก่ายการทำงานของสถานศึกษา สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การตัดสินใจครั้งนี้ได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสมาชิกรัฐสภา โดยสส.เกรซ เมิ่ง และ สส. มาร์ค ทาคาโน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมประณามว่า "รัฐบาลทรัมป์กำลังลิดรอนทรัพยากรที่จำเป็นต่อความสำเร็จของคนรุ่นต่อไป เพื่อนำเงินไปลดหย่อนภาษีให้พวกมหาเศรษฐี นี่คือการทรยศต่อนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา การตัดสินใจครั้งนี้ขัดต่อกฎหมาย และสภาคองเกรสต้องไม่ยอมสละอำนาจของตนต่อคำสั่งนี้" ทั้งนี้ การยุบกระทรวงฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อน ส่งผลให้ขั้นตอนต่อไปยังไม่มีความชัดเจน ในขณะที่กระบวนการทางกฎหมายยังคงดำเนินต่อไป (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์เพิกถอนสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลลับของไบเดน, แฮร์ริส, คลินตัน และศัตรูการเมือง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เพิกถอนสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลลับ (security clearances) ของโจ ไบเดน, คามาลา แฮร์ริส และแกนนำพรรคเดโมแครต รวมถึงศัตรูทางการเมืองหลายคน ทรัมป์ระบุรายชื่อบุคคล 15 รายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามและเจ้าหน้าที่รัฐบาลยุคไบเดน ซึ่งรวมถึงฮิลลารี คลินตัน, แอนโทนี บลิงเคน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ, ลิซ เชนีย์ อดีตส.ส.รัฐไวโอมิง, อดัม คินซิงเกอร์ อดีตส.ส.รัฐอิลลินอยส์ และ เลทิเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์กซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีฉ้อโกงกับทรัมป์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงสมาชิกในครอบครัวของอดีตประธานาธิบดีไบเดนทั้งหมดด้วย ทรัมป์กล่าวว่า เขาได้ตัดสินใจแล้วว่า บุคคลดังกล่าวไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลลับเพื่อผลประโยชน์ของชาติอีกต่อไป (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 32.03 จุด ตลาดคลายกังวลภาษีทรัมป์ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (21 มี.ค.) โดยฟื้นตัวจากการติดลบในช่วงเช้า หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ให้ความหวังว่า ภาษีศุลกากรที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในช่วงต้นเดือนเม.ย.นั้น อาจไม่รุนแรงอย่างที่วิตกกัน ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 41,985.35 จุด เพิ่มขึ้น 32.03 จุด หรือ +0.08%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,667.56 จุด เพิ่มขึ้น 4.67 จุด หรือ +0.08% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,784.05 จุด เพิ่มขึ้น 92.43 จุด หรือ +0.52% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก 21 เซนต์ รับแนวโน้มอุปทานตึงตัว สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (21 มี.ค.) และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน และแผนการผลิตล่าสุดของกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ทำให้ตลาดคาดว่าปริมาณอุปทานจะตึงตัวขึ้น ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 21 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 68.28 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 16 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 72.16 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า ยูโรเผชิญแรงขายทำกำไร สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (21 มี.ค.) และปิดตลาดสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรในเป็นครั้งแรกในเดือนมี.ค. เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรยูโรหลังจากพุ่งขึ้นก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 2 เม.ย.สำหรับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.23% แตะที่ระดับ 104.089 ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 149.22 เยนในวันศุกร์ (21 มี.ค.) จาก 148.80 เยนในวันพฤหัสบดี (20 มี.ค.), ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะ 0.8830 ฟรังก์สวิส จาก 0.8819 ฟรังก์สวิส และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะ 1.4347 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.4328 ดอลลาร์แคนาดา (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $22.40 แรงขายทำกำไร-ดอลล์แข็งฉุดราคา สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (21 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นและจากแรงขายทำกำไร อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงช่วยให้ราคาทองคำอยู่ในทิศทางขาขึ้นได้เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 22.40 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 3,021.40 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ปรับตัวขึ้น 1% ในรอบสัปดาห์นี้ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ร่วง กังวลนโยบาย "ทรัมป์" กระทบเศรษฐกิจสหรัฐ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐ ณ เวลา 19.20 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.210% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.537% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
ประธาน ECB เรียกร้องให้รวมกลุ่มการค้ามากขึ้น รับมือเทรดวอร์สหรัฐฯ-ยุโรป คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เรียกร้องเมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) ให้มีการรวมกลุ่มทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงินของรัฐสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์นั้น ลาการ์ดระบุว่าความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวลงถึง 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์ และส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ลาการ์ดระบุว่า ยูโรโซนซึ่งมีการค้าเสรีสูงและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ นั้น มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า จากการวิเคราะห์ของ ECB นั้น หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากยุโรป 25% จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนลดลงประมาณ 0.3 จุดเปอร์เซ็นต์ในปีแรก และหากยุโรปตอบโต้ ก็อาจทำให้การชะลอตัวรุนแรงถึง 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์ ลาการ์ดเตือนว่าผลกระทบจากภาษีศุลกากรจะรุนแรงที่สุดในปีแรกหลังจากมีผลบังคับใช้ แต่ผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจอาจดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ลาการ์ดยังระบุด้วยว่า นโยบายภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการส่งออก ซึ่งอาจกระทบแนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซน โดย ECB คาดการณ์ในเดือนมี.ค.ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนจะอยู่ที่ 0.9% ในปี 2568, 1.2% ในปี 2569 และ 1.3% ในปี 2570 นอกจากนี้ ลาการ์ดระบุย้ำว่า "คำตอบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ควรเป็นการรวมกลุ่มทางการค้าที่มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ทั้งกับประเทศคู่ค้าทั่วโลกและภายใน EU เอง" (อินโฟเควสท์)
อังกฤษจ่อทุ่ม 600 ล้านปอนด์ แก้ปัญหาขาดแคลนพนักงานก่อสร้างมีฝีมือ อังกฤษเตรียมทุ่มเงินลงทุน 600 ล้านปอนด์ (775 ล้านดอลลาร์) เพื่อฝึกอบรมพนักงานก่อสร้างและสนับสนุนการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมืออย่างหนัก ซึ่งอาจบ่อนทำลายแผนสร้างบ้าน 1.5 ล้านแห่งภายในปี 2572 และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่านอีเมลว่า "เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างอังกฤษขึ้นอีกครั้ง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องขจัดอุปสรรคในการสร้างบ้านใหม่ 1.5 ล้านหลัง และสร้างถนน รางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานขึ้นมาใหม่ เราได้ยกเครื่องระบบการวางแผนที่เหนี่ยวรั้งประเทศนี้เอาไว้ และตอนนี้ เรากำลังเผชิญกับการขาดแคลนพนักงานก่อสร้างที่มีฝีมือ" ทั้งนี้ การสร้างบ้านและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอังกฤษเป็นส่วนที่สำคัญของกลยุทธ์การเติบโตของกระทรวงแรงงาน โดยการก่อสร้างไม่เพียงครองสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ยังเป็นรากฐานของภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย ปัญหาในการเติมเต็มตำแหน่งงานสายก่อสร้างของอังกฤษทวีความรุนแรงขึ้นจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) หรือ "เบร็กซิต (Brexit)" ในปี 2559 และการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่ระดับการว่างงานที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่บาด ทางการอังกฤษคาดหวังว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยฝึกอบรมช่างก่ออิฐ ช่างไฟฟ้า วิศวกร และช่างไม้ มากถึง 60,000 คนภายในปี 2572 (อินโฟเควสท์)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค UK เดือนมี.ค.ฟื้นตัว แตะระดับสูงสุดรอบ 3 เดือน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักร (UK) ปรับตัวดีขึ้นในเดือนมี.ค. โดยสถาบัน Gfk เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (21 มี.ค.) ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากระดับ -20 เป็น -19 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ -10 อย่างมีนัยสำคัญ ด้านมุมมองของผู้บริโภคต่อสภาพเศรษฐกิจใน 12 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้น 2 จุด มาอยู่ที่ระดับ -29 ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคของ GfK ระบุว่า แม้เสถียรภาพในปัจจุบันจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะเปราะบาง และอาจได้รับผลกระทบได้ง่ายจากปัจจัยลบต่าง ๆ ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวมาจากการสอบถามความคิดเห็นผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักร 2,005 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. ถึง 13 มี.ค. ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่า ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจประกาศมาตรการลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า (อินโฟเควสท์)
อังกฤษเล็งลด-ยกเลิกภาษีบริการดิจิทัล หวังเลี่ยงภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังพิจารณาแผนลดหรือยกเลิกภาษีบริการดิจิทัลก่อนวันที่ 2 เม.ย.นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กระทรวงการคลังของอังกฤษกำลังพิจารณาทางเลือกหลายแนวทางในการปรับเปลี่ยนภาษีเทคโนโลยี ซึ่งเป็นข้อเสนอจากกระทรวงธุรกิจและการค้า ภาษีบริการดิจิทัลเรียกเก็บในอัตรา 2% จากรายได้ที่ได้รับจากผู้ใช้งานในสหราชอาณาจักร โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เสิร์ชเอนจิน บริษัทโซเชียลมีเดีย และตลาดออนไลน์ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาบริษัทอเมริกันอย่าง อัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล, เมตา (Meta) เจ้าของเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) และอะเมซอน (Amazon) ทั้งนี้ การพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ แสดงความไม่เห็นด้วยกับภาษีบริการดิจิทัลในการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงเศรษฐกิจฉบับใหม่ที่ทรัมป์และนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของอังกฤษตกลงที่จะทำการสำรวจเมื่อเดือนที่แล้ว (อินโฟเควสท์)
เนเธอร์แลนด์เล็งเพิ่มกำลังพล 2 เท่า คาดรับมือรัสเซีย, หวั่นสหรัฐฯ ถอนตัวจากนาโต สถานีโทรทัศน์ NOS ของเนเธอร์แลนด์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า เนเธอร์แลนด์ต้องการเพิ่มกำลังพลของกองทัพจาก 74,000 นาย เป็น 200,000 นาย โดยมุ่งเน้นไปที่ทหารกองหนุนเป็นพิเศษ ตามข้อมูลของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) นั้น กองทัพเนเธอร์แลนด์มีทหารอาชีพ 42,305 นาย บุคลากร 24,212 คน และทหารกองหนุน 7,483 นาย  อย่างไรก็ดี รายงานข่าวไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่กองทัพจะดำเนินการเพิ่มกำลังพลดังกล่าว ความวิตกกังวลเกี่ยวกับรัสเซีย และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของสหรัฐฯ ในนาโต เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในยุโรปหันมาพิจารณาทบทวนนโยบายกลาโหมของตัวเองใหม่ โดยก่อนหน้านี้ โปแลนด์ ซึ่งเป็นอีกชาติสมาชิกนาโต ได้เผยแผนการฝึกทหารแก่อาสาสมัครจำนวน 100,000 คนภายในปี 2570 ขณะที่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 มี.ค.) คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ได้นำเสนอแผนแม่บทฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่า ยุโรปควรเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม รวบรวมทรัพยากรสำหรับโครงการป้องกันร่วม และซื้ออาวุธจากยุโรปมากขึ้น (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ กลุ่มสายการบินร่วงจากเหตุไฟไหม้สนามบินฮีทโธรว์ ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันศุกร์ (21 มี.ค.) ตามทิศทางตลาดหุ้นหลัก ๆ ทั่วโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและนันทนาการได้รับแรงกดดันจากเหตุไฟไหม้ที่ทำให้สนามบินฮีทโธรว์ของอังกฤษที่ทำให้ต้องปิดให้บริการ ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 549.67 จุด ลดลง 3.31 จุด หรือ -0.60% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,042.95 จุด ลดลง 51.25 จุด หรือ -0.63%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 22,891.68 จุด ลดลง 107.47 จุด หรือ -0.47% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,646.79 จุด ลดลง55.20 จุด หรือ -0.63% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 55.20 จุด กังวลภาษีศุลกากร-หุ้นเดินทางร่วง ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันศุกร์ (21 มี.ค.) จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ขณะที่การปิดสนามบินฮีทโธรว์ส่งผลกระทบฉุดหุ้นกลุ่มเดินทาง  ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,646.79 จุด ลดลง 55.20 จุด หรือ -0.63% แต่ดัชนี FTSE100 ยังคงปรับตัวขึ้น 0.3% ในรอบสัปดาห์นี้ (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเผยเงินเฟ้อเดือนก.พ.ลดแตะ 3.0% เหตุรัฐบาลหนุนค่าสาธารณูปโภค กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (21 มี.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งไม่รวมอาหารสดที่มีความผันผวน เพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากที่ขยายตัว 3.2% ในเดือนม.ค. ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลกลับมาให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ยังคงอยู่ที่หรือสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 ส่วนดัชนี core-core CPI ซึ่งไม่นับรวมทั้งราคาพลังงานและอาหารสด เพิ่มขึ้น 2.6%  สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยุติการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่รัฐบาลก็กลับมาอุดหนุนค่าไฟฟ้าและแก๊สในเมืองที่ใช้ไประหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. เนื่องจากครัวเรือนยังคงต้องแบกรับภาระค่าไฟที่สูงขึ้น ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 6.9% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงจากที่เพิ่มขึ้น 10.8% ในเดือนม.ค. ขณะที่ราคาอาหารที่ไม่รวมอาหารสด เพิ่มขึ้น 5.6% และราคาสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. (อินโฟเควสท์)
สินทรัพย์ครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่ง 4% ในเดือนธ.ค. อานิสงส์หุ้นขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ (21 มี.ค.) ว่า มูลค่าสินทรัพย์ครัวเรือนของญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2567 อยู่ที่ 2,230 ล้านล้านเยน (15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การเติบโตดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญจากการลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุน (Investment Trust) ที่พุ่งสูงถึง 27.4% มาอยู่ที่ 136 ล้านล้านเยน อันเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการลงทุนที่ได้รับยกเว้นภาษี ขณะที่มูลค่าการถือครองหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.5% แตะระดับ 298 ล้านล้านเยน สำหรับสัดส่วนเงินสดและเงินฝากธนาคาร ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ครัวเรือนทั้งหมด มีการขยับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.6% มาอยู่ที่ 1,134 ล้านล้านเยน (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิพลิกปิดลบ 74.82 จุด วิตกมาตรการภาษีสหรัฐฯ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวพลิกปิดลบในวันนี้ (21 มี.ค.) โดยแรงซื้อในกลุ่มธนาคารที่ได้อานิสงส์จากดอกเบี้ยระยะยาวที่ปรับตัวสูงขึ้น ถูกหักล้างด้วยแรงเทขายจากความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ  สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 37,677.06 จุด ลดลง 74.82 จุด หรือ -0.20% (อินโฟเควสท์)
จีน
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดลบ 44.12 จุด กังวลมาตรการภาษีทรัมป์ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบในวันนี้ (21 มี.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันวันที่ 3 เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าเทขายทำกำไร นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลที่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ใกล้จะประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,364.83 จุด ลดลง 44.12 จุด หรือ -1.29% และตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปรับตัวลงทั้งสิ้น 1.6% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดดิ่ง 530.23 จุด หุ้นบ.จดทะเบียนร่วงฉุดตลาด ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดดิ่งลงในวันนี้ (21 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นบริษัทจดทะเบียนชั้นนำหลายแห่ง หลังจากที่บริษัทเหล่านี้เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 23,689.72 จุด ลดลง 530.23 จุด หรือ -2.19% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
เกาหลีใต้ส่งออกเพิ่มขึ้น 4.5% ช่วง 20 วันแรกเดือนมี.ค. อานิสงส์ยอดขายชิปพุ่ง สำนักงานศุลกากรเกาหลีใต้ (KCS) เปิดเผยในวันนี้ (21 มี.ค.) ว่า ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ในช่วง 20 วันแรกของเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 3.554 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์เซมิคอนดักเตอร์และเรือที่แข็งแกร่ง ยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น 11.6% แตะ 7.07 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้น 3.7% สู่ระดับ 3.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนยอดส่งออกเรือพุ่งขึ้นมากถึง 80.3% สู่ระดับ 2.23 พันล้านดอลลาร์  อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกเหล็ก ผลิตภัณฑ์น้ำมัน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ปรับตัวลดลงในอัตราเลขสองหลัก ด้านยอดนำเข้าลดลง 1.4% สู่ระดับ 3.439 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 20 วันแรกของเดือนมี.ค. ส่งผลให้เกาหลีใต้มียอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ 1.15 พันล้านดอลลาร์ ยอดนำเข้าน้ำมันดิบ ถ่านหิน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ลดลงในอัตราเลขสองหลัก แต่ยอดนำเข้าก๊าซธรรมชาติ รถยนต์ และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลัก (อินโฟเควสท์)
ชาติพันธมิตรยุโรปร่วมวางแผนรับหน้าที่แทนสหรัฐฯ ในนาโต หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ (FT) รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (20 มี.ค.) ว่า บรรดาชาติมหาอำนาจทางทหารที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปกำลังวางแผนรับผิดชอบด้านกลาโหมของทวีปยุโรปมากขึ้น เพื่อค่อย ๆ ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ประเทศต่าง ๆ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และกลุ่มนอร์ดิก กำลังพัฒนาแผนการโอนภาระหน้าที่ด้านกลาโหมอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ข่มขู่ซ้ำ ๆ ว่าจะลดบทบาทหรือถอนตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO)  สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้าง FT ว่า การหารือในเรื่องนี้ แม้ไม่เป็นทางการแต่ก็มีโครงสร้างที่ชัดเจน โดยแผนดังกล่าวจะรวมถึงการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของยุโรปและเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารให้มากขึ้น เพื่อให้สหรัฐฯ ยอมรับกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่มีการจัดการ แม้จะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม แต่เจ้าหน้าที่ยุโรปบางรายระบุว่า ทวีปยุโรปอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ถึง 10 ปีในการพัฒนาขีดความสามารถให้สามารถทดแทนการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ โดยไม่นับรวมถึงระบบป้องปรามนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ  บรรดาเจ้าหน้าที่นาโตกล่าวว่า การคงโครงสร้างของนาโตไว้โดยไม่มีสหรัฐฯ นั้น จะทำได้ง่ายกว่าการสร้างกรอบความร่วมมือด้านกลาโหมขึ้นใหม่ (อินโฟเควสท์)
จีน-รัสเซียยืนยัน พร้อมขยายความร่วมมือด้านกฎหมายและความปลอดภัยของสองชาติ หวัง เสี่ยวหง รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้พบปะกับอเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงรัฐบาลกลางรัสเซีย (FSB) ณ กรุงปักกิ่งในวันนี้ (21 มี.ค.) หวังกล่าวว่า จีนมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัสเซีย เพื่อปฏิบัติตามฉันทมติสำคัญที่ผู้นำทั้งสองชาติบรรลุร่วมกันอย่างจริงจัง และส่งเสริมการประชุมหลายระดับระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานความมั่นคงของทั้งจีนและรัสเซีย สำนักข่าวซินหัวรายงานถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่า จีนยินดีที่จะร่วมงานกับรัสเซียเพื่อกระชับและขยายความร่วมมือเชิงปฏิบัติการ เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ รับประกันความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ส่งเสริมการพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านความปลอดภัยในเชิงลึก และเพิ่มคุณค่าให้กับความหมายของการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างจีนและรัสเซียในการประสานงานเพื่อยุคสมัยใหม่  ด้านบอร์ตนิคอฟตอบสนองต่อถ้อยแถลงของหวังโดยระบุว่า รัสเซียพร้อมที่จะสนับสนุนจีนอย่างจริงจัง และร่วมกันแก้ไขจัดการอุปสรรคด้านความมั่นคงต่าง ๆ (อินโฟเควสท์)
อิสราเอลโจมตีทางอากาศสังหารแกนนำฝ่ายการเมืองฮามาส ซาลาห์ อัลบาร์ดาวิล แกนนำอาวุโสและสมาชิกฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาสพร้อมกับภรรยา ถูกสังหารในวันนี้ (23 มี.ค.) ในการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลที่มุ่งเป้ามาที่เต็นท์ของเขาในค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นทางตะวันตกของคานยูนิส ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา แหล่งข่าวจากกลุ่มฮามาสระบุว่า การทิ้งระเบิดดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่แหล่งรวมตัวของผู้พลัดถิ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พร้อมระบุว่า การโจมตีอัลบาร์ดาวิลเป็นการสุมไฟการโจมตีผู้นำกลุ่มและพลเรือนในฉนวนกาซาของอิสราเอล  กลุ่มฮามาสร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของอัลบาร์ดาวิล โดยระบุว่า เขาเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติปาเลสไตน์เพื่อการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป และเป็นหนึ่งในโฆษกทางการของกลุ่ม  อย่างไรก็ทาง กองทัพอิสราเอลยังแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด การสังหารในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ลดความรุนแรงของสถานการณ์และปกป้องพลเรือนจากผลกระทบของความขัดแย้ง (อินโฟเควสท์)
กองทัพอิสราเอลสกัดกั้นขีปนาวุธจากเยเมน กองทัพอิสราเอลเปิดเผยในวันอาทิตย์ (23 มี.ค.) ว่า กองทัพได้สกัดกั้นขีปนาวุธที่ยิงมาจากเยเมนก่อนเข้าสู่ดินแดนของอิสราเอล ขีปนาวุธดังกล่าวทำให้สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นในกรุงเทลอาวีฟ ที่ราบชายฝั่งทางตอนใต้ของกรุงเทลอาวีฟ ภูมิภาคชารอนตอนกลางอิสราเอล และชุมชนบางส่วนในเขตเวสต์แบงก์ ส่งผลให้ประชาชนหลายล้านชีวิตต้องรีบอพยพไปยังศูนย์หลบภัย และสถานที่ปลอดภัยในชั่วโมงเร่งด่วนยามเช้า กองทัพอิสราเอลกล่าวในแถลงการณ์ว่า "หลังจากที่สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นในหลายพื้นที่ของอิสราเอลอยู่ครู่หนึ่ง ขีปนาวุธลูกหนึ่งจากเยเมนก็ถูกสกัดไว้ได้โดยกองทัพอากาศก่อนที่จะเข้าสู่ดินแดนของอิสราเอล" เว็บไซต์ของสำนักข่าว วายเน็ต นิวส์ (Ynet News) ของอิสราเอลรายงานว่า เที่ยวบินขาเข้าและออกจากท่าอากาศยานเบน กูเรียน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงเทลอาวีฟ ถูกระงับชั่วคราว หน่วยกู้ภัยมาเกน เดวิด เอโดม (MDA) ของอิสราเอลระบุว่า ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีดังกล่าว กองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮูตีในเยเมนเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอีกครั้ง หลังจากที่อิสราเอลเปิดปิดฉากข้อตกลงหยุดยิงระยะเวลา 2 เดือน ด้วยการถล่มการโจมตีทางอากาศใส่ฉนวนกาซาอย่างรุนแรง (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex พุ่งกว่า 500 จุด บวก 5 วันติด ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นกว่า 500 จุด โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนส่งแรงซื้อเข้าสู่หุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูง ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 76,905.51 บวก 557.45 จุด หรือ 0.73% (อินโฟเควสท์)
ไทย
แรงไม่หยุด! ส่งออก ก.พ.พุ่ง 14% กลับมาเกินดุล ทั้งปีมีลุ้นโตทะลุเป้า 3% นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนก.พ.68 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,707 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และขยายตัวในระดับ 2 digit ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากม.ค.68 ที่ขยายตัวได้ 13.6% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 24,718 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยกลับมาเกินดุลการค้า อยู่ที่ 1,988 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.68) การส่งออกมีมูลค่ารวม 51,984 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.8% การนำเข้า มีมูลค่ารวม 51,876 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6% ส่งผลให้ 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 108 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกสำหรับปี 2568 ว่าจะขยายตัวได้ 2-3% อย่างไรก็ดี จากมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ที่ขยายตัวได้ถึง 13.8% นั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งปีนี้ การส่งออกของไทย จะขยายตัวได้เกินเป้าหมาย 3% ที่ตั้งไว้ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวได้เกินกว่า 3% นั้น การส่งออกทั้งปีจะต้องขยายตัวได้มากกว่า 3.5% ซึ่ง 2 เดือนแรกเฉลี่ยโตได้แล้ว 13.8% จึงมั่นใจว่าการส่งออกจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยในการขยายตัวให้แก่เศรษฐกิจไทยปีนี้
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดบวก 4.90 จุด แกว่งผันผวนพยายามรีบาวด์แต่ยังขาดปัจจัยหนุนรอเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้า SET ปิดวันนี้ที่ 1,186.61 จุด เพิ่มขึ้น 4.90 จุด (+0.41%) มูลค่าซื้อขายราว 47,327.08 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯ ระบุตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งผันผวน ช่วงนี้พยายามรีบาวด์แต่ยังขาดปัจจัยหลักหนุน แม้โบรกต่างชาติปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย แต่เม็ดเงินต่างชาติยังไม่เข้า ประกอบกับ หลายมาตรการภาครัฐยังไม่มีรายละเอียดหรือความชัดเจนออกมา แนวโน้มสัปดาห์หน้าตลาดมีโอกาสอ่อนตัวลงจากแรงกดดันประเด็นสงครามการค้าอาจเห็นการโต้ตอบกันมากขึ้น ให้แนวรับ 1,173 จุด ถัดไป 1,160 จุด และแนวต้าน 1,190-1200 จุด SET ปิดวันนี้ที่ 1,186.61 จุด เพิ่มขึ้น 4.90 จุด (+0.41%) มูลค่าการซื้อขายราว 47,327.08 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีแกว่งผันผวน โดยทำจุดต่ำสุด 1,180.49 จุด และทำจุดสูงสุด 1,190.62 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 194 หลักทรัพย์ ลดลง 302 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 163 หลักทรัพย์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 70,344 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 70,344 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 3,368 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 375 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 657 ล้านบาท  Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.82% ปรับตัวลดลงจากเมื่อวาน -0.02% ภาพรวมของตลาดในวันนี้ Yield Curve ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าประมาณ 1-3 bps. สำหรับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ NET INFLOW 669 ล้านบาท โดยเกิดจาก NET BUY 669 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) ด้านปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่รายงานตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 223,000 ราย ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ  224,000 ราย สำหรับ Holding ของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นสัปดาห์นี้ปรับลดลง 4,733 ล้านบาท จาก 875,625 ล้านบาท ในสัปดาห์ก่อนหน้าเป็น 870,892 ล้านบาท ทั้งนี้ตลาดติดตามรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ ประจำไตรมาส 4/2567 ในสัปดาห์หน้า (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.86/87 แกว่งตามภูมิภาค ไร้ปัจจัยใหม่ คาดกรอบต้นสัปดาห์หน้า 33.75-33.95 นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 33.86/87 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจาก ช่วงเช้าเปิดตลาดที่ระดับ 33.73 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.70-33.90 บาท/ดอลลาร์ แต่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่มีผลต่อการทิศทางของค่าเงินบาทมากนัก โดยเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค  "ระหว่างวันไม่มีปัจจัยสำคัญ ส่วนที่ส่งออกไทยเดือนก.พ.ขยายตัวสูง 14% ก็ไม่มีผลเท่าไรต่อค่าเงิน วันนี้บาทยังแกว่งในกรอบ 33.70-33.90 ทองคำก็ย่อตัวลงจากเช้า" นักบริหารเงิน ระบุ ทั้งนี้ ต้นสัปดาห์หน้า จะมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ตลาดรอติดตาม คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคผลิต-ภาคบริการขั้นต้น เดือนมี.ค. ของทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อียู อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของสหรัฐ จาก Conference Board และยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ. นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทต้นสัปดาห์หน้า จะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75 - 33.95 บาท/ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
 
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.จาก Jibun Bank ญี่ปุ่น         
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมี.ค.จาก Jibun Bank ญี่ปุ่น         
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.จาก HCOB อียู                           
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมี.ค.จาก HCOB อียู                           
 ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือนก.พ.จากเฟดชิคาโก สหรัฐฯ
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.จาก S&P Global สหรัฐฯ
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมี.ค.จาก S&P Gl สหรัฐฯ
 

แชร์เรื่องนี้

  • Facebook
  • Twitter
  • Line

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

News Demo
14
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
13
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
09
พฤษภาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ

Shortcut Menu

  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์/
    โครงสร้างพื้นฐาน
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนผลงานดี
  • ตารางจ่ายเงินปันผล
  • ข่าว/บทวิเคราะห์
  • กลยุทธ์การลงทุน
  • กำหนดการและแบบฟอร์ม
  • โปรโมชั่น
  • ปฏิทินกองทุน
  • ภาพกิจกรรม
  • ประกาศราคากลาง
  • AIMC Category
    Performance Report
  • ถาม-ตอบ
  • ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน
  • ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้
  • การตั้งค่าคุกกี้
  • สมัครรับข่าวสาร
  • ติดต่อเรา
  • ร่วมงานกับเรา
  • ประกาศความเป็นส่วนตัว
Go To Top
Stay Connect with us:
  • Facebook
  • Twitter
  • Youtube

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

KTAM Smart Plan: 0-2686-6100 กด 9 โทรสาร 0-2670-0430 ต่างจังหวัดโทรฟรี 1-800-295-592

อีเมล: callcenter@ktam.co.th

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0-1075-45000-37-3 : สำนักงานใหญ่

  • พันธมิตรธุรกิจ
  • เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
  • แผนผังเว็บไซต์

การใช้และการจัดการคุกกี้

เว็บไซต์ของบริษัทฯ มีการใช้งานคุกกี้ (cookies) เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณสามารถตั้งค่าและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ การใช้คุกกี้ของบริษัทฯ ได้ที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้ และ การตั้งค่าคุกกี้

 การใช้และการจัดการคุกกี้

เมื่อท่านเข้าใช้เว็บไซต์ของเรา เราใช้คุกกี้ที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ของเราจะ ทำงานได้อย่างถูกต้อง และเรายังใช้คุกกี้ประเภทอื่นๆ เพื่อรวบรวมพฤติกรรมการใช้ งานเว็บไซต์ของเราและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อสร้างประสบการณ์ การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งานคุกกี้ บางประเภทได้ตลอดเวลา และบริษัทจะไม่ใช้คุกกี้ที่ท่านเลือกปิดการใช้งาน

ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้


การกำหนดลักษณะความยินยอม

คุกกี้ที่จำเป็น

คุกกี้เหล่านี้ที่จำเป็นในการเปิดใช้คุณลักษณะการทำงานพื้นฐานของเว็บไซต์ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการเครือข่าย และการเข้าสู่ระบบ

คุกกี้วิเคราะห์

เราใช้คุกกี้ Google Analytics เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์โดยรวบรวมและรายงานข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ คุกกี้ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลที่ไม่ระบุตัวบุคคลโดยตรง