สหรัฐฯ
สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. สวนทางคาดการณ์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนก.พ. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 1.0% หลังจากพุ่งขึ้น 3.3% ในเดือนม.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้แรงหนุนจากการที่ผู้ผลิตรีบเร่งสั่งสินค้าก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อเหล็กและอะลูมิเนียม ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ลดลง 0.3% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนม.ค. (อินโฟเควสท์)
เฟดเผยแบบจำลอง GDPNow บ่งชี้ GDP สหรัฐหดตัว -1.8% ใน Q1/68 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -1.8% ในไตรมาส 1/2568 ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. GDPNow คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 1/2568 เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งต่อไปในวันที่ 28 มี.ค. ทั้งนี้ ในปี 2567 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1, 3.0% ในไตรมาส 2, 3.1% ในไตรมาส 3 และ 2.3% ในไตรมาส 4 (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์ลงนามคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% มีผลบังคับใช้ 2 เม.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารในวันพุธ (26 มี.ค.) เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. "สิ่งที่เรากำลังจะทำคือการเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ" ปธน.ทรัมป์ประกาศที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว "ก่อนหน้านี้เราเริ่มต้นด้วยการเรียกเก็บภาษี 2.5% ซึ่งภาษีจะถูกปรับขึ้นเป็น 25%" "เรากำลังลงนาม (คำสั่งฝ่ายบริหาร) ในวันนี้ คำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. เราจะเริ่มดำเนินการเก็บภาษีในวันที่ 3 เม.ย." ปธน.ทรัมป์กล่าว ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า เขากำลังพิจารณาการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.5% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นฟูการผลิตภายในประเทศและดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมเข้ามาในสหรัฐอเมริกา สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปธน.ทรัมป์เชื่อว่า มาตรการภาษีศุลกากรจะทำให้บริษัทรถยนต์ย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้ใหม่ให้กับรัฐบาล และช่วยลดหนี้สาธารณะของประเทศ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า มาตรการภาษีศุลกากรจะส่งผลให้ราคารถยนต์ปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่กำลังเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงอยู่แล้ว การประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ของปธน.ทรัมป์เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในวันที่ 2 เม.ย. โดยมาตรการดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่สินค้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์เรียกวันดังกล่าวว่าเป็น "วันแห่งการปลดปล่อย" โดยเขาย้ำว่า สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบโดยประเทศพันธมิตรและคู่แข่งมาเป็นเวลาหลายปี (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำบริษัทจีนกว่า 50 แห่ง หวังสกัดการพัฒนา AI, ชิป สหรัฐอเมริกาประกาศเพิ่มบริษัทของจีนกว่า 50 แห่งเข้าในบัญชีดำจำกัดการส่งออกเมื่อวันอังคาร (25 มี.ค.) หวังลดความสามารถของจีนในการพัฒนาการประมวลผลประสิทธิภาพสูง เทคโนโลยีควอนตัม และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขั้นสูง ตลอดจนอาวุธไฮเปอร์โซนิก ทั้งนี้ บริษัทจีนเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทและสถาบันประมาณ 80 แห่งที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำจำกัดการส่งออกในครั้งนี้ โดยที่เหลืออยู่ในไต้หวัน อิหร่าน ปากีสถาน แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในบรรดาบริษัทจีนที่ถูกแบล็กลิสต์ครั้งนี้รวมถึงบริษัทย่อย 6 แห่งของอินสเปอร์ กรุ๊ป (Inspur Group) ผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้าชั้นนำของจีน ซึ่งแถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุเหตุผลที่ขึ้นบัญชีบริษัทในเครืออินสเปอร์ กรุ๊ป ว่าเป็นเพราะมีส่วนในการพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์สำหรับกองทัพจีน โดยบริษัทย่อยเหล่านี้ 5 แห่งตั้งอยู่ในจีน และอีกหนึ่งแห่งในไต้หวัน ขณะที่อินสเปอร์ กรุ๊ป ถูกขึ้นบัญชีดำไปแล้วเมื่อปี 2566 รัฐบาลสหรัฐฯ จัดทำบัญชีดำจำกัดการส่งออกด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยบริษัทต่าง ๆ จะไม่สามารถขายสินค้าให้กับบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำได้ หากไม่ได้ยื่นขอและได้รับใบอนุญาตจากทางการ ซึ่งการขึ้นบัญชีดำครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสหรัฐฯ เพื่อเสริมแกร่งให้กับกองทัพของตนและคุกคามชีวิตชาวอเมริกัน ด้านสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันออกแถลงการณ์ระบุว่า จีนคัดค้านอย่างเด็ดขาดต่อการกระทำเหล่านี้ของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดเอาประเด็นด้านการทหารมาเป็นข้ออ้างเพื่อทำให้การค้าและเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและอาวุธโดยทันที (อินโฟเควสท์)
มูดี้ส์เตือนสถานะการคลังสหรัฐฯถดถอยต่อเนื่อง เหตุขาดดุลงบประมาณเพิ่ม-ชำระหนี้ได้ลดลง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ ออกรายงานเตือนว่า ความแข็งแกร่งด้านการคลังของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น และความสามารถในการชำหนี้ลดน้อยลง รายงานของมูดี้ส์ซึ่งเผยแพร่ในวันอังคาร (25 มี.ค.) ระบุว่า สถานะการคลังของสหรัฐฯ ได้ถดถอยลงอีกนับตั้งแต่มูดี้ส์ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ระดับ Aaa ในเดือนพ.ย. 2566 และแม้ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่ดีมาก แต่มูดี้ส์มองว่าความสามารถในการชำระหนี้ของสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอกว่าประเทศอื่นที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับเดียวกัน มูดี้ส์คาดการณ์ว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับประมาณ 130% ภายในปี 2578 จากระดับเกือบ 100% ในปี 2568 และคาดว่าความสามารถในการชำระหนี้จะชะลอตัวลงในอัตราที่รวดเร็วขึ้น โดยการชำระดอกเบี้ยของรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีอัตราส่วนสูงถึง 30% ของรายได้ภายในปี 2578 จากระดับ 9% ในปี 2564 ทั้งนี้ มูดี้ส์ระบุว่า ความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของสหรัฐฯ นั้นหมายความว่า บทบาทของสกุลเงินดอลลาร์และตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในตลาดการเงินโลกได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ Aaa นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังระบุด้วยว่า มาตรการภาษีการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจขัดขวางความสามารถของประเทศในการรับมือกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์ของมูดี้ส์เตือนว่า มาตรการภาษีดังกล่าว ร่วมกับแผนการลดหย่อนภาษี อาจส่งผลเสียต่อรายได้ของรัฐบาลมากกว่าผลดี การเปิดเผยรายงานล่าสุดของมูดี้ส์มีขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในตลาดการเงินของสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นและทำให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง (อินโฟเควสท์)
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ภาษีนำเข้าเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยสหรัฐฯ บรรลุทุกเป้าหมาย ไครี ทูร์ค ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์เผยว่า สหรัฐฯ มีโอกาสน้อยมากที่จะบรรลุเป้าหมายต่างๆ หากใช้มาตรการภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว ทูร์คกล่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งไม่พอใจกับปัญหาการขาดดุลค้า ได้ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหญ่เพื่อลดการนำเข้าและปรับลดการขาดดุล "สำหรับทรัมป์ ภาษีนำเข้ายังเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ การกระตุ้นการจ้างงาน และการเพิ่มรายได้ของรัฐบาล" ทูร์คให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ถึงอย่างนั้นมาตรการภาษีจะไม่ช่วยเพิ่มการจ้างงานในอุตสาหกรรมอย่างเหล็กกล้า ซึ่งขาดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ทูร์คยังระบุว่า ปธน.ทรัมป์ใช้มาตรการบีบบังคับเพื่อดึงดูดการลงทุนมายังสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงสร้างการจ้างงานได้จำกัด สำหรับผลกระทบของภาษีต่อผู้บริโภค ทูร์คมองว่า ราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นจะส่งผลให้รายได้ที่พึงจับจ่ายใช้สอย (disposable income) ของประชาชนลดลง กระทบต่อการใช้จ่ายสินค้า และอาจนำไปสู่การเลิกจ้างงานในภาคส่วนอื่น ๆ ได้ "มาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์อาจทำให้ครัวเรือนอเมริกันต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 2,600 ดอลลาร์ต่อปี โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญทั้งภาวะเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว" ทูร์คระบุ พร้อมเสริมว่า แม้จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าถึง 50% สำหรับสินค้าทั้งหมด ก็แทบไม่สามารถช่วยชดเชยการสูญเสียรายได้ของรัฐบาลได้ (อินโฟเควสท์)
รองปธน.สหรัฐฯ เตรียมเยือนกรีนแลนด์ ท่ามกลางกระแสต่อต้าน เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคาร (25 มี.ค.) ว่า เขาจะเดินทางไปยังกรีนแลนด์ในวันศุกร์นี้ (28 มี.ค.) โดยแวนซ์ระบุในวิดีโอที่โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า เขาจะไปเยี่ยมเยียนเจ้าหน้าที่บางส่วนในกองกำลังอวกาศที่ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ และจะตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับความปลอดภัยของกรีนแลนด์ด้วย แวนซ์กล่าวว่า "ประเทศอื่น ๆ จำนวนมากได้ข่มขู่กรีนแลนด์ ... ขู่ที่จะใช้ดินแดนและทางน้ำของกรีนแลนด์เพื่อคุกคามสหรัฐฯ คุกคามแคนาดา และแน่นอนว่าคุกคามประชาชนของกรีนแลนด์ด้วย ดังนั้น เราจึงต้องการตรวจสอบว่าสถานการณ์ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง น่าเสียดายที่บรรดาผู้นำทั้งในอเมริกาและเดนมาร์กเพิกเฉยต่อกรีนแลนด์มานานเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อกรีนแลนด์ และยังส่งผลเสียต่อความมั่นคงของทั้งโลกด้วย เราคิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ไปในทิศทางอื่นได้ ดังนั้น ผมจะไปตรวจสอบเรื่องนี้" แวนซ์จะเดินทางร่วมกับอุชา แวนซ์ ภรรยาของเขาซึ่งประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะเดินทางไปกรีนแลนด์ในสัปดาห์นี้ ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และคริส ไรท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีแผนที่จะเดินทางเยือนกรีนแลนด์เช่นกัน (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์" ลงนามคำสั่งใหม่ บังคับพิสูจน์ความเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ก่อนใช้สิทธิเลือกตั้ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันอังคาร (25 มี.ค.) ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องแสดงหลักฐานว่าเป็นพลเมืองสหรัฐฯ และพยายามป้องกันไม่ให้รัฐต่าง ๆ นับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่ได้รับหลังจากวันเลือกตั้ง และคำสั่งนี้ยังมุ่งที่จะตัดเงินสนับสนุนของรัฐบาลกลางสำหรับรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามด้วย ปธน.ทรัมป์กล่าวขณะลงนามคำสั่งที่ทำเนียบขาวว่า ประเทศป่วยหนักเพราะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งปลอม และการเลือกตั้งที่เลวร้าย ซึ่งรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คำสั่งของปธน.ทรัมป์ยังกำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิต้องรับรองว่า รัฐต่าง ๆ สามารถเข้าถึงระบบที่ตรวจสอบสถานะความเป็นพลเมืองหรือสถานะการเข้าเมืองของผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวคาดว่าจะเผชิญกับการท้าทายทางกฎหมาย โดย ลิซา กิลเบิร์ต ประธานร่วมของพับลิก ซิติเซน (Public Citizen) องค์กรสนับสนุนสิทธิ์ของประชาชนระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการโจมตีระบอบประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้งและเป็นความพยายามฉกฉวยอำนาจแบบเผด็จการ รายงานระบุว่า ปธน.ทรัมป์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มาโดยตลอด และยังคงกล่าวอ้างว่าความพ่ายแพ้ของเขาต่ออดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2563 เกิดจากการโกงการเลือกตั้งในวงกว้าง อีกทั้ง ปธน.ทรัมป์และพันธมิตรจากพรรครีพับลิกันยังกล่าวหาว่ามีการลงคะแนนเสียงโดยบุคคลที่มิใช่พลเมือง แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะผิดกฎหมายและเกิดขึ้นได้น้อยมาก ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากได้ผ่านร่างกฎหมายห้ามบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองลงทะเบียนเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลางซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคเดโมแครต (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 132.71 จุด วิตกสงครามการค้าหลังทรัมป์รีดภาษีรถยนต์ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (26 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้า โดยล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25% ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,454.79 จุด ลดลง 132.71 จุด หรือ -0.31%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,712.20 จุด ลดลง 64.45 จุด หรือ -1.12% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,899.02 จุด ลดลง 372.84 จุด หรือ -2.04% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก 65 เซนต์ ขานรับสต็อกน้ำมันดิบลดลง สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (26 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวหลังจากสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับประเทศที่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากเวเนซุเอลา ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 65 เซนต์ หรือ 0.94% ปิดที่ 69.65 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 77 เซนต์ หรือ 1.05% ปิดที่ 73.79 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (26 มี.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.35% แตะที่ระดับ 104.547 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $3.40 เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งสกัดแรงซื้อ สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (26 มี.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นปัจจัยกดดันตลาด อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวที่เหนือระดับ 3,000 ดอลลาร์ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้นักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 3.40 ดอลลาร์ หรือ 0.11% ปิดที่ 3,022.50 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ดีดตัว นักลงทุนจับตาเทรดวอร์, ดัชนี PCE อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการทำสงครามการค้า และตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ณ เวลา 20.16 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.336% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.687% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
เงินเฟ้อ UK ก.พ. ชะลอตัวเกินคาด แต่ยังเสี่ยงกลับมาพุ่งสูง สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยในวันนี้ (26 มี.ค.) ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร (UK) ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.8% ต่อปีในเดือนก.พ. จากระดับ 3.0% ในเดือนม.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดไว้ที่ 2.9% แต่สอดคล้องกับที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนออกมาเตือนว่า เงินเฟ้อที่ลดลงนี้อาจอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะราคาพลังงานที่คาดว่าจะสูงขึ้นในเดือนเม.ย. รวมถึงการปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคม อาจผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งกลับขึ้นไปใกล้ระดับ 4% อีกครั้งในไม่ช้า นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันนักบัญชี ICAEW มองว่า BoE น่าจะยังคงจับตาสถานการณ์แรงกดดันด้านราคาอย่างใกล้ชิด และอาจยังไม่รีบลดอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะเห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในเดือนเม.ย.ได้ชัดเจนขึ้น ทางด้าน BoE เองคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภค (CPI) จะขึ้นไปแตะระดับสูงสุดราว 3.75% ในช่วงไตรมาส 3/2568 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% เกือบสองเท่า โดยมีปัจจัยหลักมาจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงค่าสาธารณูปโภคและค่ารถประจำทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อในภาคบริการ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ BoE ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 5.0% เมื่อเทียบรายปี ไม่ได้ลดลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4.9% แต่ก็ต่ำกว่าที่ BoE คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 5.1% นอกจากนี้ สำนักงานสถิติฯ ยังระบุด้วยว่า ราคาเสื้อผ้าและรองเท้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฉุดอัตราเงินเฟ้อโดยรวมในเดือนก.พ. โดยราคาในหมวดนี้ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ นลท.กังวลมาตรการภาษีสหรัฐฯ ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันพุธ (26 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเฮลท์แคร์ ขณะที่นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 548.73 จุด ลดลง 3.86 จุด หรือ -0.70% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,030.68 จุด ลดลง 77.91 จุด หรือ -0.96%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 22,839.03 จุด ลดลง 270.76 จุด หรือ -1.17% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,689.59 จุด เพิ่มขึ้น 25.79 จุด หรือ +0.30% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 25.79 จุด กลุ่มพลังงานบวกหนุนตลาด ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพุธ (26 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้น หลังจาก ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษได้ประกาศชะลอแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลในการอัปเดตงบประมาณ ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,689.59 จุด เพิ่มขึ้น 25.79 จุด หรือ +0.30% (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
แบงก์ชาติญี่ปุ่นแต่งตั้งอดีตศ.เศรษฐศาสตร์ร่วมคณะกรรมการนโยบาย ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ (26 มี.ค.) ว่า จุนโกะ โคเอดะ อดีตศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายของ BOJ ซึ่งถือเป็นสมาชิกหญิงคนที่ 2 ของคณะกรรมการฯ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การแต่งตั้งในครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่ BOJ พยายามจะดำเนินนโยบายการเงินให้เป็นปกติ หลังจากใช้มาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่มานานถึง 10 ปี โคเอดะ วัย 49 ปี อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเงินระหว่างประเทศ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว และได้รับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส โดยเธอจะเข้ามาแทนที่เซจิ อาดาชิ อดีตนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทมารุซัน ซีเคียวริตีส์ โค (Marusan Securities) โคเอดะถือเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบาย BOJ ถัดจากจุนโกะ นาคากาวะ ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นหัวหอกของบริษัทโนมูระ แอสเสต แมเนจเมนต์ (Nomura Asset Management) และเข้ามาเป็นสมาชิกคณะกรรมการ BOJ เมื่อปี 2564 ทั้งนี้ คาดว่าโคเอดะจะเข้าร่วมประชุมนโยบายที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. และ 1 พ.ค. โดยตลาดกำลังจับตาจุดยืนของเธอต่อการดำเนินการในอนาคต (อินโฟเควสท์)
จีน
ปธ.สมาคมปฏิรูปศก.จีนวอนทางการเพิ่มการบริโภคเป็น 70% ของ GDP ภายในปี 2578 เผิง เซิน ประธานสมาคมปฏิรูปเศรษฐกิจจีน และอดีตรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติ (NDRC) ได้เสนอแนะว่า จีนควรตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการบริโภคให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วภายในทศวรรษหน้า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของจีน ซึ่งโดยปกติจะเน้นการลงทุนและการส่งออกเป็นหลัก เผิงกล่าวในที่ประชุมเอเชียโป๋อ๋าว (Boao Forum for Asia - BFA) เมื่อวันอังคาร (25 มี.ค.) ว่า หน่วยงานต่าง ๆ ควรพยายามกระตุ้นการบริโภคเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากประมาณ 55% ในปัจจุบันให้เป็น 70% ภายในปี 2578 ความคิดเห็นของเผิงยิ่งตอกย้ำว่า จีนต้องเร่งผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์คุกคามการส่งออกและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง ด้านรัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นอันดับแรกในปีนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนก็ตาม เผิงกล่าวว่า เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นที่โรงงานและการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้การบริโภคอยู่ในระดับต่ำด้วย หากต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริโภคควรเพิ่มขึ้น 5-8% ของ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยขั้นตอนแรกในกระบวนการนี้ คือการเพิ่มรายได้และกระจายความมั่งคั่งให้กับผู้บริโภคมากขึ้น (อินโฟเควสท์)
บ.จีนเล็งทุ่ม 1.65 พันล้านดอลล์ สร้างศูนย์การผลิตในเขตเศรษฐกิจของอียิปต์ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ซินเฟิง อียิปต์ (Xinfeng Egypt) บริษัทที่ได้รับเงินทุนจากจีน ได้ลงนามข้อตกลงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินกับสำนักงานทั่วไปเขตเศรษฐกิจคลองสุเอซของอียิปต์ เพื่อลงทุนก่อสร้างศูนย์การผลิตมูลค่า 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.6 หมื่นล้านบาท) ครอบคลุมพื้นที่ 3.75 ล้านตารางเมตรในเขตบูรณาการไอน์ ซอคห์นาของเขตเศรษฐกิจฯ ศูนย์การผลิตแห่งนี้วางแผนก่อสร้างออกเป็นสองระยะ มีกำหนดเสร็จสิ้นภายใน 5 ปี โดยจะประกอบด้วยโรงงาน 9 แห่ง โรงงานบำบัดขยะมูลฝอย และศูนย์การวิจัยพัฒนาและฝึกอบรม โดยจะเน้นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และระบบขนส่ง ชิ้นส่วนมาตรฐานอุตสาหกรรม และชิ้นส่วนที่ไม่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดลบ 1.28 จุด กังวลเศรษฐกิจชะลอตัว ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบในวันนี้ (26 มี.ค.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน และการที่สหรัฐฯ เตรียมประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาด ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,368.70 จุด ลดลง 1.28 จุด หรือ -0.04% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดบวก 139.07 จุด จับตามาตรการภาษีทรัมป์ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดบวกในวันนี้ (26 มี.ค.) โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มยานยนต์จีนและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ที่สหรัฐฯ ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 23,483.32 จุด บวก 139.07 จุด หรือ +0.60% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
แบงก์ชาติอินโดฯ พร้อมแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ หลังอ่อนยวบใกล้โลว์ในรอบ 27 ปี ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศว่าพร้อมเข้าดูแลเสถียรภาพเงินรูเปียห์ โดยวันนี้ (26 มี.ค.) รูเปียห์อ่อนค่าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 27 ปี หรือนับตั้งแต่วิกฤตการเงินเอเชียปี 2541 แม้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศยังแข็งแกร่งและทิศทางตลาดโดยรวมยังเป็นบวกก็ตาม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ทางการเงินและหลักทรัพย์ของ BI กล่าวว่า ธนาคารกลางกำลังจับตาดูตลาดอย่างใกล้ชิดและพร้อมสนับสนุนค่าเงินรูเปียห์เสมอ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าได้เข้าแทรกแซงตลาดในวันนี้หรือไม่ นอกจากนั้นยังชี้ว่าตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของอินโดนีเซียยังมีทิศทางที่ดี ขณะเดียวกัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายเสถียรภาพระบบการเงินมหภาคของ BI ก็ออกมายืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า พื้นฐานเศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังคงแข็งแกร่ง โดยชี้ไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจราว 5% อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ และหนี้ต่างประเทศที่ยังบริหารจัดการได้ดี พร้อมเสริมว่าสถานการณ์ปัจจุบันของอินโดนีเซีย "แตกต่างอย่างสิ้นเชิง" จากช่วงวิกฤตปี 2541 และรับมือได้ดีกว่ามาก แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจ ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศยังดีอยู่ แม้ค่าเงินจะอ่อนลงก็ตาม (อินโฟเควสท์)
ศาลอุทธรณ์เกาหลีใต้ยกฟ้อง "อี แจ-มยอง" ผู้นำฝ่ายค้าน พ้นผิดคดีละเมิดกม.เลือกตั้ง ศาลอุทธรณ์กรุงโซลได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นในวันนี้ (26 มี.ค.) โดยมีคำพิพากษายกฟ้อง อี แจ-มยอง ผู้นำพรรคฝ่ายค้านหลัก ในคดีละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าให้ข้อมูลเท็จระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2564 ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นเคยตัดสินเมื่อปีที่แล้วว่าอี แจ-มยอง มีความผิดจริง และลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม คำตัดสินล่าสุดของศาลอุทธรณ์ทำให้อี แจ-มยอง พ้นผิดจากข้อกล่าวหาดังกล่าว สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า คำตัดสินนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญทางการเมือง โดย อี แจ-มยอง ซึ่งเคยพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2565 ให้กับยุน ซอกยอล ไปอย่างฉิวเฉียด ถูกมองว่าเป็นตัวเก็งคนสำคัญจากพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ที่จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนปธน.ยุนออกจากตำแหน่ง จากกรณีประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อต้นเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว (อินโฟเควสท์)
เซเลนสกีเผย สหรัฐฯ เสนอข้อตกลงแร่หายากเวอร์ชันใหม่ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เปิดเผยว่า สหรัฐฯ เสนอข้อตกลงแร่หายากฉบับใหม่ต่อเคียฟ โดยอิงตามกรอบความตกลงก่อนหน้านี้ เซเลนสกีเปิดเผยเรื่องดังกล่าวกับผู้สื่อข่าววานนี้ (25 มี.ค.) พร้อมอธิบายเกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐฯ ว่าเป็นข้อตกลงขนาดใหญ่ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ของฝ่ายอเมริกา แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ รวมถึงไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่จะมีการลงนามข้อตกลง ผู้นำยูเครนกล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงเวอร์ชันใหม่ สหรัฐฯ จะไม่มีส่วนร่วมในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครน ซึ่งเป็นไปตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เคยบอกไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ จะลงนามข้อตกลงแร่หายากกับยูเครน "เร็ว ๆ นี้" หลังจากที่ข้อตกลงเดิมถูกระงับไป โดยสหรัฐฯ และยูเครนมีกำหนดลงนามข้อตกลงแร่หายากในช่วงปลายเดือนก.พ. ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งจะเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้าถึงแหล่งแร่ของยูเครนได้ แต่การลงนามไม่เกิดขึ้นตามที่วางแผนไว้ หลังผู้นำทั้งสองปะทะคารมกันอย่างดุเดือดที่ทำเนียบขาว (อินโฟเควสท์)
"เนทันยาฮู" ขู่ยึดฉนวนกาซา หากฮามาสไม่ปล่อยตัวประกัน นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวว่า อิสราเอลจะเข้ายึดครองดินแดนในฉนวนกาซา หากฮามาสยังคงไม่ปล่อยตัวประกันที่เหลือ "ตราบใดที่ฮามาสยังคงปฏิเสธที่จะปล่อยตัวประกันของเรา เราก็จะเพิ่มแรงกดดันให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการเข้ายึดครองดินแดน และมาตรการอื่น ๆ ที่ผมจะยังไม่เปิดเผย ณ ที่นี้" นายเนทันยาฮูกล่าวต่อรัฐสภาอิสราเอล ด้านนายอิสราเอล แคตส์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล กล่าวในคลิปวิดีโอต่อชาวปาเลสไตน์ว่า "ฮามาสกำลังทำให้ชีวิตของพวกคุณตกอยู่ในอันตราย และจะทำให้พวกคุณสูญเสียบ้านและดินแดนมากขึ้น โดยกองทัพอิสราเอลจะทำการโจมตีอย่างรุนแรงในฉนวนกาซา ซึ่งพวกคุณจะต้องอพยพออกจากเขตสงครามเพื่อความปลอดภัยของพวกคุณเอง" นอกจากนี้ นายแคตส์กล่าวว่า ขณะนี้อิสราเอลได้เตรียมแผนการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินต่อฉนวนกาซา และแผนดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว ซึ่งวิธีเดียวในการยุติสงครามคือการกำจัดกลุ่มฮามาสออกจากฉนวนกาซา และการปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยทันที (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex ร่วงกว่า 700 จุด ขายทำกำไร หลังบวก 7 วันติด ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียร่วงลงกว่า 700 จุด ขณะที่นักลงทุนพากันขายทำกำไร หลังดัชนีปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 7 วันทำการ ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 77,288.50 ลบ 728.69 จุด หรือ 0.93% (อินโฟเควสท์)
ไทย
*มติท่วมท้น! โหวตไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ 319 ต่อ 162 งดออกเสียง 7 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยคะแนนไว้วางใจ 319 เสียง ไม่ไว้วางใจ 162 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุมออกเสียงไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ด้วยคะแนน 162 ถือว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) เผย สส.ของพรรคฯ ทั้ง 10 คนจะยกมือให้นายกรัฐมนตรีทั้งหมด แต่มีนายอนุรักษ์ จุรีมาศ สส.ร้อยเอ็ด ที่กำลังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เข้ารับการผ่าตัดอาการติดเชื้อในปอด ทำให้ไม่สามารถมาลงคะแนนได้ ส่วนที่เหลือมั่นใจไปในทิศทางเดียวกัน และมั่นใจทุกพรรคไปในทิศทางเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งได้ร่วมชี้แจงทุกประเด็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ร่วมกระบวนการตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของประเทศ ทุกคะแนนเสียง ทั้งสนับสนุน และเสียงไม่ไว้วางใจ จะเป็นพลังให้ดิฉัน และคณะรัฐมนตรี มุ่งมั่นทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนต่อไป" (อินโฟเควสท์)
"พิพัฒน์" ตั้งเป้าขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บ.เพิ่มเป็นของขวัญวันแรงงาน ยันประกันสังคมไม่ล้มละลาย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติวานนี้ (26 มี.ค.) ถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ว่า ขณะนี้ได้มีการปรับขึ้นไปแล้วใน 5 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และเกาะสมุย โดยเตรียมขยายทั่วประเทศเพื่อเป็นของขวัญวันแรงงาน และมีแผนช่วยเหลือนายจ้างควบคู่ผ่านมาตรการภาษีร่วมกับกระทรวงการคลัง นายพิพัฒน์ ระบุว่า การพิจารณาต้องใช้ข้อมูลรอบด้านและรอบคอบ เพราะมีผลต่อทั้งแรงงาน และนายจ้าง โดยเฉพาะภาค SME ที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย การขึ้นค่าแรงไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือการสร้างสมดุลระหว่างความอยู่ได้ของแรงงาน และความอยู่รอดของผู้ประกอบการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างยั่งยืน ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างไม่ถูกต้อง โดยข้อมูลระบุว่ามีแรงงานจีนในระบบ 50,069 ราย และในพื้นที่ EEC มากกว่า 32,000 ราย ที่ลงทะเบียนมีใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้สั่งเดินหน้ามาตรการเข้ม ทั้งการตรวจจับแรงงานผิดกฎหมาย (เจอ จับ ปรับ ผลักดัน) และตั้งชุดเฉพาะกิจ "ไตรเทพพิทักษ์" โดยดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนไปแล้วจำนวนมาก เบื้องต้นดังนี้ คุมเข้ม, จัดการนอมินี, ตรวจลึกในพื้นที่ EEC, ทบทวนโควตาต่างด้าวในบางอาชีพ, ส่งเสริมการจ้างงานแรงงานไทยแทน (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดบวก 5.43 จุดตามตลาดตปท.คาดหวังเฟดลดดอกเบี้ยมากขึ้น-แรงหนุน DELTA จับตาครม.พรุ่งนี้ SET ปิดวันนี้ที่ 1,190.36 จุด เพิ่มขึ้น 5.43 จุด (+0.46%) มูลค่าซื้อขาย 26,606.65 ล้านบาท นักวิเคราะห์เผยตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวแคบ ๆ ในแดนบวก วอลุ่มเทรดเบาบาง เพราะรอความชัดเจนนโยบายภาษีของสหรัฐที่จะประกาศในวันที่ 2 เม.ย. โดยตลาดรับแรงหนุนหุ้น DELTA , HMPRO กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มโรงไฟฟ้า ตามตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐที่คาดการณ์เฟดลดดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3 ครั้งในปีนี้ หลังตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาด แนวโน้มพรุ่งนี้แกว่งไซด์เวย์อัพ เกาะติดประชุมครม.เคาะเงินหมื่นเฟส 3 โครงการเอนเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ โครงการเที่ยวคนละครึ่ง พร้อมให้แนวรับ 1,181, 1,187 จุด แนวต้าน 1,200 จุด SET ปิดวันนี้ที่ 1,190.36 จุด เพิ่มขึ้น 5.43 จุด (+0.46%) มูลค่าซื้อขาย 26,606.65 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดวัน โดยทำจุดต่ำสุด 1,186.41 จุด และทำจุดสูงสุด 1,194.65 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 231 หลักทรัพย์ ลดลง 216 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 217 หลักทรัพย์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 90,934 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 90,934 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 7,464 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 654 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 5,306 ล้านบาท Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.84% ปรับตัวลดลงจากเมื่อวาน -0.01% ภาพรวมของตลาดในวันนี้ Yield Curve ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าเล็กน้อย ด้านผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลในวันนี้รุ่น LB29NA อายุ 5 ปี วงเงิน 25,000 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนของผลประมูลอยู่ที่ 1.814% ต่ำกว่า Yield ตลาดของวันก่อนหน้า 2 bps. โดยมีผู้สนใจยื่นประมูลสูงถึง 3.11 เท่าของวงเงิน และรุ่น LB556A อายุ 30 ปี วงเงิน 9,000 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนของผลประมูลอยู่ที่ 2.7354% สูงกว่า Yield ตลาดของวันก่อนหน้า 1 bps. โดยมีผู้สนใจยื่นประมูลสูงถึง 3.14 เท่าของวงเงิน สำหรับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ NET OUTFLOW 5,306 ล้านบาท โดยเกิดจาก NET SELL 5,306 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) ด้านปัจจัยต่างประเทศ คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แถลงว่าจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเริ่มผลักดันให้ราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ สูงขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า BOJ พร้อมจะค่อย ๆ ถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.98 ระหว่างวันลงแตะ 34.00 ตลาดไร้ปัจจัยใหม่ คาดกรอบพรุ่งนี้ 33.80-34.10 นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 33.98 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 33.82 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.83-34.01 บาท/ดอลลาร์ โดยอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 34 บาท/ดอลลาร์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นผลจากปัจจัยไหนเป็นสำคัญ ขณะที่สกุลเงินอื่นในภูมิภาควันนี้ มีทั้งแข็งค่า-อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่วันนี้สภาผู้แทนราษฎร ลงมติด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 319:162 เสียง ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้น มีผลที่จำกัดต่อค่าเงิน เนื่องจากตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว "เงินบาทลงไปแตะระดับ 34 บาทอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นเพราะปัจจัยสำคัญอะไร เป็นไปไปตาม flow ในระหว่างวันเท่านั้น ส่วนการลงมติไว้วางใจนายกฯ วันนี้ ค่อนข้างมีผลจำกัดต่อค่าเงิน เพราะเป็นไปตามที่ตลาดคาด" นักบริหารเงิน ระบุ สำหรับคืนนี้ ฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ตลาดยังคงติดตามอัพเดทข้อมูลนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ในระหว่างนี้ ก่อนที่จะออกประกาศในวันที่ 2 เม.ย.68 ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.10 บาท/ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สหรัฐฯ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 สหรัฐฯ
ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนก.พ. สหรัฐฯ